Fintech (ฟินเทค) เป็นนวัตกรรมและเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ที่เป็นได้ ทั้งโอกาสและภัยคุกคามของธนาคารและสถาบันการเงิน
หัวใจสำคัญของความเปลี่ยนแปลงอยู่ที่มุมมองของธนาคารในวันนี้ว่ามอง FinTech Startup อย่างไร “ภัยคุกคาม” หรือ “พันธมิตร” ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอนาคตของธนาคารหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

Fintech นวัตกรรมพลิกโลก

FinTech นวัตกรรมพลิกโลก 

ภายใต้โลกาภิวัฒน์ในยุค Digitalization ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ก่อให้เกิดความกังวลถึงความไม่แน่นอนของธุรกิจแบบเกินควบคุม ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในวันนี้ไม่ใช่แค่เพียงทำให้ธุรกิจคุณ “ล้าหลัง” แต่รุนแรงในระดับที่ “ล้มไม่ลุก” กันเลยทีเดียว

การล้มละลายของ KODAK กิจการยักษ์ใหญ่ด้านฟิล์มถ่ายภาพ พร้อม ๆกับการเกิดขึ้นของสมาร์ตโฟน เป็นตัวอย่างที่ดีของความเพลี่ยงพล้ำในยุค Digitalization ที่ผลลัพธ์หมายถึงความเสียหายของธุรกิจ

ฟินเทคหรือธุรกิจเกิดใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงิน เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาพลิกโฉมหน้ารูปแบบการทำธุรกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้นิยาม ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า และโดนใจผู้บริโภคมากกว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเงินไปสู่สิ่งใหม่

ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เทคโนโลยี
ทางการเงินมีความรวดเร็วและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น และให้บริการทางการเงินแทนธนาคารได้เกือบทุกด้านแล้ว สถาบันการเงินจึงต้องปรับตัว

ปัจจุบันรายได้จากค่าธรรมเนียมของธนาคารเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 20-30% ของระบบ ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หลังจากฟินเทคขึ้นมาเป็นคู่แข่ง เสนอบริการที่ถูกกว่าและปลอดภัยกว่าธนาคารที่ยังเน้นหารายได้จากค่าธรรมเนียมจึงมีแนวโน้มที่จะสูญเสียลูกค้าในระยะยาว

หากวิเคราะห์บริการของธนาคารในปัจจุบัน เรายังเห็นโอกาสอีกมาก เช่น บริการเงินกู้ที่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ แต่ดอกเบี้ยเงินกู้สูง และบริการอีกหลายอย่างของธนาคารที่มีค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมในการโอนเงินหรือชำระค่าบริการ

รวมทั้งช่องว่างทางธุรกิจของธนาคาร เป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับทางเลือกอย่างฟินเทคที่เข้ามาเติมเต็มบริการที่เป็นช่องว่างของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ของบริการช่องว่างนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบริการหลักที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นแล้ว การ Disruptของธนาคารโดยฟินเทคคงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่จะเป็น “เมื่อไหร่” และ “อย่างไร”เท่านั้น

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ให้ข้อมูลว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำขออนุญาตปิดสาขาธนาคารพาณิชย์มากกว่าขออนุญาตเปิดสาขา

Fintech  สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงินที่พยายามจะลดต้นทุนการให้บริการ และแน่นอนเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในการลดต้นทุนดังกล่าว  และนอกเหนือจากกระแสการปิดสาขาเพิ่มขึ้นของ ธนาคารแล้ว ในด้านของปริมาณธุรกรรมผ่าน อินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ธนาคารกสิรกรไทย ให้ข้อมูลถึงการเติบโตของ Mobile Banking ว่า ในครึ่งปีแรก Mobile Banking ของธนาคารมีการเติบโตกว่า 140% มีปริมาณการทำธุรกรรมรวมกว่า 668 ล้านรายการ มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคน และมีมูลค่าธุรกรรมรวมกว่า 1,870 ล้านล้านบาท

นอกเหนือจากผลกระทบต่อภาคการเงินโดยตรงแล้ว ยังมีแง่มุมที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ API (Application Programming Interface) และ Security ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเป็นธุรกิจทีเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ

ปริญญา หอมเอนก ประธานผู้ก่อตั้ง บริษัทเอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด (ACIS) ชี้ให้เห็นว่า ระบบความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับต้น ๆ ในการพัฒนาแอพพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน โดยเฉพาะเมื่อต้องเชื่อมต่อกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารมาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับสูงจึงเป็นสิ่งที่ต้องหยิบยกขึ้นมาพูด

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย กำลังดำเนินการเรื่องเปิดการเชื่อมต่อ API ซึ่งจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาฟินเทคและยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจอีกขั้นหนึ่งด้วย ซึ่งการเปิด API นั้นเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับบริการในภาคการเงิน ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบริหารจัดการระบบความปลอดภัยอีกด้วย

ปัจจุบัน Regulwator อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการยกระดับบริการทางการเงินผ่านฟินเทคควบคู่ไปกับการดูแลระบบงานความปลอดภัยของสถาบันการเงินควบคู่กัน

Regulatory Sandbox หรือ กระบะทราย เป็นแนวคิดหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสนใจ ภายใต้แนวคิดของการสร้างพื้นที่จำลองสำหรับทดลองแอพพลิเคชันและโซลูชันในพื้นที่จำกัด เพื่อศึกษารายละเอียดและผลกระทบก่อนจะประกาศใช้งานจริง

ดังนั้นแล้วฟินเทคจึงมีมุมมองที่น่าสนใจในหลายมิติที่จะต้องลงในรายละเอียดสุดท้ายแล้วฟินเทค จะเป็นโอกาสหรือภัย
คุกคามของภาคการเงิน คงต้องดูว่าภาคการเงินพร้อมจะรับกับความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน