ไฮบริดคลาวด์
ไมโครซอฟท์ประกาศผลสำรวจผู้บริหารฝ่ายไอทีทั่วเอเชียแปซิฟิกรวม 1,200 คน ใน 12 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งเผยแนวทางการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การพลิกโฉมธุรกิจในโลกดิจิทัล พบว่าผู้บริหารกว่า 48% ในภูมิภาคดังกล่าวเลือกที่จะใช้งานระบบ ไฮบริดคลาวด์ ในอนาคตอันใกล้นี้

ช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ถือเป็นเวลาสำคัญสำหรับผู้บริหารฝ่ายไอทีที่กำลังเดินหน้าตามแผนการองค์กรด้วยโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ทันสมัยและมีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยีคลาวด์ ดังจะเห็นได้จากผลการวิจัยของ IDC ที่ระบุว่าภายในช่วงปลายปี 2560 กว่า 60% ขององค์กรธุรกิจชั้นนำ 1,000 รายทั่วเอเชียแปซิฟิกจะมีกลยุทธ์เพื่อการพลิกโฉมธุรกิจสู่โลกดิจิทัลเป็นหัวใจหลักขององค์กร

ทุกวันนี้ ผู้บริหารฝ่ายไอทีต่างต้องพยายามหาความสมดุลระหว่างการบริหารระบบไอทีแบบเก่า การจัดการงบประมาณ และการปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมรับโลกยุคดิจิทัล ผลสำรวจของไมโครซอฟท์ระบุว่าราว 34% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจในประเทศไทยได้เริ่มต้นเดินหน้าวางระบบไฮบริดคลาวด์แล้ว

โดยคาดว่าจำนวนองค์กรที่เลือกใช้เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ในปัจจุบัน องค์กรราว 52% ยังใช้ระบบคลาวด์แบบส่วนตัว และอีก 14% ใช้คลาวด์แบบสาธารณะ ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่องค์กรต่าง ๆ จะเลือกลงทุนในโซลูชันไฮบริดคลาวด์ แทนที่จะเลือกใช้คลาวด์ส่วนตัวหรือคลาวด์สาธารณะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อมูสำคัญจากการสำรวจ

ผู้บริหารฝ่ายไอทีในยุคนี้ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่พวกเขาต่างมองหาความเรียบง่ายและยังคงต้องจัดการกับระบบไอทีแบบเดิมขององค์กร เพื่อให้แอพพลิเคชันที่มีอยู่ยังคงใช้งานได้ และรักษาระบบงานขององค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐานต่าง ๆ

ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีคลาวด์กำลังทำให้ความนิยมในการใช้แอพพลิเคชันคลาวด์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วพบว่าแต่ละองค์กรในประเทศไทยมีการใช้แอพพลิเคชันมากกว่า 409 แอพพลิเคชัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ 340 แอพพลิเคชัน จึงทำให้ผู้บริหารต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการแอพพลิเคชันทั้งหมดนี้

ผู้บริหารฝ่ายไอทีต้องแบ่งเวลาไปทำงานหลายด้าน โดยใช้เวลาราว 50% ไปกับการบำรุงรักษาระบบ การรักษาระบบงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการทำงานแบบวันต่อวันทั่วไป จึงทำให้มีเวลาสำหรับการยกระดับศักยภาพเชิงดิจิทัลขององค์กรเพียง 27% และได้ทำงานกับผู้บริหารเพื่อเตรียมความพร้อมธุรกิจในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลเพียง 23% เท่านั้น

สำหรับกลยุทธ์การพลิกโฉมธุรกิจสู่โลกดิจิทัลนั้น องค์กรไทยที่เข้าร่วมการสำรวจนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าการเข้าหาหรือติดต่อสื่อสารกับลูกค้า การพัฒนาศักยภาพพนักงาน หรือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ และผู้บริหารฝ่ายไอทีในไทยมีความกังวลในประเด็นทักษะด้านไอทีของพนักงานในองค์กร

ไฮบริดคลาวด์

โดยระบุว่าทักษะที่จำเป็นที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ด้านความปลอดภัย (59%) การจัดการแอพพลิเคชันคลาวด์ (49%) และการวิเคราะห์ข้อมูล (44%) เห็นได้ชัดว่าความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญ เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับภัยร้ายที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริหารไทยได้สูงสุด ได้แก่ 1. มัลแวร์และการโจรกรรมข้อมูลจากอาชญากรทางไซเบอร์ 2. การโจรกรรมข้อมูลโดยพนักงาน 3. พนักงานเชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนตัวกับเครือข่ายขององค์กร

พลิกโฉมระบบไอทีด้วยเทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์

เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์คือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบริษัทที่ต้องการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ โดยที่ยังรักษาระบบเดิมที่มีอยู่ไว้ด้วย โดยจากกลุ่มผู้บริหารฝ่ายไอทีราว 50% ที่เลือกพัฒนาระบบไฮบริดคลาวด์ให้กับองค์กรของตนเป็นอันดับแรก พบว่า 8 จาก 10 คนจะมุ่งเน้นการพัฒนาไฮบริดคลาวด์ที่ทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียว โดยใช้เครื่องมือเพียงชุดเดียวในการบริหารจัดการคลาวด์ทุกส่วน

ซึ่งการมาของเทคโนโลยี Hybrid Cloud จะทำให้การจัดสรรทรัพยากรทางด้านไอทีของภาคธุรกิจในไทยเปลี่ยนแปลงไป จากเมื่อก่อนที่แยกระหว่าง Private Cloud กับ Public Cloud ชัดเจนมาก แต่เมื่อระบบคลาวด์มีความเก่งมากขึ้น ก็สามารถจัดการทรัพยากรได้แบบผสมผสาน เลือกการใช้งานอย่างถูกต้องเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ

ที่ผ่านมา ผู้ใช้งานจำนวนมากเผชิญกับปัญหาการตัดสินใจเลือกใช้งานระบบคลาวด์ ระหว่างระบบสาธารณะและระบบส่วนตัว ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต้องตัดสินใจเลือกใช้บริการเพียงระบบใดระบบหนึ่ง เนื่องจากคลาวด์สาธารณะและส่วนตัวมีการตั้งค่าที่แตกต่างกันอย่างมาก และไม่สามารถจัดการปริมาณงานที่มากและสลับสับเปลี่ยนการทำงานระหว่างคลาวด์แบบส่วนตัวและสาธารณะได้อย่างราบรื่น

ความต่อเนื่องหรือการก้าวข้ามจากแบบ On-Premise ไปยัง On-Cloud (หรือในทางตรงกันข้าม) จำเป็นต้องใช้รหัสที่แตกต่างกัน รูปแบบระบบความปลอดภัย การปรับแต่งค่าเครือข่าย การทดสอบ และเครื่องมืออัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความยุ่งยากมากมาย

โชคดีที่เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนไปใช้งานระบบคลาวด์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกเพียงระบบเดียวอีกต่อไป ไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud) หรือ คลาวด์ลูกผสม จะช่วยให้บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบของทั้งสองระบบ และมอบทางเลือกเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ แก่องค์กรได้ โดยมอบโครงสร้างพื้นฐานแบบเดียวกัน รูปแบบระบบรักษาความปลอดภัย และชุดเครื่องมือการทำงานที่สอดคล้องกัน และที่สำคัญที่สุดคือการเลือกใช้งานระบบทำงานหว่าง On-Premise หรือ On-Cloud

ประโยชน์หลักของการใช้งานไฮบริดคลาวด์จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้แอพพลิเคชันต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และลดภาระงานในกระบวนการจัดการได้ดีขึ้น โดยขึ้นอยู่กับความต้องการทางธุรกิจ และตัวแปรอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย วิธีผสมผสานเช่นนี้หมายความว่าธุรกิจทั้งหลายจะสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเชิงปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การใช้งานคลาวด์สาธารณะเพื่อพัฒนาและทดสอบแอพพลิเคชันใหม่ได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของไมโครซอฟท์กลับเผยว่าผู้บริหารฝ่ายไอทีในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองแบบเดิม ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ โดยถึงแม้ว่ากว่า 89% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจจะระบุว่าตนเองมีความพร้อมในการย้ายแอพพลิเคชันเชิงธุรกิจขององค์กรขึ้นสู่ระบบคลาวด์สาธารณะในอนาคต แต่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริหารกลุ่มนี้กลับระบุว่าแอพพลิเคชันเหล่านี้จะจำกัดอยู่เพียงแค่แอพพลิเคชันพื้นฐานอย่างอีเมลหรือเว็บไซต์บริษัทเท่านั้น โดยมีเพียง 29% ที่ใช้คลาวด์รองรับการพัฒนาแอพพลิเคชันและการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้นผู้บริหารด้านไอทีจะต้องมุ่งยกระดับศักยภาพใน 4 ด้านหลัก ๆ เพื่อก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างมั่นใจ ประการแรกคือการเลือกใช้งานเครื่องมือบริหารระบบที่สามารถรับมือความต้องการด้านความปลอดภัยและความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น

ประการที่สองควบคุมโครงสร้างพื้นฐานระบบขององค์กรด้วยซอฟต์แวร์ที่รองรับทั้งคลาวด์สาธารณะและคลาวด์แบบส่วนตัวจากผู้ให้บริการต่างแบรนด์กัน ส่วนประการที่สามคือการถ่ายโอนระบบสู่โครงสร้างแบบไฮบริดคลาวด์ที่ให้ประโยชน์กับองค์กรได้สูงสุด และประการสุดท้าย คือการใช้คลาวด์ทำงานที่ซับซ้อน เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว และปูทางไปสู่การใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ผู้บริหารฝ่ายไอทีต้องเริ่มวางแผนเพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่โลกดิจิทัลตั้งแต่วันนี้ โดยมีไฮบริดคลาวด์ เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถรองรับการขยายตัวและการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าที่เคย โดยไม่ส่งผลกระทบกับการควบคุมหรือความปลอดภัยในทุกด้าน

ติดตามบทความที่น่าสนใจ อื่น ๆ ได้ที่ Theeleader.com