Eleader May 2015

V_ASOCIO_ดร.มนู

ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานกรรมการสมาพันธ์อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ภาคพื้นเอเชีย โอเซียเนีย (ASOCIO) กล่าวว่า Digital Economy ไม่ใช่เรื่องการใช้ไอซีทีเพื่อปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น แต่เป็นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการ รวมทั้งนวัตกรรมด้านรูปแบบธุรกิจใหม่ และนวัตกรรมด้านกระบวนการดำเนินงาน

ดังนั้น Digital Economy จึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม และการที่รัฐบาลไทยจะก้าวขึ้นไปสู่รัฐบาลดิจิทัลนั้น ต้องสร้างโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้าถึงบริการของภาครัฐได้มากขึ้น ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาเชื่อมโยงถึงกันทุกหน่วยงานของภาครัฐ (System of Integration ) ไม่ใช่การนำไอซีทีมาเพื่อปรับปรุงระบบงานเท่านั้น

ขณะนี้รัฐบาลต้องปฏิรูปวิธีการบริหารงานราชการ ทุกอย่างจะต้องถูกขับเคลื่อนโดยประชาชน หากประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จะต้องเริ่มต้นด้วยการดำเนินงาน ต้องมีการปรับแก้กฎหมาย ต้องรับฟังมากขึ้น เพราะการแข่งขันในระดับประเทศมีมากขึ้น รัฐลบาลดิจิทัลต้องตอบโจทย์ประชาชนบริการได้ และต้องโปร่งใส มีการนำข้อมูลของประชาชนมาใช้อย่างตรงไปตรงมา มีความรับผิดชอบ พร้อมกับให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนต้องเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ดี มีความรวดเร็วในการตอบสนองประชาชน

“สถานการณ์ปัจจุบันคือ เราขาดความเป็นผู้นำสู่การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ การจะเป็น Digital Government ต้องปรับกระบวนการทางความคิดใหม่ และต้องนำสถาปัตยกรรมขององค์กรในยุคใหม่ หรือ Enterprise Architecture ด้วยการบูรณาการระบบไอทีให้เข้ากับนโยบายแผนแม่บท หรือกลยุทธ์ควบคู่กันเพื่อให้บริการ และหน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ดร.มนู กล่าวอีกว่า วิธีการวางยุทธศาสตร์เพื่อไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลนั้น รัฐบาลต้องตระหนักให้มาก ควรจะเตรียมตัวด้วยการทบทวนตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ควรจัดทำไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยมั่นคงของประชาชนทุกคน แม้ว่าขณะนี้จะขาดผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องเร่งสร้างให้มีผู้นำให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ต้องมีแผนหรือผังเมืองของแต่ละกระทรวงในการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ และต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีความทันสมัยในทุกด้าน เพื่อที่นำไปสู่การเป็น Digital Government