ระบบนิเวศเทคโนโลยี เทรนด์ของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้เกิดการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีเหตุมีผลมากยิ่งขึ้น แต่หากจะบอกว่าธุรกิจของตนไม่เกิดประโยชน์จากเทคโนโลยี ก็คงต้องย้อนถามกลับไปว่าเทคโนโลยีที่ว่านั้นได้ร้อยเรียงกับกลุ่มเทคโนโลยีจนกลายเป็นระบบนิเวศเทคโนโลยีเพื่อเรียกประโยชน์ออกมาจากเทคโนโลยีนั้น ๆ ได้อย่างคุ้มค่าแล้วหรือไม่
AI สมองกลอัจฉริยะ

AI นั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในกระบวนการเขียนข่าวเราก็เคยได้ยินมา แต่คุณรู้หรือไม่ว่า AI เหล่านั้นก็ต้องการการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาไปสู่การมีประสิทธิภาพที่มากยิ่งขึ้น ไม่ต่างจากการสะสมองค์ความรู้ในสมองของเราแต่อย่างใด

สมองกลถูกเรียกออกไปหลากหลายชื่อ บ้างก็ตั้งเป็นรูปแบบบริการ บ้างก็ตั้งเป็นชื่อของระบบเองเลย แต่กระนั้นระบบเหล่านี้ก็เป็นเพียงตัวประมวลที่มีการติดวิเคราะห์มากขึ้น การสร้างระบบเพื่อเชื่อมต่อ หรือแม้กระทั่งโปรแกรมที่สามารถแปรผลหรือประมวลความรู้เหล่านั้นที่ได้ออกมาเป็นภาษามนุษย์ต่างหากที่เหล่ามนุษยชาติต้องการ

ขอยกตัวอย่างการสร้างระบบของไอบีเอ็ม วัตสัน สมองกลนี้เรียกเทคโนโลยีของคนเองว่าเป็น Cognitive ซึ่งหากแปลตรงตัวก็หมายถึงกระบวนการรับรู้ที่หลากหลายมากนั่นเอง เพราะแทนที่การป้อนความรู้ให้วัตสันจากคีย์บอร์ดหรืออินพุตต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

วัตสันกลับเลือกที่จะเรียนรู้เองได้จากพฤติกรรมที่เราใช้งานออนไลน์ สามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบนโลกออนไลน์ทั้งโลก หลังจากได้รับคำสั่งให้ทำงาน แน่นอนว่าแค่นั้นคงไม่เรียกว่า Cognitive เพราะวัตสันยังสามารถมองภาพจากกล้องและอ่านข้อมูลไม่ต่างจากที่ตามนุษย์มองเห็น หรือแม้กระทั่งอารมณ์ของผู้พูดในขณะนั้น และบันทึกเป็นข้อมูลตามหมวดหมู่ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

วัตสันยังสามารถจับเสียงของการสนทนาที่เกิดขึ้น เพื่อวิเคราะห์ เก็บข้อมูล และตอบโต้การสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น กระบวนการดังกล่าวเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากมิติมากกว่าการป้อนข้อมูลแบบตั้งใจของผู้ดูแล

ซึ่งท้ายที่สุด เครื่องจักรหรือสมองกลอย่างวัตสันก็จะสามารถสะสมองค์ความรู้ที่มากมายเข้าไว้เป็นฐานข้อมูล และเมื่อใดก็ตามมีการเขียนโปรแกรมเพื่อเรียกประสิทธิภาพของวัตสันเข้าไว้ โปรแกรมเหล่านั้นก็จะช่วยให้เกิดทั้งกระบวนการเรียนรู้และวิเคราะห์ไปในตัวนั่นเอง

ระบบนิเวศเทคโนโลยี

ระบบจัดซื้อจัดจ้างอัตโนมัติ Procurement System

ตัวอย่างของการรวมความสามารถของเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบมากขึ้นนั่นก็คือ การทำ E-Procurement หรือการจัดซื้อจัดจ้างแบบออนไลน์นั่นเอง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยทางภาครัฐได้มอง E-Procurement เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปสู่ยุค E-Government และในภาคเอกชนเองก็ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการใช้งานอย่างมาก

ระบบจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ หรือที่รู้จักกันว่า E-Procurement ได้นำเอาเทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตมาควบรวม โดยสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการจากโลกออนไลน์ได้แบบอัตโนโนมัติ ภายใต้ระบบโซลูชันที่ต้องการ อีกทั้งยังควบรวมความสามารถของการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบการเงิน หรือแม้กระทั่งการประมวลเอาไว้ในระบบเดียวกันได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ทั้งนี้กระบวนการของ E-Procurement โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มจาก 1. การคัดเลือกผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย 2. ติดต่อขอใบเสนอราคา 3. ขออนุมัติในการสั่งซื้อ 4. ออกใบสั่งซื้อให้ผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย 5. ระบุจำนวนและกำหนดระยะเวลาส่งมอบ 6. การจัดส่งสินค้า 7. การออกใบเรียกเก็บเงิน และ 8. การชำระค่าสินค้าและบริการ

