Eleader May 2015

V_AIS_คุณสมชัย

สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ทุกฝ่ายคือ ภาครัฐ เอกชน ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมและต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้ มองว่าสิ่งนี้เป็นโอกาส โดยดิจิทัลและอีโคโนมีนั้น คือการนำเรื่องของการบริโภคและการผลิตมาบรรจบกันแบบ Digital ไม่ใช่กายภาพ ( Physical) การซื้อขายแบบอีคอมเมิร์ซจะช่วยให้เข้าถึงได้ง่าย และให้ข้อมูลสินค้าได้ละเอียดขึ้น ยิ่งเพิ่มความต้องการซื้อให้มากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างมาก

ทั้งนี้ภาครัฐต้องมี E-Government มาเป็นตัวช่วยในการให้บริการแบบดิจิทัลเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติ จนเกิดกลไกการเก็บข้อมูล โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกภาคธุรกิจนำไปใช้ในการพัฒนาบริการใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของประชาชน เพื่อกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอย การเตรียมวางรากฐานเศรษฐกิจไทยสู่ “ดิจิทัล อีโคโนมี” ที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที มีความสำคัญ เชื่อมโยงกับทุกหน่วยงาน ในการใช้ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ที่เวลานี้มีการขยายตัวมากขึ้น และต่างชาติให้ความสนใจ

AIS ในฐานะที่เป็นหนึ่งองค์กรจากหลากหลายธุรกิจในแวดวงนี้ น่าจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการ หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ โอกาสการพัฒนาการเติบโต การก้าวเดินของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ย่อมพัฒนา เติบโตทัดเทียมนานาประเทศ โดยภาพรวมแล้วดิจิทัล อีโคโนมีจะเกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชนในการลดต้นทุน ความรวดเร็ว และประหยัดเวลา

สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันในตลาดโลก ที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว แม่นยำ มีต้นทุนบริหารจัดการต่ำและมีประสิทธิภาพ และในอีกมุมมองหนึ่งคือ ดิจิทัล อีโคโนมี เป็นเศรษฐกิจธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลขับเคลื่อน เช่น ใช้อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ไลน์ ออกมาในเชิงธุรกิจ หรือในระบบค้าขายของภาคเอกชนในขณะนี้ ก็มีการซื้อ-ขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว เพียงแต่ทั้งไทยและต่างประเทศยังไม่สามารถยกระดับได้ถึงการเก็บภาษีสินค้าบริการด้วยระบบดิจิทัลได้

สำหรับเอไอเอสเองกำลัง Transform บทบาทจาก Telecom Service Provider หรือ ผู้ให้บริการระบบสื่อสารไร้สาย ไปสู่การเป็น Digital Life Service Provider อย่างเต็มรูปแบบเพื่อคนไทย เพราะโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นสื่อกลางในการอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ เช่น การใช้ Social Network ที่กลายเป็นช่องทางสามัญ ทั้งเรื่องงาน ส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ บอกต่อ ขอความช่วยเหลือ ขายของ ร้องเรียน ครบทุกอย่าง เหล่านี้จะเห็นว่า ได้กลายเป็นวิถีของคนในยุคปัจจุบันชนิดที่ไม่ได้แปลกแยกอีกต่อไป

ซึ่งโครงข่ายของระบบสื่อสารโทรคมนาคมวันนี้ได้กลายเป็น 1 ในโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ เช่นเดียวกับ ถนน หรือ รถไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักที่ผู้ให้บริการทุกรายจะต้องพัฒนา ยกระดับ และรักษามาตรฐานของคุณภาพโครงข่ายให้ดีที่สุดและทันสมัยตลอดเวลา เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของคนไทยในทุกด้านแล้ว สิ่งที่เราในฐานะผู้ประกอบการมองมากกว่านั้นก็คือ การสร้างความแตกต่างจากบริการบนโครงสร้างหลักที่จะต้องมอบประโยชน์อย่างแท้จริง และตรงใจผู้บริโภคในยุค Digital Life ได้อย่างชัดเจนด้วย

“แผนงานของ AIS คือทำให้บริษัทก้าวไปสู่ความเป็น Digital Life Service Provider เต็มรูปแบบได้ จึงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.New Foundation ที่ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องใน 3 ส่วน คือ โครงข่าย Mobile อย่าง 4G ที่กำลังรอการประมูล, โครงข่าย Fixed Broadband ที่ตอบโจทย์การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงบริการดิจิทัลต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในด้านต่างๆ ซึ่งการที่ประเทศมีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ดี มีคุณภาพและครอบคลุมทั่วประเทศ จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็น Digital Economy” ซีอีโอ เอไอเอส กล่าวย้ำ