เมื่อ Smart Devices กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตทุกคน ถึงเวลาแล้วที่มันจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตให้สู่ Smart Life สำหรับคนยุคดิจิตอลอีโคโนมี

Smart Devices อุปกรณ์อัจฉริยะแห่งยุคที่เข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของทุกเพศทุกวัน ด้วยการฝังสมองกลช่วยให้สามารถทำงานด้วยตัวเอง แถมยังสามารถเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์แวดล้อมรอบตัวได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นความโดดเด่นทั้งในเรื่องของความสามารถในการทำงาน และที่สำคัญก็คือ ด้วยความอัจฉริยะนั้นจะกลายเป็นตัวเปลี่ยนโลกของทุกเพศทุกวัยเข้าสู่ยุคดิจิตอลในรูปแบบ Smart Life อย่างแท้จริง

ในงาน Commart 2015 ครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา นอกจากการนำเสนอสินค้าจากบริษัทไอทีชั้นนำต่างๆ แล้ว ยังมีพาวิลเลียนหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ Digital Pavilion ซึ่งนำเสนอรูปแบบของการใช้ชีวิตยุคใหม่ที่มีอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ในการช่วยให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น และหนึ่งในนั้นก็มีคำหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ และเป็นที่พูดถึงกันมาตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ขององค์กรธุรกิจและผู้ใช้ทั่วๆ ไป นั่นคือการเชื่อมต่อ Smart Devices เหล่านี้เข้าด้วยกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญก็คือไม่ต้องอาศัยผู้ใช้ในการช่วยเทคโนโลยีให้ทำงานได้ ซึ่งเราเรียกว่า Internet of Things

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Internet of Things
ทีนี้เรามาดูข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ IoT กันก่อน ซึ่งใน Digital Pavilion ของงาน Commart 2015 นั้นได้รวบรวมไว้อย่างน่าสนใจอย่างมาก
1. Internet of Things หรือ Internet of Everything เป็นแนวคิดที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ให้สามารถสื่อสาร ตัดสินใจ หรือคุยกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านคน ช่วยให้การใช้ชีวิตของเรามีความสะดวกสบายขึ้น
2. เนื่องจากคำว่า Internet of Things ค่อนข้างยาว จึงมีคนหัวใสคิดตัวย่อใหม่ เพื่อความสะดวกในการสื่อสารว่า IoT
3. มีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ Internet of Things เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า (ข้อมูลจากกูเกิล ธันวาคม 2013-ธันวาคม 2014)
4. บริษัทวิจัย ไอดีซี คาดการณ์การเติบโตของตลาด IoT ไว้ว่าจะมีอัตราเฉลี่ย 13% ต่อปี ตลอดช่วง 5 ปีจากนี้ ด้วยมูลค่าแตะ 3.04 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020 โดยมีจำนวนผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่สามารถสื่อสารกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ตนับพันล้านชิ้น
5. ปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์ระดับโลกอย่าง Michael E. Porter ได้เขียนบทความลงในวารสาร Harvard Business Review เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้คำจำกัดความแบบสั้นๆ ของ IoT ว่า Smart, Connected Products

และภายใน Digital Pavilion ของงาน Commart 2015 ครั้งนี้ มีการจัดแสดงตัวอย่างของการนำเอา IoT มาใช้ในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของ Smart Home ต่างๆ ไปจนถึงเรื่องของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุหรือแม้กระทั่งคนป่วย ด้วยหุ่นยนต์ที่สามารถติดต่อสื่อสารและแจ้งเหตุการณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งที่เรากำลังจะได้พบในเร็ววัน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติระบบขนส่งมวลชนของคนไทยกันเลยทีเดียว เราจะลองนำเสนอในรูปแบบของการจำลองสิ่งที่เรียกว่า Digital Life ให้ผู้อ่านได้ลองนึกตามไปด้วยกัน

Smart Home
Smart Home หรือระบบ Home Automation คือระบบบ้านอัจริยะที่ถูกออกแบบขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น หลอดไฟ แอร์ ทีวี นวัตกรรมที่ใช้นั้น เพียงแค่ปลายนิ้วมือสัมผัส ที่หน้าจอ Touch Screen เท่านี้ก็สามารถดูสถานะการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของเราได้แล้ว

