Eleader May 2015

V_ Allience

ธีรยุทธ หงษ์คณานุเคราะห์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อัลไลด์ เทเลซิส (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันเชื่อว่าคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า Digital Economy และคงไม่ปฏิเสธว่าประเทศไทยต้องการผลักดันจากภาครัฐในการนำ Digital Economy ให้เกิดขึ้น แต่ผมว่าโดยส่วนใหญ่น่าจะมีคำถามว่าจะนำไปช่วยอย่างไรได้บ้าง

จริงๆ แล้ว Digital Economy สามารถนำไปใช้การพัฒนาประเทศได้หลากหลาย ทั้งการเข้าถึงบริการภาครัฐ ด้านเกษตรกรรม ด้านการท่องเที่ยว ด้านการบริการรักษาพยาบาล โลจิสติกส์ ในที่นี้ขอนำเสนอความเห็นการนำไปใช้ในสองส่วนที่มีผลต่อประเทศไทยโดยตรง คือการนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม และการนำไปใช้ในการพัฒนาเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคม AEC กับประเทศอื่นในระดับอาเซียน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก แต่เราพบว่าผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมในประเทศกลับเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และได้รับผลกระทบเมื่อผลผลิตออกมามากกว่าปกติ หรือเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่ผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะไปถึงปลายทาง หากมีการนำ Digital Economy มาช่วยในการเก็บข้อมูล ลงทะเบียนเกษตรกร พื้นที่การเพาะปลูก และการพยากรณ์อากาศในฤดูการผลิต เพื่อประเมินผลผลิตในแต่ละปี รวมไปถึงประมาณการณ์ของการผลิตจากประเทศอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรเองได้วางแผนล่วงหน้าในการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสม

ในขณะที่ภาครัฐได้วางแผนที่เหมาะสมล่วงหน้าในการหาช่องทางการตลาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้นำไปใช้ในตลาดผลผลิตล่วงหน้าอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพโดยกลุ่มคนที่หลายหลายมากขึ้น หรือไปจนถึงการพัฒนาช่องทางการผลิตในรูปแบบใหม่ที่จะลดขั้นตอนของการส่งผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคโดยการร่วมกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของสหกรณ์ โดยรวมๆ แล้วก็จะส่งผลให้มีการกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

อีกด้านหนึ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคม AEC จะทำให้เกิดการไหลเวียนของแรงงานมีฝีมือระหว่างประเทศมากขึ้น เราควรจะคำนึงถึงการแข่งขันพัฒนาให้เมืองหลักของประเทศไทย สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ปัจจุบันจะมีการพูดถึง Smart City ซึ่งเป็นการนำ Digital Economy มาใช้ในระดับเมือง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการจราจรให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับเลือกเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสม เพื่อเลี่ยงปัญหาการจราจร ความสะดวกในการเดินทางโดยใช้ตั๋วใบเดียวสำหรับทางรถไฟ เรือ รถเมล์ ความปลอดภัยด้วยระบบกล้องวงจรปิดในสถานที่สำคัญต่างๆ ที่มีการติดตั้งและใช้อย่างจริงจัง และเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการร้องขออย่างถูกต้อง

สมาร์ตกริดสำหรับระบบไฟฟ้าเพื่อความมั่นใจในการดำเนินการธุรกิจ และธุรกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ระบบการจัดการสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการระบายน้ำในประเทศไทยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำๆ เรื่องการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง และที่ลืมไม่ได้คือ การศึกษาซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับบุตรหลาน

จะเห็นได้ว่า Digital Economy ไม่ได้เกี่ยวกับเพียงเรื่องเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งของประเทศ แต่รวมถึงมาปรับใช้จะช่วยในการพัฒนาเรื่องของสังคม เพื่อให้คนเมืองและคนในต่างจังหวัดที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้าถึงข้อมูลที่เท่าเทียมกัน และการกระจายโอกาส

คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดการนำไปใช้อย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้บรอดแบนด์เข้าถึงทุกแห่งในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี นอกจากนี้ยังอยากเห็นการสนับสนุนภาครัฐ เรื่องกฎหมายความปลอดภัย เรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ การลดหย่อนภาษี สำหรับหน่วยงานที่นำไอทีไปใช้ ช่องทางในสนับสนุนเรื่องระดมทุน และที่สำคัญคือ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำไปใช้ด้านใดบ้าง และต้องการประสบความสำเร็จในระดับใด ภายในเวลาใด ซึ่งการจะทำเรื่อง Digital Economy ให้เกิดจริงคงไม่สามารถพึ่งพาภาครัฐได้เพียงอย่างเดียวแต่ต้องเป็นความร่วมมือของเอกชนด้วยเช่นเดียวกัน