คุณค่าของเทคโนโลยีคลาวด์เกิดจากการให้บริการและความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจได้ Harvey Norman คือหนึ่งในบริษัทที่ได้นำเทคโนโลยีคลาวด์มาปรับปรุงธุรกิจ

วันนี้เทคโนโลยีโมบายและคลาวด์ คอมพิวติ้ง จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในทุก ๆ ส่วน โดยจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานของธุรกิจรวมถึงวิธีการในการสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะนำมาถึงความยั่งยืนของธุรกิจ

โดยมีหลายกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายกรณีที่ได้ประโยชน์จากการทำดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชัน ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม

ตัวอย่างแรกที่เห็นได้ถึงการใช้คลาวด์เปลี่ยนรูปแบบคือ Harvey Norman บริษัทที่ทำธุรกิจด้านค้าปลีกอุปกรณ์ไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีสาขากว่า 230 สาขาในหลายประเทศ จากการที่มีสาขาในหลายประเทศทำให้ ประสบปัญหาในการจัดการระบบเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซการซื้อคูปองส่วนลด (Daily Deals) ของ Harvey Norman เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสซื้อสินค้าในราคาที่ประหยัดขึ้นในทุก ๆ ครั้ง

จากการทำตลาดรูปแบบนี้ส่งผลให้เว็บของบริษัทมีผู้เข้ามาใช้งานเว็บไซต์กว่า 100,000 ครั้งต่อชั่วโมง จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้บริษัทต้องลงทุนระบบโครงสร้างต่อเนื่อง และไม่สามารถคำนวนหาความต้องการใช้งานที่แท้จริงได้ในช่วงที่มีการใช้งานน้อยได้

ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างจึงกลายเป็นงบสิ้นเปลืองที่ทาง Harvey Norman ได้หาทางออกและมาจบที่การใช้บริการบนคลาวด์ในรูปแบบของ Infrastructure-as-a-Service (IaaS) ของ Microsoft Windows Azure ซึ่งย้ายมาใช้บริการบริหารจัดการโครงสร้างผ่านคลาวด์ทำให้ Harvey Norman สามารถที่จะดูรายการการเข้าใช้บริการได้ง่าย ๆ แถมยังดูปริมาณการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์มากขึ้นได้

จะเห็นได้ว่าคลาวด์นั้นได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน แม้แต่ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ก็มีการนำเอาเทคโนโลยีคลาวด์เข้าไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน โดยบริษัทผลิตยาที่ชื่อว่า Molplex ซึ่งผลิตยาเพื่อรักษาผู้ป่วยทั่วโลกได้พยายามคิดค้นหาวิธีการใช้ข้อมูลของสารเคมีชีวภาพ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากส่วนผสมทางเคมีชีวภาพ มาผลิตยาเพื่อรักษาโรคภัยใหม่ ๆ ที่มีการกลายพันธุ์และต้องการยารักษา

แต่ด้วยการที่ปริมาณข้อมูลของสารเคมีชีวภาพนั้นมีจำนวนมหาศาล ทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่สามารถผลิตยาได้อย่างรวดเร็วเพราะต้องเสียเวลาในการสืบค้นค้นคว้าและทำการวิจัย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงและกว่าจะได้คำตอบก็จะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน

ทาง Molplex จึงได้มองหาวิธีที่จะช่วยย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยของทางไมโครซอฟท์ (Microsoft Research) และสร้างระบบซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเรียกว่า Molplex Clouds Against Disease ขึ้น ซึ่งซอฟต์แวร์นี้ช่วยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถลดเวลาและลดการคัดกรองกลุ่มข้อมูลที่เกี่ยวกับส่วนผสมทางเคมีซึ่งเป็นส่วนในการผลิตยา

โดยเป็นข้อมูลที่อยู่ใน Data Center ร่วมไปถึงความสามารถในการเข้าถึงเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลได้เร็วระดับโลกทำให้สามารถลดเวลาลงไปอย่างมาก และทำให้การค้นหายาเพื่อรักษาโรคที่เกิดขึ้น อย่าง มาลาเรีย, วัณโรค (Tuberculosis) และไข้เลือดออก (Dengue fever) จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายปีเหลือเพียงแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น

