หนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกใช้งานและประสบความสำเร็จในกลุ่มผู้ให้บริการระบบไอที คือการวางรากฐานเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา โ เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจเทคโนโลยี ได้ลงมือปฏิบัติ และเมื่อบุคลากรเหล่านี้จบและไปทำงาน ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยีของแบรนด์นั้นมาใช้ในองค์กร

Huawei

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการระดับโลกในด้านเครือข่าย เป็นผู้ประกอบการอีกแบรนด์หนึ่งที่เดินหน้าตามแนวทางนี้เช่นกัน จากความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาสู่ความร่วมมือในปี 2560 กับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้าน Work-based Education

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดหาโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำระดับโลก จัดพิธีมอบทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพและนวัตกรรมสำหรับนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักศึกษาเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ และการนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาโครงงานด้านเทคโนโลยีและสามารถนำมาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดประสิทธิผล รวมถึงนำไปใช้ได้จริง ซึ่งนับเป็นก้าวใหม่ของความร่วมมืออย่างมุ่งมั่นในการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ โดยผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

มร.โรบิน หลู รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่วว่า ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก นับเป็นจุดเด่นที่เชื่อมั่นได้ว่าองค์กรให้ความสำคัญด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมอันล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง

และ PIM ในฐานะภาคการศึกษาที่มีองค์ความรู้ทั้งทางวิชาการสั่งสมอยู่จำนวนมาก รวมถึงจุดแข็งด้านจัดการศึกษาในรูปแบบ Work-based Education ที่หล่อหลอมหลักสูตรผ่านระบบการเรียนการสอนเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จึงถือเป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกันอย่างบูรณาการ โดยพิธีดังกล่าวจัดขึ้น ณ อาคารซีพีออลล์อคาเดมี่ ชั้น 16 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถ.แจ้งวัฒนะ

Huawei
รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะดำเนินการในรูปแบบของโครงการจัดประกวดการแข่งขัน Smart Store Solution สำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระดับปริญญาตรีและโท รวมทั้งเปิดกว้างให้กับนักศึกษาคณะวิชาอื่น ๆ ที่สนใจ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 150 คน

นอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษาพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทดสอบโซลูชันรวมมูลค่ากว่า 7 แสนบาทแล้ว หัวเว่ยยังสนับสนุนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในสาขาอาชีพ ทั้งจากบริษัท หัวเว่ย และบริษัท โกซอฟท์ ในฐานะพันธมิตรด้านการพัฒนาโซลูชันเพื่อให้ความรู้และแนะนำแนวทางให้กับนักศึกษา ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรม

มร.โรบิน หลู รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า หัวเว่ยยังจัดเตรียมอุปกรณ์ IoT Gateway เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ทดสอบโซลูชันภายในระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้นักศึกษาสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แก้ปัญหา เสริมสร้างความเป็นนักนวัตกรรม นักประดิษฐ์ ที่สมบูรณ์แบบ

อีกทั้งหัวเว่ยยังได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเข้าใช้ Huawei OpenLab Bangkok ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในไทยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อทดสอบโซลูชันหรือแนวคิด Smart Store Solution ของตนเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการนำร่องในระยะแรกจะมุ่งเน้นเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์ การสร้างความแตกต่างร้านสะดวกซื้อให้เป็น Smart Store ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการตลอดจนการบริการของทางร้าน โดยพิจารณาจากแนวคิดและโครงงานต้นแบบที่สามารถใช้ในการยืนยันผลการทำงานจริง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2560

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จะเป็นหนึ่งในอุดมศึกษาต้นแบบในการพัฒนาระบบ IoT Gateway ภายใต้แนวคิดของการจัดการร้านค้าแนวใหม่ หรือ Smart Store Solution ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของร้านค้าปลึกที่กำลังจะเกิดขึ้นและแพร่หลายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้

โดยนอกเหนือจากหัวเว่ยแล้ว ปัจจุบันยังมีผู้ให้บริการหลายรายที่เปิดตัว Smart Store Solution เช่น “เหอหม่า” ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ Alibaba นำแนวคิดของ Smart Store Solution มาให้บริการจนเกิดประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวจีน