ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะเก็บภาพสถานที่ที่เราไปมาหรืออาหารที่เรารับประทาน เก็บบันทึกเอกสารต่างๆ หรือส่งเอกสารการประชุมให้เพื่อนร่วมงาน เราก็มักเคยชินกับการใส่ข้อมูลเหล่านี้ไว้ในคลาวด์เพื่อเก็บไว้ให้ปลอดภัยจนกว่าจะต้องใช้หรือบางครั้งก็เก็บจนลืมไปเลยเสียด้วย ลักษณะการใช้งานเช่นนี้ทำให้ข้อมูลเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล และจำเป็นต้องมีสิ่งที่มาใช้เก็บข้อมูลเหล่านี้

แม้ “คลาวด์” จะฟังดูห่างไกลและจับต้องไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้ว คลาวด์ คือ แผงฮาร์ดดิสก์จำนวนมหาศาลที่อยู่ในศูนย์ข้อมูลต่างๆ ภายในมีจานแม่เหล็กที่ทำหน้าที่เสมือนสมุดที่ใช้บันทึกข้อมูล และเข็มอ่านแม่เหล็กที่ทำหน้าที่เสมือนปากกา

ฮาร์ดดิสก์ในศูนย์ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า เนียร์ไลน์ (nearline) เป็นคำผสมระหว่าง เนียร์ (near) ที่หมายถึง เกือบ และ ออนไลน์ (online) รวมกันหมายถึง เกือบออนไลน์ ดังนั้น ฮาร์ดดิกส์ประเภทนี้จึงเป็นกึ่งแหล่งเก็บข้อมูลออนไลน์ที่รองรับการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วซ้ำๆ และกึ่งแหล่งเก็บข้อมูลออฟไลน์ที่ใช้เพื่อสำรองข้อมูลหรือบันทึกข้อมูลที่ไม่ต้องเรียกใช้บ่อยนักในระยะยาว

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด การประกาศเปิดตัวฮาร์ดดิสก์ชนิดบรรจุจานแม่เหล็ก 9 แผ่นขนาด 14 เทระไบต์ ของ โตชิบา อิเล็กทรอนิกส์ ดีไวซิส แอนด์ สตอเรจ คอร์ปอเรชั่น เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 จึงเป็นที่ฮือฮาของทั้งวงการอุปกรณ์บันทึกข้อมูล

ฮาร์ดดิสก์ดังกล่าวเป็นฮาร์ดดิสก์ประเภท Enterprise ที่ใช้ระบบบันทึกข้อมูลแบบ Conventional Magnetic Recording (CMR) รายแรกในโลก ที่เพิ่มขีดความจุได้จนถึง 14 เทระไบต์ นอกจากนั้น ยังเป็นฮาร์ดดิสก์แรกในโลกที่มีบรรจุจานแม่เหล็กรวมถึง 9 แผ่น เพิ่มขึ้นมาอีก 1 แผ่นจากที่เคยมีผู้ผลิตได้สำเร็จแล้ว อีกทั้งภายในยังบรรจุฮีเลียมแทนอากาศอีกด้วย

อันที่จริงแล้ว กุญแจสำคัญของนวัตกรรมนี้คือฮีเลียมที่บรรจุอยู่ภายใน ฮีเลียมเป็นแก๊สที่เบาที่สุดเป็นอันดับสอง ช่วยลดแรงต้านทาน เพิ่มสมรรถนะและมีส่วนเพิ่มความจุของฮาร์ดดิสก์ ส่งผลให้ฮาร์ดดิสก์ใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับรุ่นที่ผ่านๆ มา แม้ฮาร์ดดิสก์นี้จะอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมดที่กล่าวมา แต่ก็ยังคงเวลาเฉลี่ยก่อนเสียหายไว้ได้ที่ 2.5 ล้านชั่วโมง

เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ กับมาซาฟูมิ ฟูจิโมริ หน่วยการขายและการตลาดฮาร์ดดิสก์ และ คุณซาโตะ ทาคุมิ แผนกวิศวกรรมผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ บริษัท โตชิบา อิเล็กทรอนิกส์ ดีไวซิส แอนด์ สตอเรจ คอร์ปอเรชั่น และพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์รุ่นใหม่ล่าสุดและนวัตกรรมสุดล้ำในฮาร์ดดิสก์นี้

คำถาม:     จุดเด่นของฮาร์ดดิสก์ขนาด 14 เทระไบต์คืออะไร
คุณฟูจิโมริ:     ฮาร์ดดิสก์นี้มีจุดเด่นสองประการที่ทุกคนต่างให้ความสนใจ ประการแรกคือเป็นฮาร์ดดิสก์ CMR รุ่นแรกในโลกที่มีจานแม่เหล็ก 9 แผ่น และมีหน่วยความจำถึง 14 เทระไบต์ ประการที่สองคือเป็นฮาร์ดดิสก์ของโตชิบารุ่นแรกที่บรรจุฮีเลียมภายในแทนอากาศ

ฮาร์ดดิสก์ชนิดบรรจุจานแม่เหล็ก 6 แผ่น ออกแบบมาให้ประหยัดพื้นที่บรรจุอุปกรณ์

คำถาม:     การบรรจุจานแม่เหล็ก 9 แผ่นลงในฮาร์ดดิสก์ถือเป็นนวัตกรรมไหม
ซาโตะ:     นับเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งนวัตกรรมนี้ช่วยเพิ่มหน่วยความจำได้อย่างมาก ก่อนหน้านี้ ฮาร์ดดิสก์ของเราที่มีหน่วยความจำมากที่สุดรุ่น 10 เทระไบต์ที่บรรจุจานแม่เหล็ก 7 แผ่น ที่ผ่านมา จำนวนจานแม่เหล็กที่บริษัทอื่นบรรจุลงในฮาร์ดดิสก์ได้มากสุดคือ 8 แผ่น หากต้องการใส่ให้ได้ 9 แผ่นในตัวเครื่องเดิม ก็จำเป็นต้องลดขนาดชิ้นส่วนบางชิ้นหรือทำให้ชิ้นส่วนมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันให้มากที่สุด

คำถาม:     การเติมฮีเลียมคืออะไรกันแน่
ซาโตะ:     ก่อนหน้านี้ ฮาร์ดดิสก์ของเราบรรจุอากาศ แต่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 14 เทระไบต์รุ่นใหม่นี้บรรจุแก๊สฮีเลียมแทน ซึ่งมีความหนาแน่นเพียงหนึ่งในเจ็ดของอากาศ

คำถาม:     การบรรจุฮีเลียมได้ประโยชน์อย่างไร
ซาโตะ:     มีประโยชน์หลายประการครับ ประการแรกคือ ฮีเลียมมีความต้านทานต่ำกว่าอากาศ ช่วยลดแรงเสียดสีน้อยลงและทำให้จานแม่เหล็กสั่นสะเทือนน้อยลง ส่งผลให้จานแม่เหล็กหมุนสม่ำเสมอกันมากขึ้น ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงาน ฮาร์ดดิสก์รุ่น 14 เทระไบต์นี้ใช้พลังงานน้อยกว่ารุ่น 10 เทระไบต์ถึง 3 วัตต์ แม้จะบรรจุจานแม่เหล็กมากกว่าถึง 2 แผ่น ยิ่งไปกว่านั้น เข็มอ่านยังระบุตำแหน่งแม่นยำยิ่งขึ้นในขณะที่เสียงฮาร์ดดิสก์เบาลงอีกด้วย