– ระบบโฮมออโตเมชัน (home automation) อาทิ สั่งงานเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทางโทรศัพท์
– ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่าง (lighting control) สามารถสร้างบรรยากาศในบ้านด้วยการควบคุมแสงสว่าง
– ระบบสื่อสาร (communication system) รองรับการเชื่อมต่อ hi speed internet ความเร็วสูง CATS
– ระบบความปลอดภัยภายในบ้าน (home security system) รักษาความปลอดภัยพร้อมระบบเตือนภัย siren และ infrared ทั้งป้องกันผู้บุกรุกและป้องกันอัคคีภัย

แล้วคงมีคำถามว่า เมื่อเราทำให้บ้านกลายเป็น Smart Home แล้วนั้น เราจะสามารถควบคุมหรือจัดการอะไรได้บ้าง นี่คือบางตัวอย่างที่คุณสามารถทำได้ เช่น
แสงไฟภายในบ้าน
เปิด/ปิดแอร์
ตรวจสอบการใช้น้ำประปา
แจ้งเตือนของใช้ในบ้าน, ในตู้เย็น
เปิด / ประตูบ้าน
กล้องวงจรปิด, ระบบกันขโมย

smart home

นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่เสริมเข้ามาสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการเนื้อที่สำหรับเก็บและเข้าถึงไฟล์ของตัวเอง ปัจจุบันบางคนอาจจะบอกว่ามีบริการคลาวด์อยู่มากมาย แต่บางคนอาจจะต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวใน Digital Pavilion เองก็ได้นำเอา Seagate Personal Cloud มาแสดงการทำงาน โดยที่ผู้ใช้สามารถทั้งใช้งานไฟล์ทางด้านความบันเทิงต่างๆ ผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น Smart TV, Smartphone, Tablet หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงไฟล์เอกสารและรูปภาพผ่านทางอินเทอร์เน็ตจากภายนอกบ้าน ผ่านทางเครือข่ายไร้สายอื่นๆ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนนั่งอยู่ที่บ้านเลยทีเดียว

Smart Health
จาก Smart Home มาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยพบเจอกันบ่อยๆ ก็คือการมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง บางบ้านอาจจะต้องจ้างผู้ดูแลซึ่งก็หาที่ไว้ใจได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จะดีกว่าไหมถ้าเราจะหาตัวแทนของเราในการดูแลผู้สูงอายุที่ไว้ใจได้ และแถมยังไม่บ่นไม่เหนื่อยกับการดูแลผู้สูงอายุในบ้านที่อาจจะเป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของเรา และที่สำคัญคอยแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุในบ้านเกิดงอแง อย่างเช่นไม่ยอมทานยาตามหมอสั่ง หรือหากในบ้านของคุณนั้นมีผู้พิการด้านการได้ยิน การจะสื่อสารกับเขานั้นก็คงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

_MG_1146

ใน Digital Pavilion นั้นมีการนำเอาหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า “ดินสอมินิ” มาแสดงเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีการนำหุ่นยนต์ดินสอมาร่วมในพิธีเปิดงานคอมมาร์ตอีกด้วย โดยหุ่นยนต์ดินสอเป็นหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ตัวแรกของประเทศไทย ด้วยเป้าหมายเพื่อทำหน้าที่ให้บริการมนุษย์ สามารถสื่อสารโต้ตอบกับมนุษย์ได้ โดยใช้เทคโนโลยีทางด้าน COMPUTATIONAL INTELLIGENCE ให้หุ่นยนต์จดจำภาษามือที่เป็นภาพเคลื่อนไหว สำหรับใช้สื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เปิดตัวแก่สาธารณชนในเดือนธันวาคม พ.ศ.2552

_MG_1149

หุ่นยนต์ดินสอ รุ่น 2 ถูกพัฒนามาจากหุ่นยนต์ดินสอ รุ่น 1 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์บริการตัวแรกของประเทศไทย : หุ่นยนต์ดินสอ 2 ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้มีประโยชน์ใช้สอยในการดูแลผู้สูงอายุ สามารถพัฒนาให้ปฏิบัติการได้หลายอย่าง เช่น แขนกลที่ออกแบบให้เลียนแบบกล้ามเนื้อแขนของมนุษย์ในการควบคุมการเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถพับงอหมุนได้ 7 จุดต่อ 1 แขน สามารถทำการเสิร์ฟอาหาร, หยิบสิ่งของ รวมถึงไหว้และโบกมือ