E-Procurement หรือ Electronics Procurement ก็คือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเป็นไปอย่างอัตโนมัติบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบที่ผสานการทำงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยโซลูชันนี้ยังสามารถให้ข้อมูลที่สำคัญ และช่วยให้ท่านสามารถตัดสินใจในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ความสามารถของ E-Procurement โดยทั่วไปแล้วก็จะเริ่มจากการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการออนไลน์แบบง่าย ๆ ไปจนถึงสามารถต่อเชื่อมไปยังตลาดซื้อขายแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ โดยจะมีวิวัฒนาการเป็นขั้น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 4 เฟส ดังต่อไปนี้

ระบบจัดซื้อจัดจ้างภายใน (Internal Buy-Side System) ในเฟสแรกนี้แผนกจัดซื้อจะทำกิจกรรมด้านการจัดซื้อแบบออนไลน์ โดยผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าจากบัญชีสินค้ารวมแบบออนไลน์ ซึ่งรวบรวมจากหลากหลายบริษัทและหลายผู้ผลิต และทำการจัดซื้อสินค้าผ่านทางเว็บ ซึ่งในเฟสนี้นับเป็นรากฐานสำคัญในการขยายการทำงานของการดำเนินการด้าน E-Procurement ต่อไป

ระบบจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง (Direct Purchasing System) สำหรับเฟสที่ 2 นี้ องค์กรผู้ซื้อและผู้ขายได้มีการต่อเชื่อมกันอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถย่นและลดเวลาในด้านการเตรียมเอกสารเบื้องต้นและการขึ้นบัญชีผู้ค้า โดยสามารถแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ขายผ่านทางเว็บได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถประหยัดเวลาในการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเช็กเครดิต การตรวจสอบที่อยู่ที่จะทำการจัดส่งและกระบวนการอื่น ๆ

การเข้าสู่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketplace Involvement) ในขั้นตอนนี้ บริษัทหรือองค์กรจะเข้าร่วมหรืออาจจะเป็นผู้พัฒนา E-Marketplace ขึ้นเอง หรือระบบของโซลูชันจะควบรวมการจัดการอีแคตตาล็อกผ่านหน้าเว็บไซต์ให้ด้วย

โดยรูปแบบจะเป็นการทำงานผ่านทางเว็บที่รวบรวมผู้ซื้อ ผู้ขาย และคนกลางเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเพิ่มการแข่งขันกันระหว่างผู้ขาย และเปิดโอกาสให้ผู้ขายได้พบกับผู้ซื้อกลุ่มใหญ่ในตลาด โดย E-Marketplace ได้นำเสนอการกำหนดราคาแบบลอยตัว การรวมจำนวนการสั่งซื้อ ผู้ขายที่หลากหลาย และการทำงานร่วมกันอย่างลงตัว

ในเฟสสุดท้ายนี้ บริษัทจะทำการต่อเชื่อมระบบการจัดซื้อจัดจ้างภายในองค์กรเข้ากับระบบของผู้ขายผ่านทางโครงข่ายคู่ค้าภายนอก (Partner Extranet) ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีความปลอดภัยสูง ผ่านทางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ

เมื่อไรก็ตามที่ต้องการสินค้าหรือบริการ ระบบนี้ก็สามารถทำงานตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างอัตโนมัติ ตั้งแต่ตรวจสอบว่ามีสินค้าเพียงพอหรือไม่ จัดตารางการจัดส่งสินค้า และดำเนินการชำระค่าสินค้าและบริการ ทั้งนี้ระบบ E-Marketplace สามารถต่อเชื่อมเข้ากับผู้ค้าหลาย ๆ รายได้ในเวลาเดียวกัน โดยอาศัยมาตรฐานกลางของระบบจัดซื้อจัดจ้าง

ประโยชน์มากมายจากระบบ E-Procurement สามารถช่วยให้องค์กรลดค่าใช้จ่ายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นราคาของวัตถุดิบ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตที่ลดลง นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยเป็นผลจากการจัดการในการเลือกผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสินค้าและบริการ ที่ให้สินค้าคุณภาพดีและราคาเป็นที่น่าพอใจ และการลดต้นทุนจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแผนกจัดซื้อ

ซึ่งรวมไปถึงการลดกระบวนการที่อาศัยระบบเอกสารที่เป็นกระดาษออกไป ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว E-Procurement สามารถช่วยท่านประหยัดได้ประมาณ 15-35% โดยขึ้นอยู่กับระดับของการใช้งาน ทางด้านระบบบัญชี และระบบรายงานนั้นก็สามารถตรวจสอบและติดตามการสั่งซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้แบบออนไลน์ ซึ่งช่วยให้มีความถูกต้องมากกว่าการทำงานในอดีตที่อาจเกิดความผิดพลาดจากการใช้ระบบเอกสารได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสะดวกรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี E-Procurement จะมีการควบรวมการทำงานหลากหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดการทำงานแบบเครือข่ายและประมวลผลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้จัดการรายชื่อผู้ขาย ลดต้นทุน พัฒนาการลื่นไหลของข้อมูล และยังจัดการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านกลยุทธ์ กระบวนการ บุคลากร และเทคโนโลยี โดยที่ความสำเร็จในการทำ E-Procurement นี้จะส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจโดยภาพรวม ด้วยผลลัพธ์ด้านบวกในทุก ๆ ด้านที่เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ เช่น การลดต้นทุน และผลกำไรที่สูงขึ้น เป็นต้น

ระบบนิเวศเทคโนโลยี ที่ดีช่วยให้เกิดการจัดการที่ง่ายขึ้น

อิเมอร์สัน เนทเวอร์ค พาวเวอร์ (Emerson Network Power) ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสูงสุดสำหรับระบบเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร ได้แชร์ความรู้และการวางกลยุทธ์โครงข่ายประสิทธิภาพสุดล้ำแห่งอนาคตเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเตรียมความพร้อมของการจัดหาพลังงานโดยรวม การสร้างเกราะความปลอดภัย และการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน

สำหรับภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สที่ต้องพึ่งพาระบบอัตโนมัติในยุคดิจิทัลมากขึ้น ทำให้องค์กรมองหาโซลูชันที่จะมาปฏิวัติการทำงานแบบใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ โดยหนึ่งในสิ่งที่ต้องเน้นคือการสร้างความแข็งแกร่งของสมรรถภาพองค์กรและการจัดเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างผลผลิตและผลกำไรสูงสุดให้กับธุรกิจ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การเกิดขึ้นใหม่ของระบบการผลิตอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนเครื่องมืออุปกรณ์ด้วยคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ ได้ส่งผลดีอย่างมากต่อทั้งกระบวนการผลิตและคุณภาพ ช่วยผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานได้ และเพิ่มความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรโดยรวม

โดยโซลูชันของอิเมอร์สัน เนทเวอร์ค พาวเวอร์จะเน้นถึงความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขยายอายุการใช้งานและเพิ่มความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขององค์กร การดูแลส่วนนี้รวมถึงฟังก์ชันการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน

เช่น การซ่อมแซม การปิดการใช้งาน การดูแลครบวงจรและการบำรุงรักษาด้วยเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก และการให้บริการแบบมืออาชีพ อิเมอร์สัน เนทเวอร์ค พาวเวอร์สามารถให้บริการแบบ 24 ชั่วโมงทุกวัน เข้าถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ OEM และทีมวิศวกรออกแบบได้ตลอดเวลา

 

ขณะที่โซลูชัน Huawei Safe City ก็ได้ถูกนำไปใช้ในกว่า 100 เมือง ใน 30 ประเทศ ทั้งในตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก โดยให้บริการแก่ลูกค้ามากกว่า 400 ล้านคน นอกจากนี้ หัวเว่ยยังร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์และสถาบันการเงินชั้นนำกว่า 10 รายทั่วโลก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีรุ่นใหม่สำหรับธนาคารโดยใช้คลาวด์ คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้า

ด้านโซลูชัน Huawei Financial Cloud และ Huawei Big Data ได้ถูกนำไปใช้ในธนาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 10 แห่ง ซึ่งรวมถึง Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ China Merchants Bank (CMB) ส่วนโซลูชัน Huawei Digital Railway ก็ถูกนำไปใช้กับระบบทางรถไฟที่มีระยะทางรวมกันกว่า 100,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ ในบรรดาบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก 20 แห่ง ยังเป็นลูกค้าของหัวเว่ยถึง 15 แห่ง ซึ่งครอบคลุมสถานีไฟฟ้าย่อยกว่า 100,000 แห่ง ทั้งยังครอบคลุมท่อส่งน้ำมันและก๊าซความยาวรวม 38,000 กิโลเมตร

หัวเว่ยยังได้ยึดหลักปฏิบัติ “Business-Driven ICT Infrastructure (BDII)” และพร้อมดำเนินกลยุทธ์ “Focus on ICT Infrastructure” และ “Being Integrated” ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตรและลูกค้า พร้อมให้ความช่วยเหลือในการพลิกโฉมธุรกิจสำหรับลูกค้าในแวดวงต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ การเงิน พลังงาน คมนาคม การผลิต การศึกษา ตลอดจนการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไอซีทียุคใหม่ด้วยการเพิ่มพูนความสำเร็จทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า

จะเห็นได้ว่าการสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ครบวงจรมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเกิดผลดีต่อระบบของการประมวลผล คิดวิเคราะห์ เพื่อหากลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีระบบข้อมูลสามารถผสานเข้ากับโลกของความเป็นจริง และนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ด้วยสมองกลที่มีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้เกิดคำตอบทางธุรกิจที่ง่ายดาย

เพราะท้ายที่สุดแล้ว การตัดสินใจทางธุรกิจย่อมต้องการข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่อะไรที่จะหาข้อมูลพร้อม ๆ กับการคำนวณข้อมูลขนาดใหญ่ได้ในเวลาอันรวดเร็วอย่างเช่นที่สมองกลทำได้ และท้ายที่สุดแล้วการทำงานแบบ Big Data ก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริษัทไม่ช้าก็เร็ว และจะกลายเป็นคลังความรู้ที่มีคุณค่ายิ่งของบริษัทนั้น ๆ ต่อไป

ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ Theeleader.com