Harvey Norman
และในกรณีของผู้ประกอบการหน้าใหม่สตาร์ทอัพ การใช้เทคโนโลยีคลาวด์จะมอบโอกาสให้สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ เช่นกรณีของทีม TradeHero ที่ได้พัฒนาทำเว็บแอพพลิเคชันเกมสำหรับวางแผนการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จ

โดยสมาชิกจะต้องจ่ายเงินให้เป็นค่าสมัครรายเดือนเพื่อติดตามการตัดสินใจของผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นไอเดียที่จะทำให้สมาชิกคนนั้นประสบความสำเร็จเช่นกัน ซึ่งทาง TradeHero มีความกังวลว่าเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น การบริการจะต้องสามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้องมีความยืดหยุ่น โดยสามารถที่จะปรับขนาดการใช้งานได้อย่างอิสระเพื่อรองรับปริมาณการเข้าใช้งานมาก ๆ ได้

และด้วยการที่ TradeHero นั้นใช้ ลินุกซ์ (Linux) ทำให้ต้องการแพลตฟอร์มที่หยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อระบบปฏิบัติการที่ใช้อยู่ ทางทีม TradeHero จึงตัดสินใจที่จะใช้แพลตฟอร์มคลาวด์และส่งผลให้สามารถเปิดตัวแอพพลิเคชันได้โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน โดยปัจจุบันมีผู้ใช้แอพฯ นี้แล้วกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก (ยกเว้นประเทศจีน) และมีการทำธุรกรรมเสมือนจริงผ่านแอพฯ แล้วกว่า 12,300,000 รายการ

เพื่อให้ใกล้ตัวของผู้ที่สนใจใช้คลาวด์เทคโนโลยีในไทย ตัวอย่างความสำเร็จของ BuzzeBees น่าจะสะท้อนให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น โดยแอพฯ ของ BuzzeBees เป็นแอพฯ ที่นำเอาคอนเซ็ปต์ของเกมมาประยุกต์ใช้ (Gamification) ซึ่งเป็นในรูปแบบของการสร้างกลไกภายในแอพฯ อาทิ การกำหนดกิจกรรมให้ทำมีการนำเสนอแต้ม, Leaderboards, Levels, Badge ต่าง ๆ มาประยุกต์เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาเพื่อการกระตุ้นและดึงความสนใจให้คนมาเข้าร่วม

ซึ่งความพิเศษของ BuzzeBees คือผู้ใช้สามารถเล่น Facebook และรับ Points ไปพร้อม ๆ กัน โดยที่คะแนนที่ได้เหล่านั้นสามารถที่จะนำมาแลกกับโปรโมชันพิเศษหรือสินค้าฟรีจากร้านค้าชั้นนำทั่วไป

ซึ่งการที่แอพฯ จะต้องรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมาก และต้องสามารถรองรับการเติบโตของผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว (Scalability) และต้องสามารถทำงานกับอุปกรณ์พกพาหลากหลายแพลตฟอร์ม (Cross Platform) อีกทั้งด้วยความต้องการที่จะขยายไปยังกลุ่มผู้ใช้ในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ๆ

ทางผู้พัฒนาแอพฯ จึงได้ตัดสินใจที่จะใช้บริการด้านโครงสร้างบนคลาวด์แทนการลงทุนในด้านโครงสร้าง (Infrastructure) เอง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ BuzzeBees สามารถประหยัดต้นทุนและกำไรได้อย่างมหาศาล และปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ระดับ 100 ล้านบาทแล้ว

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าองค์กร บริษัท ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ล้วนแต่หาช่องทางในการลดต้นทุน ลดเวลา ลดความยุ่งยากในบริหารจัดการด้านไอที ซึ่งสำคัญมากและเกี่ยวข้องกับความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะการซื้ออุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การอัพเดตซอฟต์แวร์ และการอัพเกรดระบบ ต่างมาพร้อมกับต้นทุนและต้องการการบำรุงรักษาในระยะยาว

ในขณะที่องค์กรเองก็ต้องการความยืดหยุ่น และไม่ยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และปรับตัวเข้ากับอนาคตได้เร็วกว่าคู่แข่ง ดังนั้นคลาวด์ คอมพิวติ้ง จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในแง่ของเพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาส และยังช่วยประหยัดต้นทุน ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรและเดินหน้าเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ติดตามเรื่องน่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่ >> Theleader