ความวัวไม่ทันหายความวัว (ควา…) เข้ามาแทรก งานนี้เรียกว่าเป็นมหากาพย์ ของวงการขนส่งมวลชนของเมืองไทยอย่างแท้จริง เพราะนอกจากรูปแบบของบริการที่ไม่สะดวก และมารยาทที่ยอด(เฮ!!) ของ Taxi และข้อเรียกร้องจากพี่ๆนักขับ Taxi ร่วมไปถึงกฏระเบียบที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจสมัยใหม่ ทำให้คนยุคนี้อยากใช้ บริการขนส่งแบบ รถบริการร่วมเดินทาง (Car Sharing) เกิดขึ้นแบบถูกกฏจริงๆ ซักที่!!

อย่างที่ทราบกันดีว่าวงการขนส่งบ้านเรากำลังอยู่ในขั้น ดราม่า ยิ่งว่าละครตบตี แย่งสามี หรือสามีมีผัวน้อย ที่กำลังเป็นกระแสของละครไทย โดยตัวละครเอกวันนี้คือพี่ๆ ที่แท็กซี่หลายๆที่ทั่วประเทศ กำลังทำตัวประหนึ่งดั่ง หน่วยปราบปรามอาชญากรรม ถอดแบบ CSI

ซีรี่ย์สืบสวนสอบสวนไล่ล่าผู้ร้ายในแบบต้องจับให้ได้ ชนิด เผากระท่อม ระเบิดรถ  ไล่ชน เพื่อจับตัวผู้ร้ายมาลงโทษให้สาสมกับความผิดที่ทำเอาไว้ แต่ในที่นี้ผู้ร้ายของพี่ๆ Taxi (บางกลุ่ม) คือคนทำธรรมดาที่ไม่ได้ไปฆ่าใครตาย หรือวางระเบิดกลางเมือง แต่เป็นผู้ขับ อูเบอร์ ที่อาศัยเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารในยุค 4.0 นี้ 

Taxi Vs Ride Sharing?

โดยก่อนหน้านี้เราเห็นกันแล้วว่ามีการไลล่าผู้ขับ อูเบอร์ จากพี่ๆ Taxi (ย้ำ!!บางกลุ่ม) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในที่ใจกลางเมืองพัทยา ที่สนามบินเชียงใหม่ และอีกหลายๆที่ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างที่ทราบกันดี ซึ่งในหลายๆครั้งเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของพวกพี่ๆ Taxi เอง แน่นอนว่ากรณีนี้คือเรื่องของการเสีย “ผลประโยชน์” ย้ำอีกครั้ง!! ผลประโยชน์ล้วนๆ

เพราะรายได้ที่เคยได้มันหายไป เนื่องจากผู้โดยสารขอเลือกใช้บริการจากความสะดวกสบายผ่านอุปกรณ์พกพาของตัวเอง และไม่ต้องเสี่ยงต่อการโดนปฏิเสธจากเหตุผล นาๆประการของ พี่ๆแท็กซี่ อาทิ น้ำมันจะหมด แก๊สจะหมด ต้องส่งรถ รถติดไม่ไป ไกลไม่ไป ถ้าจะไปต้องเหมา หรือแม้แต่เหตุผลแบบไร้สาระ อย่างเช่น น้ำหนักเยอะไม่รับ ก็มีมาแล้ว หรือแม้แต่โกงมิเตอร์ และพาอ้อมโลก ด่าผู้โดยสาร ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ

หรือรับมาแล้วปล่อย “ทิ้งไว้กลางทาง” จนผู้โดยสารอยากร้องเพลงของพี่ปั๊บ วงโปเตโต้ “ทำถูกแล้ว ที่เธอเลือกเขา และทิ้งฉันไว้ตรงกลางทาง เมื่อตัวเธอ พบคนที่ดี ที่เธอวาดไว้ในหัวใจ ปล่อยมือฉัน ถูกแล้ว ให้ใจของฉันปวดร้าวแค่ไหน ยอมฝืนใจให้เธอ เดินจากฉันไป เมื่อรู้ว่าเธอ มีคนที่พาไปถึงปลายทาง…” จะบ้าเหรอ!! (ถ้ารับมาแล้วไม่ส่งให้ถึงที่พี่จะมาขับรถแท๊กซี่ทำไมคร้าบบบบบ)

ล่าสุดมีข่าวออกมาว่า ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท๊กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศหยุดให้บริการ เพราะไม่ได้รับการตอบรับข้อเสนอที่ยืน ให้ท่าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาปรับขึ้นราคาค่าโดยสารระยะสองอีก 5% ซึ่งเมื่อถูกส่งให้ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา พิจารณาแล้ว ซึ่งท่านก็ไม่เห็นด้วย

แถมมีคำสั่งให้ชะลอการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร ตามที่เครือข่ายสหกรณ์แท๊กซี่ในเขตกรุงเทพเรียกร้อง ซึ่งทางประธานเครือข่ายสหกรณ์แท๊กซี่ในเขตกรุงเทพ ก็ได้ออกตัวล้อฟรี…ควันขโมง จนเรียกว่าแทบจะดริฟต์รถกันเลยทีเดียว โดยให้เหตุผลว่า กระทรวงคมนาคมไม่ยอมอนุมัติเพราะให้เหตุผลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นของประชาชน แล้วแท๊กซี่ไม่ไรับผลกระทบ? หรืออย่างไร

Taxi

โดยที่ผ่านมาผู้ขับแท๊กซี่ได้ทำตามที่มีการเรียกร้องได้ปรับปรุงการให้บริการตามข้อเรียกร้องแล้ว (โอ้ว!! Really?) หากไม่ยอมให้ขึ้นราคา ต่อไปผู้โดยสารเรียกไปเส้นทางที่รถติดหรือไม่คุ้มค่า ก็คงต้องปฏิเสธ เนื่องจากกำหนดอัตราค่าโดยสาร ที่เริ่มต้น 35 บาท และปรับขึ้นตามระยะทาง ไม่สะท้อนต่อความเป็นจริง ถ้าต้องไปในเส้นทางที่รถติดมากๆ

ทำให้ค่ารถที่ได้ไม่คุ้มกับต้นทุน ทั้งตัวรถ ค่าแก๊ส เจอรถติดจะขอเพิ่มค่าโดยสารก็ไม่ได้ จะคิดราคาเหมาก็ไม่ได้ เพราะมีกฎหมายควบคุม และก็จะกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ

แน่นอนว่างานนี้ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ ไม่เต้นตาม เพราะได้ออกมาโต้ทันควันว่าหากทางแท๊กซี่จะยุติการให้บริการ ก็จะจัดหารถอื่นให้บริการแทนที่ทันที ซึ่งงานนี้เรียกได้ว่าตอกหน้าหงายกันเลยทีเดียว  ซึ่งตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุอัตราโทษรถโดยสารสาธารณะที่กระทำความผิด ซึ่งรวมถึงรถแท็กซี่ด้วย

โดยจะเริ่มต้นค่าปรับที่ 30,000 บาท จากปัจจุบันเริ่มต้นที่ 1,000 บาท เพื่อไม่ให้ทำความผิด ขณะเดียวกันยังเพิ่มโทษให้ถึงขั้นจำคุก เช่น กรณีการกระทำของคนขับรถสาธารณะ ส่งผลให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศในลักษณะรุนแรง การกระทำที่เป็นความไม่ปลอดภัยอุกฉกรรจ์ ทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร ซึ่งจะเพิ่มโทษปรับเป็น 100,000-200,000 บาท และจำคุก

จากปัจจุบันปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพบรถแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสารจะปรับในอัตราสูงสุด คือ 1,000 บาท จากเดิมไม่เกิน 500 บาท หากกระทำผิดเป็นครั้งที่ 2 จะเพิกถอนใบอนุญาตทันที 

taxi

แล้วเพราะเหตุใดบริการอย่างที่ อูเบอร์ นั้นทำถึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนมากนิยม เพราะบริการดังกล่าวเป็นบริการในรูปแบบบริการร่วมเดินทาง (Ride Sharing) หรือรถบริการร่วมเดินทาง (Car Sharing) ที่ทำงานผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และโซลูชั่นประมวลผล ที่ไปจับข้อมูลในหลายส่วน และลดข้อจำกัดในแง่การบริการที่ แท๊กซี่ แบบเดิมไม่สามารถทำได้ (หรือทำได้แต่ไม่ดี)

ไม่ว่าจะเป็น มารยาท ความรับผิดชอบต่อผู้โดยสาร และการโกงค่าโดยสาร ความรวดเร็ว และการันตีว่าจะมีรถมารับไปส่งยังจุดมุ่งหมายได้แม้ในช่วงเวลาที่รถโดยสารน้อย ซึ่งจริงๆแล้วแนวคิดนี้มาจากแนวคิด Sharing Economy นั่นเอง แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าดูเหมือน อูเบอร์ จะเป็นที่ต้องการแต่ก็ยังมีแง่มุมที่อาจไม่ถูกต้อง เช่น กรณี ใบอนุญาตขับขี่คนล่ะประเภท และการที่รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ เป็นต้น

ล่าสุดมีความพยายามที่ใช้ มาตรา 44 เพื่อกำกับควบคุม อูเบอร์ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ปลอดภัยทั้งในแง่ของ ผู้โดยสาร อาจไม่ได้รับความปลอดภัย แต่ในระเบียบของอูเบอร์นั้น ผู้ที่จะสามารถมาเป็นผู้ขับได้ จะต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด ในการใช้งานผู้โดยสารสามารถทราบระหว่างรอรถ โดยแอพฯ จะแสดง ชื่อ และคะแนนของคนขับ พร้อมกับยี่ห้อ รุ่น และทะเบียนรถให้เห็น

และเมื่อถึงที่หมาย ระบบจะคำนวณค่าโดยสารและตัดเงินผ่านบัตรที่ลงทะเบียนไว้ หลังจากนั้น ผู้โดยจะได้รับใบเสร็จทางอีเมล เพื่อทำการตรวจสอบและให้คะแนนความพึงพอใจแก่คนขับได้ ในขณะที่แท็กซี่ทั่วไป หากจะร้องเรียนก็ต้องแจ้งไปยังกรมขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการ ซึ่งกว่าจะได้รื่องก็ใช้เวลานานพอสมควร และในบางกรณีคนขับกับป้ายที่แจ้งในรถก็เป็นคนล่ะคนกันอีกด้วย

ในขณะอูเบอร์สามารถร้องเรียนได้แบบเรียลไทม์ แต่อีกข้อที่กล่าวอ้างดูฟังขึ้นบ้างคือบอกว่าการใช้บริการ อูเบอร์ นั้นจ่ายค่าบริการผ่านบัตรเครดิตซึ่งไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ 

taxi

ซึ่งในข้อนี้เชื่อว่าด้าน อูเบอร์ น่าจะมีระบบป้องกันมากเพียงพอในระดับ หนึ่งและน่าจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นนี้จึงน่าจะอยู่ความต้องการกำกับดูแล และควบคุม รวมไปถึงเป็นช่องทางในการจัดการเพื่อทำให้เกิดรายได้ในรูปแบบของการเก็บภาษีเข้าคลังของรัฐมากกว่า เช่นเดียวกันกับความพยายามในการจัดระเบียบร้านค้าออนไลน์ หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นั่นเอง

ีuber

และยังไม่รู้ว่าผลกระทบเช่นนี้ จะลุกลามไปยังรูปแบบ บริการอื่นๆ ของ อูเบอร์ อีกหรือไม่ แน่นอนว่ายังมีอีกหลายผู้ให้บริการที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกับ อูเบอร์ อย่างเช่น แกร็บคาร์ ซึ่งเป็นบริการที่คล้ายคลึงกันกับอูเบอร์ แต่อาจจะได้รับการต่อต้านจากผู้ขับแท๊กซี่ในบ้านเราน้อยเนื่องจาก แกร็บ เริ่มธุรกิจมาจากการช่วยเหลือผู้ประกอบการสหกรณ์แท๊กซี่ในส่วนของ แกร็บแท๊กซี่ มาก่อน นั่นเอง

หากมองในแง่ของราคาจริงๆ แล้วบริการ Uber และ GrabCar มีค่าบริการที่แพงกว่าแท็กซี่ ด้วยซ้ำ แต่ดูจากกระแสที่คนยอมจ่ายแพงกว่า ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยรู้จักเลือกสิ่งที่ดีๆให้แก่ตนเอง มองเห็นว่าคุ้มค่า ได้บริการที่เป็นอีกระดับ มีประสบการณ์ตัวเลือกที่ดีขึ้น

ดังนั้นโจทย์หินในวันนี้ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือต้องหาคำตอบให้ ผู้โดยสารด้วยว่า แล้วเมื่อไรถึงที่จะสามารถควบคุมการบริการรถโดยสารสาธารณะที่มีทั้งหมดมาตราฐานได้ ไม่ใช่ให้ผู้โดยสาร ไปวัดใจ เสี่ยงดวง  หงุดหงิด เอือมระอากับการโบกแท็กซี่แล้วถูกปฏิเสธอย่างเช่นทุกวันนี้