เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) กำลังเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ นับตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป็นนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

L1

ภายใต้พันธกิจหลักของศูนย์ C asean คือ การสร้างศูนย์กลางองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นด้าน การเริ่มต้นธุรกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรมของภูมิภาคอาเซียน สร้างการเชื่อมโยงที่ทรงประสิทธิภาพแก่ประชาคมอาเซียน และสร้างเวทีสำหรับผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงศักยภาพ ทั้งทางด้านธุรกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยจะชักชวนภาคธุรกิจเอกชน ในตลาดอาเซียนให้มีส่วนร่วมสนับสนุนด้วย

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ C asean ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ELEADER ว่า จากความมุ่งมั่นที่จะสร้าง C asean DNA ศูนย์กลางองค์ความรู้เชื่อมโยงสู่อาเซียน ดังนั้นทางทีมงาน C asean จึงได้ร่วมกับบริษัทกูเกิล เอเซีย จัดทำสมุดปกขาว (White Paper) ด้วยการจัดทำรายงานผลวิจัยกลุ่มเล็กๆขึ้น เพื่อต้องการรับรู้ถึงมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีของรัฐบาลจากทุกภาคส่วนเพื่อนำส่งความคิดเห็นจากภาคเอกชนต่อไปถึงรัฐบาล เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีต่อไป

การวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 80% โดยการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้อง พบว่ากลุ่มคนดังกล่าวนี้ ไม่มีความกังวลในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพราะเชื่อว่าจะมีการพัฒนาและขยายการให้บริการได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมีข้อกังวลและเป็นห่วงเรื่องการสร้างความเข้าใจและข้อผิดพลาด โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการบริหารของภาครัฐที่ยังยึดติดอยู่ในเรื่องความคิด การพัฒนาระบบความปลอดภัย ความไม่เชื่อมั่นในระบบด้านความมั่นคงและด้านการเงิน

“การมุ่งไปสู่สังคมดิจิทัล คือ การสร้างเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม แต่กลับมีความเข้าใจการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจต่อเรื่องดิจิทัล อีโคโนมีคือสิ่งสำคัญและเชื่อว่าดิจิทัล อีโคโนมี มีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมอย่างสูง แต่วิธีคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรม จำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบนอกกรอบ (Breakthrough)” ดร.กานดี กล่าวย้ำ

ผนึกกูเกิล สร้างความเข้าใจเพื่อผลักดันสู่ความเป็นจริง
กรรมการผู้จัดการ C asean กล่าวอีกว่า ผลจากการทำวิจัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแนวความคิดในการจัดงานสัมมนาร่วมกับบริษัทกูเกิล ภายใต้หัวข้อเรื่อง Digital Economy: From Good to Great ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 นี้ ณ ศูนย์ C asean อาคารไซเบอร์เวิลด์ ชั้น 10 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีเปิดกว้างรับฟังบุคคลทั่วไป ที่มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลมาแสดงความคิดเห็น และช่วยกำหนดทิศทางในอนาคต โดยภายในงานจะมีตั้งแต่ผู้เกี่ยวข้องหลัก อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง Government goal of digital economy และ พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวภายใต้หัวข้อเรื่อง “From Good to Great: what Thailand have in mind for Digital Economy”

ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดสัมมนาครั้งนี้ ทางทีมงานจะนำความคิดเห็นมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในและต่างประเทศ องค์กรธุรกิจ ภาคการศึกษา ประชาชนและภาครัฐ เพื่อมาเติมเต็มในส่วนของนโยบายรัฐบาลให้ดีมากยิ่งขึ้น

ดิจิทัล อีโคโนมีสู่การปฏิวัติระบบเศรษฐกิจใหม่
ทั้งนี้เชื่อว่าดิจิทัล อีโคโนมี จะนำมาซึ่งการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจใหม่ (Revolution) จากยุคอุตสาหกรรมการผลิต (Industrial Economic ) และก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึง Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยในขณะนี้ตนได้เป็นหนึ่งในการร่างนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับดิจิทัล แพลตฟอร์มมาโดยตลอด เนื่องจากมองเป็นระบบกระดูกสันหลัง หรือ Backbone สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

ดร.การดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ต้องการให้นโยบาย Digital Economy เป็นแค่เพียงแค่เคมเปญ พูดขึ้นมาแล้วหายไป แต่ต้องให้มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นเส้นทางการพัฒนาประเทศโดยไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างและผลการศึกษาจาก 3-4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น และอีกสองประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบว่าประเทศมาเลเซียไม่เคยพูดเรื่องดิจิทัล อีโคโนมี แต่กลับสามารถพัฒนาและยกระดับประเทศ จนกระทั่งขณะนี้ส่งเสริมและสนับสนุนผลักดันให้เกิดกลุ่มธุรกิจคนรุ่นใหม่หรือ Young Start Up ประสบความสำเร็จได้อย่างดี จะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้ใช้คำว่า ‘ดิจิทัล อีโคโนมี’ จึงอยากสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยใหม่ ให้มองว่าดิจิทัล คือ เส้นทางเดินใหม่ของประเทศที่จะต้องก้าวไปในอนาคต