ไม่ใช่แค่เพียงผลกระทบกับธนาคารและสถาบันการเงินเท่านั้น แต่วันนี้ FinTech (ฟินเทค) ยังมีผลกระทบกับภาคธุรกิจ และทิศทางของประเทศที่กำลังจะผลักดันสู่ Digital Economy หลายธนาคารให้ความสำคัญกับฟินเทค ในฐานะโอกาสและนวัตกรรมใหม่ ๆ ของสถาบันการเงิน ขณะที่ผู้ให้บริการมือถือ มองฟินเทคเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน

FinTech Startup อาจจะให้ความรู้สึกถึงการเป็นบริษัทเกิดใหม่สำหรับใครหลายคน แต่แท้ที่จริงแล้ว FinTech Startup ครอบคลุมมากกว่านั้น จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดย Tech Source พบว่า ปัจจุบันมี FinTech Startup มากกว่า 46 รายที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากผู้ลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือที่เรียกว่า Unicorns และมีอีกกว่า 37 รายที่ได้รับเงินลงทุนในระดับ 500-800 ล้านดอลลาร์ ที่เรียกว่า Semi-Unicorns ซึ่งทั้ง 83 รายดังกล่าว ได้รับเงินลงทุนแล้วไม่น้อยกว่า 1.21 แสนล้านดอลลาร์

FinTech Startup จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของระบบการเงินโลก

ที่กำลังจะมีบทบาทในการพลิกโฉมภาคการเงินที่เคยรู้จักไปสู่รูปแบบใหม่ ที่ดีกว่า เร็วกว่า สะดวกกว่า ซึ่งในประเทศไทยนั้น กระแสการตื่นตัวในเรื่อง FinTech Startup ที่ก่อตัวเมื่อกลางปี 2015 ได้สร้างความตื่นตัวให้กับสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการหลัก ทั้ง AIS, DTAC และ TrueMove ที่ต่างกระโดดเข้าร่วมเป็น Incubator กับบริษัท Startup แทบทั้งสิ้น

สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกรบิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และ CIO ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานและบริการด้านไอที เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธนาคารท่ามกลางการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการเงินโลก โดยใช้งานเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบริการเพื่อสนับสนุนลูกค้าและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวของธนาคารกสิรกรไทยแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ก็เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่แพ้กันผ่านรูปแบบของการตั้งเวนเจอร์แคป เพื่อเข้าไปลงทุนในกิจการของ Startup ที่น่าสนใจ

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ดิจิทัล เวนเจอร์ส
ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำฟินเทคในต่างประเทศมาใช้ในเมืองไทย กับอีกส่วนคือการพัฒนาStartup ไทยให้เติบโตขึ้น ด้วยการให้โอกาสในการลองผิดลองถูกจากการใช้ระบบจำลองฐานลูกค้าของธนาคารมาให้ Startup ได้ทดลองรันโมเดล ถ้า Startup ไทยมีไอเดียดี ๆ ธนาคารก็จะได้ไอเดียไปด้วย

โดย 3 ส่วนธุรกิจหลักของดิจิทัล เวนเจอร์ส คือ 1. หน่วยงานทุนองค์กร (Corporate Venture Capital) ที่จะเน้นการเฟ้นหาบริษัทเพื่อลงทุน โดยเริ่มลงทุนในกองทุน “โกลเดนเกต เวนเจอร์ส” (Golden Gate Ventures) ที่เป็นกองทุนด้าน Startup 2. หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาให้บริการ 3. หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะ Startup เพื่อเป็นโรงเรียนบ่มเพาะผู้ประกอบการฟินเทคให้ทดลองใช้ระบบเสมือน โดยมีเงินลงทุนหลักประมาณ 2,100 ล้านบาท โดย 1,750 ล้านบาท
จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนที่ลงทุนด้านStartup และ 350 ล้านบาทจะลงทุนตรงกับ Startup ของไทย

ด้านธนาคารกรุงเทพก็มีมุมที่น่าสนใจ โดย ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เชื่อว่า เมื่อฟินเทค
เข้ามา การปรับตัวของธนาคารต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในรูปแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่างธนาคารและฟินเทคสิ่งสำคัญอยู่ที่ธนาคารจะเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร เราต้องใช้เวลาศึกษาด้านไอทีพอสมควรเพื่อให้รู้ว่าลงทุนไปแล้วจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้จริง และสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า แม้จะมีผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่ชนิด

อย่างไรก็ตาม ทวีลาภ เชื่อว่า ความเชื่อถือที่ลูกค้ามีต่อธนาคารจะทำให้ธนาคารมีความได้เปรียบในการเสนอบริการไปยังลูกค้า ขณะที่ฐานลูกค้าที่มากทำให้ธนาคารมีความได้เปรียบขณะที่ฟินเทคมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ธนาคารและฟินเทคม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นพันธมิตรกันมากกว่า

Fintech

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งก็เตรียมความพร้อมรองรับฟินเทคเช่นกันโดย ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ข้อมูลไว้ว่า การร่วมมือกันของธนาคารและฟินเทค อาจจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบแรกธนาคารร่วมทุนกับฟินเทคเข้ามาแก้ไขและตอบโจทย์ปัญหาภายในองค์กรที่มีอยู่ปัจจุบันและรูปแบบที่ 2 คือความร่วมมือที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า ดังนั้นฟินเทคไม่ใช่
คู่แข่งกับธนาคาร แต่จะเป็นผู้เข้ามาช่วยเหลือธนาคารตอบโจทย์หลาย ๆ อย่างที่ธนาคารไม่สามารถทำได้ในอดีต และสร้างประสิทธิภาพโดยรวมให้กับธนาคารและประชาชนได้

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวของธนาคารชั้นนำที่ล้วนแล้วแต่ขยับตัวตอบรับกับฟินเทคแล้วธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ตื่นตัวตอบรับคือ ธุรกิจสื่อสารที่นำโดยผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่อย่าง AIS, DTAC และ TrueMove

โดยในส่วนของ AIS นั้น ได้ริเริ่มโครงการ AIS TheStartUp เพื่อเปิดโอกาสให้นักคิด นักพัฒนา และผู้ประกอบการดิจิทัลหน้าใหม่เข้าร่วมเป็นดิจิทัลพาร์ตเนอร์ ในรูปแบบของกิจกรรมการประกวดนำเสนอผลงาน (Pitching) ต่อคณะกรรมการ เพื่อหาทีมชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,000 ไอเดีย และได้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เช่น StockRadars,Golfdigg, ShopSpot FlowAccount,Socialgiver และ Local Alike เป็นต้น

ปัจจุบันทั้งธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต่างตื่นตัวในการศึกษาและเข้าร่วมทุนกับ Startup จนเกิดเป็นโมเดลที่มีความ
ชัดเจนในการร่วมทุน บริษัทเหล่านี้ นอกจากการแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนแล้วยังเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนา Startup หน้าใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ มุมมองจากที่เป็นภัยคุกคามจึงเปลี่ยนเป็นพันธมิตรธุรกิจและเมื่อฟินเทคได้รับการผลักดันจาก
บริษัทชั้นนำก็ยิ่งทำให้โอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคดีขึ้นกว่าเดิม นั่นคือโอกาสประสบความสำเร็จที่มากขึ้นของฟินเทค.

สามารถติดตามฟินเทคเรื่องอื่น ๆ ได้ที่ ที่นี่