ข้อมูลสถิติของธนาคารโลกระบุว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การที่ประชากรวัยทำงานลดลงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2559 จำนวน 11% ของประชากรทั้งหมดของไทย (ประมาณ 7.5 ล้านคน) มีอายุ 65 ขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับ 5% ในปี 2538 และคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2583 จะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด
 
ทีดีอาร์ไอเปิดเผยผลประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้าตามหลักOECD จะคิดเป็นเงินประมาณ 4.8 – 6.3 แสนล้านบาท เมื่อผนวกกับปัจจัยสังคมสูงวัย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 – 1.8 ล้านล้านบาท กอปรกับนโยบายที่รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพระดับโลกภายในกรอบเวลาสิบปี ทำให้องค์กรด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลในประเทศไทยตระหนักถึงการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพบริการต่างๆ ของตน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในระบบ เพิ่มการเข้าถึงสาธารณชน และเพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการเพื่อผลักดันประสิทธิภาพในการให้การรักษาพยาบาลให้มีความครอบคลุม คล่องตัวมากขึ้นและตอบสนองต่อนโยบายของประเทศ
 
นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทยของนูทานิคซ์ กล่าวว่า ประชากรสูงอายุที่มีมากขึ้น โรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงความท้าทายทางเทคนิคและสังคมอื่นๆ ล้วนสร้างแรงกดดันให้โรงพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้นเช่นกัน ไม่มีวิธีที่จะแก้ความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างทันทีทันใด แต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ทันสมัยและรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์ เป็นขั้นตอนแรกที่เริ่มทำได้ทันที เพื่อคงคุณภาพการดูแลรักษาในปัจจุบัน และช่วยให้สามารถให้บริการด้านการดูแลสุขภาพอย่างเฉพาะเจาะจงไปยังแต่ละบุคคลได้ดียิ่งขึ้น
 
นูทานิคซ์ได้จัดทำการสำรวจทั่วโลกและเปิดเผยตัวเลขจากรายงาน Enterprise Cloud Indexเกี่ยวกับการวางแผนใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ขององค์กรด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาล ทั้งที่เป็นไพรเวท ไฮบริด และพับลิคคลาวด์ พบว่าวงการสาธารณสุข และโรงพยาบาล กำลังใช้งานไฮบริดคลาวด์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ไฮบริดคลาวด์เป็นการรวมความสามารถ และประโยชน์ที่ผู้ใช้งานจะได้รับจากไพรเวทและพับลิคคลาวด์ไว้ด้วยกัน ทั้งนี้เมื่อแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว หน่วยงานด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้งานไฮบริดคลาวด์มากเป็นลำดับที่สาม รายงานยังพบว่า ในเวลาเพียงสองปี การใช้งานไฮบริดคลาวด์ของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 19% เป็น 37% 
 
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าวงการสาธารณสุขและโรงพยาบาล กำลังหันไปใช้ระบบไฮบริดคลาวด์ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและสามารถเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชั่นระหว่างไพรเวทและพับลิคคลาวด์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อจัดการกับความกังวลด้านความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งจากวงการสาธารณสุขและโรงพยาบาล ระบุว่าการใช้งานอินเตอร์-คลาวด์ แอปพลิเคชั่น โมบิลิตี้นั้นเป็น “สิ่งจำเป็น” ที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายการทำงานของแอปพลิเคชั่นต่างๆ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง บริการด้านเน็ตเวิร์คต่างๆ และนโยบายด้านความปลอดภัย ระหว่างไพรเวทและพับลิคคลาวด์เป็นไปอย่างราบรื่น
 
ผลสำรวจที่น่าสนใจ
 
บริษัทด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาล ใช้จ่ายกับระบบพับลิคคลาวด์มากเกินความจำเป็น: ดูเหมือนว่าแรงจูงใจอีกประการหนึ่งในการใช้งานไฮบริดคลาวด์ขององค์กรต่างๆ คือการที่องค์กรเหล่านั้นจำเป็นต้องควบคุมค่าใช้จ่ายด้านไอที องค์กรที่ใช้พับลิคคลาวด์ใช้จ่ายเงินคิดเป็น 26% ของงบประมาณด้านไอทีประจำปีไปกับระบบพับลิคคลาวด์ และจะเพิ่มเป็น 35% ภายในเวลาสองปี ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายกับระบบพับลิคคลาวด์ บริษัทด้านเฮลท์แคร์ใช้งบประมาณเกินกว่าที่ตั้งไว้ 40% ในขณะที่บริษัทระดับโลกที่อยู่ต่างอุตสาหกรรมใช้งบประมาณเกินกว่าที่ตั้งไว้ 35%
 
การใช้พับลิคคลาวด์ขององค์กรด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาล แซงหน้าการใช้ IoTในอุตสาหกรรมอื่น: อุตสาหกรรมด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลนิยมใช้งานพับลิคคลาวด์ในระดับใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่ รายงานระบุว่ามีการใช้งาน 13% เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 12% อย่างไรก็ตามบริษัทด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลก็แซงหน้าค่าเฉลี่ยของแอปพลิเคชั่นบางอย่าง เช่น ERP/CRM การวิเคราะห์ข้อมูล คอนเทนเนอร์ และอินเทอร์เนตออฟธิงค์ (IoT)
 
วงการสาธารณสุขและโรงพยาบาล ขาดแคลนทักษะไอทีด้านไฮบริด: ผู้ตอบแบบสอบถาม 88% คาดหวังผลลัพธ์เชิงบวกจากไฮบริดคลาวด์ ในขณะที่ทักษะด้านนี้ยังขาดแคลนในองค์กรในปัจจุบัน ทั้งนี้ทักษะด้านไฮบริดจัดเป็นทักษะที่ขาดแคลนเป็นลำดับที่สองรองจากทักษะด้าน AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง
 
การใช้คลาวด์โมเดล ไฮบริด หรืออื่นๆ ยังช่วยให้ผู้ให้บริการเปลี่ยนผ่านวิธีการให้บริการไปสู่การให้บริการในรูปแบบดิจิทัล นวัตกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ช่วยให้โรงพยาบาลบริหารจัดการแอปพลิเคชั่นและประเภทข้อมูลที่แตกต่างกันได้ ใช้ประโยชน์จากระบบออโตเมชั่น และสร้างสายงานบริการแบบใหม่ เช่น เทเลเฮลท์ หรือรีโมทมอนิเตอร์ริ่งได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น