กระแสคลาวด์ คอมพิวติ้งมาแรง ส่งให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เก็บข้อมูล “ซีเกท” หันหัวรบสู่เทคโนโลยีคลาวด์ พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนขยายโรงงานการผลิตในไทยเพิ่มมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี

Seagate

จฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการหัวอ่านและบันทึกข้อมูล บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า ภายในปี 2020 ทั่วโลกจะมีข้อมูลถูกสร้างมากถึง 44 เซตะไบต์ มีการจัดเก็บอยู่บนคลาวด์ราว 65% มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 20% ต่อปี โดยในปี 2014 มีจำนวนข้อมูลถึง 1.5-1.6 เซตะไบต์ แรงผลักดันที่ทำให้ข้อมูลโตขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีคลาวด์ และ Internet of Things (IoT) อีกส่วนหนึ่งเป็นการสร้างข้อมูลโดยตัวบุคคลโดยเฉพาะรูปภาพและวิดีโอ การเติบโตของโมบายล์ดีไวซ์ และบิ๊กดาต้า ซึ่งนับจากนี้ไปจนถึงปี 2020 ในทุกๆ ปีจะมียอดจำหน่ายพีซีและโมบายล์ทั่วโลกจะมีถึง 2.5 พันล้านเครื่อง และจากปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะส่งผลต่อยอดขายของอุปกรณ์เก็บข้อมูลประเภท HDD และ NAND หรือ Flash Drive จะเติบโตสูงขึ้นในอีก 6 ปีข้างหน้า

“ซีเกท ไม่ได้ผลิตเพียงแค่ฮาร์ดไดรฟ์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าของไอทีมีมากขึ้น และซีเกทเองก็เข้าซื้อกิจการบริษัทใหม่ๆ มาเสริมทัพเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น บริษัท LSI ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี HD และ Flash Silicon บริษัท Xyralex เชี่ยวชาญระบบและเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ชั้นสูง บริษัทEvault เน้นการให้บริการโซลูชันไฮบริด รวมถึงบริษัท LACIE ที่จะมาตอบโจทย์ด้านตลาดคอนซูเมอร์ และทำให้ซีเกทมีบริการโซลูชันคลาวด์ที่ครบวงจร ตั้งแต่อุปกรณ์เก็บข้อมูลไปจนถึงระบบโซลูชันและบริการ” ผู้บริหารซีเกท กล่าวย้ำ

Seagate

สำหรับแนวโน้มความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอุปกรณ์เก็บข้อมูล จะเน้นไปที่ความจุของการจัดเก็บข้อมูลที่มากขึ้นบนขนาดเท่าเดิม ในขณะที่การผลิตจะมุ่งไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันโรงงานซีเกททั้ง 2 แห่งสามารถผลิตและส่งออกได้กว่า 6.5 แสนชิ้นต่อวัน ทำให้บริษัทมีแผนลงทุนขยายโรงงานการผลิตวิจัยพัฒนาที่มีอยู่เดิมในจังหวัดนครราชสีมา (โคราช) ด้วยเงินลงทุน 1.53 หมื่นล้านบาท (470.7 ล้านดอลลาร์) ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของโรงงานผลิตใน จ.นครราชสีมา โดยในปัจจุบันถือเป็นศูนย์ผลิตฮาร์ดไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซีเกท ทั้งนี้ อาคารใหม่ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มพื้นที่การผลิตขึ้นอีกร้อยละ 49 จากขนาดเดิม 160,060 ตารางเมตร เป็น 237,856 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ซีเกทสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น จากการเติบโตของเทคโนโลยีคลาวด์สตอเรจในปัจจุบัน

“จากการเติบโตของจำนวนข้อมูลที่มากขึ้น ทำให้เกิดการผลักดันและพัฒนาวิทยาการด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ตามมา อาทิ คลาวด์เซอร์วิส แอพพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ โอเพ่นซอร์ส คอมพิวติ้ง และโซเชียลมีเดียต่างๆ และด้วยระยะเวลามากกว่า 30 ปี ที่ซีเกทได้ดำเนินการลงทุนในประเทศไทยโดยวางกลยุทธ์ และตั้งฐานการผลิตเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของซีเกททั่วโลก โดยการสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมในโรงงานผลิตของเราที่โคราชครั้งนี้ จะช่วยให้ซีเกทสามารถตอบสนองความต้องการด้านการจัดเก็บข้อมูลที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ” เจฟฟรี่ย์ กล่าว

Tech3

ทั้งนี้ซีเกทได้ทำการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ซึ่งนับเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท (2.5 พันล้านดอลลาร์) เป็นเพราะทักษะความเชี่ยวชาญของแรงงานไทย โครงสร้างทางต้นทุนที่เหมาะสม และปัจจัยความสะดวกในด้านการขนส่งของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อไปยังประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวรวมถึงการก่อสร้างโรงงานผลิตระดับโลกสองแห่ง คือ ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และที่อำเภอเทพารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ปัจจุบันซีเกทมีพนักงานกว่า 16,000 คน ทำหน้าที่ปฏิบัติงานในส่วนการผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ส่วนการเงินที่ให้บริการแก่ซีเกททั่วโลก และส่วนงานด้านวิจัยและพัฒนา โดยโรงงานโคราชมีพื้นที่ 241,000 ตารางเมตร และมีส่วนที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการขนาด 160,060 ตารางเมตร นับเป็นศูนย์การผลิตฮาร์ดไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซีเกท

ซีเกท ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกจนถึงปัจจุบันโดยรวมทั้งสิ้น 1.78 ล้านล้านบาท (54.7 พันล้านดอลลาร์) นอกจากนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ทางบริษัทฯ ยังได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยเป็นจำนวนเงินถึง 1.8 พันล้านบาท (55.4 ล้านดอลลาร์)