สามารถทำการโทรออกไปยังผู้ที่ต้องการติดต่อได้ พร้อมทั้งสามารถบันทึกรายชื่อผู้ที่ต้องการติดต่อไว้ในระบบฐานข้อมูลของหุ่นยนต์ดินสอรุ่น 2 ได้ มีการติดตั้งนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อ DinsowSpond ซึ่งเป็นระบบเรียกให้โทรกลับถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเรียกให้แพทย์หรือลูกหลาน ติดต่อกลับหาผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ สามารถทำงานโดยไม่มีวันหยุด และสามารถแบ่งเบาภาระการดูแลได้ 24 ชม. ผู้สูงอายุจะไม่ขาดการติดต่อหรือขาดการเฝ้าดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะห่างกันเพียงใด ซึ่งหุ่นยนต์ดินสอถูกพัฒนาให้สามารถปฏิบัติการได้หลายอย่าง อาทิ ทำงานเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ผู้สูงอายุสามารถโทรติดต่อหาลูกหลาน หรือโทรออกฉุกเฉินไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล คลินิกใกล้บ้าน สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง และมีระบบปฏิบัติการแบบ Real Time monitoring เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ลูกหลานสามารถดูแล และเห็นสภาพความเป็นไปของผู้สูงอายุจากที่ต่างๆ ได้

หุ่นยนต์ดินสอ

นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์เช็กสัญญาณชีพ Vital signs ส่งข้อมูลตรงไปยังแพทย์ผู้มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุรายนั้นๆ โดยตรง เสมือนเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำบ้าน ช่วยให้แพทย์สามารถเก็บข้อมูลผู้สูงอายุได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปที่โรงพยาบาล รวมทั้ง สามารถวัดไข้ ตรวจลมหายใจ ความชื้น เฝ้าดูการหลับ ตรวจจุดกดทับ และวัดคลื่นหัวใจ กรณีที่คนไข้มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติจะมี Alert เตือนทันที และยังสามารถโทรศัพท์ได้ โดยสามารถบันทึกรายชื่อผู้ที่ต้องการติดต่อในระบบฐานข้อมูลได้ ตลอดจน มีนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อ DinsowSpond ซึ่งเป็นระบบเรียกให้โทรกลับเพื่อให้แพทย์หรือญาติผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับได้อย่างรวดเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือ iPhone และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android โดยหุ่นยนต์มินิมีขนาดเล็กกะทัดรัดสามารถตั้งโต๊ะได้ สะดวกในการเคลื่อนย้าย และเป็นเด็กผู้ชายเพื่อให้เหมือนกับบุตรหลานดูแลผู้สูงอายุ

Smart Taxi “IoT ตัวจริง มาพร้อมความปลอดภัย”
เราพูดถึง Smart Home และ Smart Health ไปแล้ว แต่ถ้าถึงเวลาที่เราต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำธุระอะไรก็ตาม ทุกวันนี้การเลือกจะขับรถไปเองถือว่าเป็นตัวเลือกท้ายๆ ของคนไทยโดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพฯ การเดินทางโดยสารด้วยรถยนต์สาธารณะเลยเป็นตัวเลือกที่ดี โดยเฉพาะ “แท็กซี่” แต่ด้วยปัญหาที่ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า รถแท็กซี่วันนี้เรียกคันแรกแล้วไปเลยถือว่าคุณโชคดีที่สุด

หนึ่งในข่าวล่าสุดที่ทำให้หลายคนตื่นเต้นและตั้งตารอผ่านทางสื่อต่างๆ ก็คือ “นครชัยแอร์” ได้เปิดตัวบริการแท็กซี่ในฝันรูปแบบใหม่ “All Thai Taxi” ยกระดับการให้บริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย พร้อมการเรียกใช้ผ่านแอพพลิเคชันหรือโทร 1624 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

สิ่งที่น่าตื่นเต้นนั้นไม่ใช่เรื่องของรถแท็กซี่ใหม่ของ All Thai Taxi ที่ให้บริการด้วยรถโตโยต้าพรีอุสซึ่งเป็นระบบไฮบริดเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นยิ่งกว่า นั่นก็คือเทคโนโลยีที่อัดแน่นอยู่ในรถคันนี้ ด้วยการนำเอา Internet of Things มาใช้ในแง่มุมของธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก

จะว่าไปแล้วเรื่องของการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ผ่านทางแอพพลิเคชันนั้นวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่หากพูดถึงเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยียุคใหม่ที่มีการเชื่อมการทำงานของอุปกรณ์และระบบจัดการการขนส่งด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น นับว่าเป็นระบบแรกๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเลยทีเดียว รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ออกแบบและพัฒนาระบบการทำงานของ All Thai Taxi ออกความเห็นว่า “ถ้าพูดถึงระบบบริหารจัดการระบบขนส่งโดยเฉพาะรถแท็กซี่ ณ วันนี้ ต้องถือว่าไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน โดยที่ระบบของ All Thai Taxi นั้นจะไม่ใช่แค่ระบบเรียกแท็กซี่ผ่านแอพ แต่ภายใต้ระบบนี้เราได้พัฒนาให้ทั้งระบบสามารถบริหารจัดการในภาพรวมทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง Internet of Things หรือ IoT มาใช้”

all thai taxi

รศ.ดร.เอกชัย อธิบายต่อว่า “ในฝั่งของผู้ใช้บริการอาจจะเห็นว่าความสามารถของแอพพลิเคชันสำหรับการใช้บริการก็อาจจะเหมือนกับทั่วๆ ไปที่มีอยู่ หากแต่ว่าระบบของ All Thai Taxi ในฝั่งของระบบจัดการหลังบ้านนั้นเป็นเรื่องของบริหารจัดการภาพรวมของทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดเส้นทางให้กับผู้ขับในการไปรับผู้โดยสารตามลำดับคิวต่างๆ โดยที่ระบบหลังบ้านของเราจะคอยบริหารให้รถแต่ละคันนั้นให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อประโยชน์ทั้งในเรื่องของการบริหารต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังสามารถบริหารจัดการรถทั้งหมดทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนกะเวลาทำงาน รวมถึงการเติมเชื้อเพลิงต่างๆ ซึ่งระบบทั้งหมดจะสามารถบริหารจัดการและตรวจสอบให้รถทุกคันในระบบนั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

และอีกหนึ่งของสิ่งที่ทำให้ระบบจัดการนี้ล้ำกว่าระบบอื่นๆ ก็คือ รถของ All Thai Taxi ทุกคันจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่เชื่อมต่อเข้าหากัน ในการทำงานร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่พฤติกรรมการขับของพนักงานขับรถ การจอดรับผู้โดยสาร ตำแหน่งต้นทางปลายทางและเส้นทาง ณ ปัจจุบัน โดยที่ทั้งหมดจะเชื่อมเข้าหาอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็น Gateway ที่ทำหน้าที่ทั้งการประมวลผลต่างๆ ส่วนหนึ่งคือการรับข้อมูลจากทั้งศูนย์ข้อมูลที่ส่งผ่านทางเครือข่ายไร้สาย ที่ทำการประมวลผลแล้วส่งไปยังอุปกรณ์แท็บเล็ตที่แสดงปลายทางที่พนักงานขับต้องไปรับผู้โดยสาร

หรือจะเป็นการรับข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ บนรถยนต์ เช่น มิเตอร์ ที่เมื่อพนักงานเริ่มกดเพื่อเริ่มการเดินทางหรือกดเมื่อถึงปลายทาง Gateway นี้จะทำหน้าที่รับข้อมูลแล้วประมวลผลพร้อมส่งกลับไปยังศูนย์กลาง แถม Gateway ตัวเดิมนั้นยังเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ส่วนกลางของตัวรถยนต์ หรือที่เรียกว่า ECU ซึ่งในรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง พรีอุส นั้นเป็นระบบ OBDII ซึ่งข้อมูลทุกอย่างของตัวรถไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเร็ว การใช้พลังงาน ความเร็วต่างๆ จะถูกส่งออกจาก ECU ไปประมวลผลและเก็บไว้ที่ Gateway และส่งกลับไปที่ศูนย์กลางเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว Gateway ตัวเดิมจะมีหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังป้ายบนหลังคาในการแสดงข้อมูลต่างๆ เช่น ความเร็ว หรือบอกว่ารถว่างหรือถูกจองแล้ว เป็นต้น

รศ.ดร.เอกชัย บอกว่า “ระบบนี้จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการ และตรวจสอบการขับของพนักงานขับได้ เราสามารถตรวจสอบได้แม้กระทั่งว่า พนักงานแต่ละคนนั้นขับรถกระชากหรือนิ่มนวลเพียงใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเก็บมาใช้ประเมินการขับของแต่ละคนใช้เป็นคะแนนในการให้เงินโบนัสในแต่ละเดือน ด้วยความที่พนักงานขับของ All Thai Taxi จะเป็นพนักงานกินเงินเดือน นอกจากเงินเดือนและส่วนแบ่งแล้ว เขาจะมีโบนัสพิเศษจากคะแนนเหล่านี้”

รศ.ดร.เอกชัย ยังเสริมอีกว่า “ระบบของ All Thai Taxi ถือเป็นกรณีศึกษาในการนำเอา IoT มาใช้ในแง่ของธุรกิจที่ชัดเจน หากเป็นเมื่อก่อนการทำแบบนี้คงต้องพัฒนากันด้วยเวลาและเงินจำนวนมาก แต่เมื่อทุกวันนี้อุปกรณ์หลายอย่างสามารถเชื่อต่อกันได้ง่ายขึ้นด้วย IoT ก็อยู่ที่ว่าใครจะสามารถนำเอาไปปรับเข้ากับแนวคิดในการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

วิธีเรียกใช้ All Thai Taxi
สำหรับผู้ใช้บริการ ง่ายๆ เพียงคุณมีแอพพลิเคชัน All Thai Taxi (ณ วันที่บทความนี้ตีพิมพ์ผู้ใช้บริการทั่วไปอาจจะดาวน์โหลดกันได้แล้ว) ซึ่งก็คล้ายกับแอพพลิเคชันอื่นๆ ที่มีให้บริการ โดยคุณต้องกำหนดต้นทางและปลายทางที่จะไป จากนั้นระบบจะทำการแจ้งกลับมายังแอพพลิเคชันว่า รถที่จะมารับนั้นทะเบียนและชื่อพนักงานผู้ขับ และยังสามารถตรวจสอบได้ว่ารถคันนั้นอยู่ห่างจากคุณแค่ไหน และที่สำคัญผู้โดยสารยังสามารถระบุได้ว่าอยากได้พนักงานขับเป็นผู้หญิง

เมื่อผู้ใช้ส่งข้อมูลไปยังระบบแล้วศูนย์กลางระบบจะทำการประมวลผลและส่งงานไปยังรถคันที่ใกล้กับผู้โดยสารที่เรียกมากที่สุด โดยที่ระบบจะส่งคิวงานไปยังรถแท็กซี่ไปพร้อมกันทั้งหมด 4 คิวงาน โดยจัดสรรจากต้นทางและปลายทางที่แท็กซี่แต่ละคันถูกเรียกใช้งาน โดยระบบนี้จะประมวลผลทำให้เส้นทางของการใช้บริการนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับพนักงานขับรถ เมื่อเข้าทำงานและเปิดระบบพร้อมทำงานแล้วจะมีการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายเข้ามายัง Gateway เมื่อประมวลผลแล้วเส้นทางการทำงานนั้นจะปรากฏบนจอด้านหน้าของพนักงานขับรถ โดยจะมีทั้งแผนที่เส้นทางในการไปรับผู้โดยสารและพนักงานขับสามารถโทรติดต่อผู้โดยสารได้ทันทีเมื่อถึงที่หมาย

กลับมาที่มือถือของผู้โดยสาร เมื่อพนักงานขับรถมาถึงจะมีการแจ้งผ่านทางแอพพลิเคชัน และในขณะเดินทางผู้โดยสารสามารถแชร์ข้อมูลต่างๆ เช่น เส้นทาง ชื่อพนักงานขับไปยังญาติมิตร อีกทั้งยังสามารถให้คะแนนการให้บริการของพนักงานแต่ละคนได้ทันที ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะมีการกลั่นแกล้งได้เพราะระบบสามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลการขับจริงของพนักงานแต่ละคน

ทั้งหมดเป็นเพียงต่ออย่างของการนำเอา Smart Devices มาเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ Smart Life ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things ที่นำมาแสดงเอาไว้ในงาน Commart 2015 ยังมีอุปกรณ์อีกมากที่มีอยู่และกำลังจะมาถึง อยู่ที่คุณแล้วว่าจะรับมือกับมันอย่างไร ด้วยการนำมาใช้อย่างเกิดประโยชน์ได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพอสูงสุด