5G

ผลการศึกษา 5G ในภูมิภาคอาเซียน พบว่าภายในปี 2568 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนพร้อมใช้งานเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจ แต่!! ส่วนใหญ่ยังติดเรื่องการจัดสรรคลื่นใหม่…

highlight

  • ความท้าทายที่สำคัญที่สุด ของ 5G คือการที่ย่านความถี่ที่เปิดให้บริการยังช้าเกินไปสำหรับรองรับบริการ 5G ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  • ในภูมิภาคอาเซียน อุปสรรคที่ขัดขวางความคืบหน้าในการดำเนินการก็คือ การมีเครือข่ายทีวีดาวเทียมในย่านความถี่กลาง (3.5 GHz) และการใช้ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz) เพื่อรองรับฟรีทีวี
  • หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนพัฒนาที่ชัดเจนสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่โดยเร็วที่สุด

5G กับโอกาสการเติบโตของธุรกิจ

จากรายงานผลการศึกษา 5G ในอาเซียน จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กร และผู้บริโภค (5G in ASEAN : Reigniting growth in enterprise and consumer markets) ที่สำรวจโดย ซิสโก้ และ เอ.ที. เคียร์เน่ ระบุว่า เทคโนโลยี 5จี จะยังคงเป็นเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เติบโต

โดยความตื่นตัวของผู้บริโภคต่อประเด็น 5จี เป็นผลมาจากการพัฒนาศักยภาพของการเชื่อมต่อโมบายล์ บรอดแบนด์ที่เร็วขึ้น และการเชื่อมต่อไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Access หรือ FWA) ขณะที่ในส่วนขององค์กร ผู้ให้บริการ และลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ

โดยอาศัยความสามารถในการแบ่งเครือข่ายของ 5จี รวมถึงรูปแบบการใช้งานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากความสามารถในด้านการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาต่ำ การเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ และการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น ทำให้สามารถรองรับการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง การเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์

และการนำเสนอคอนเทนต์แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วย Augmented Reality และ Virtual Reality (AR/VR) ให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันการใช้งาน 5จี ในหลากหลายรูปแบบที่ก้าวล้ำมากขึ้น เช่น สมาร์ทซิตี้อุตสาหกรรม 4.0, เครือข่าย IoT (Internet of Things) ขนาดใหญ่ และอื่น ๆ

ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถเพิ่มรายได้ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภค และลูกค้าองค์กร สำหรับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน 5จี จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับภาคคอนซูมเมอร์ 6-9% และเพิ่มรายได้ให้กับภาคธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ 18-22% ภายในปี 2568

โดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มว่าจะลงทุนราว 10,000 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับความต้องการที่จะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ของผู้บริโภค โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนการใช้งาน 5จี จะอยู่ที่ประมาณ 25-40% ในประเทศหลัก ๆ ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 

5G

ซึ่งคาดว่าจำนวนลูกค้า 5จี ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนจะเกิน 200 ล้านรายในปี 2568 โดยอินโดนีเซียจะครองส่วนแบ่งมากที่สุด และรองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ขณะที่ ประเทศไทย สัดส่วนการใช้งาน 5จี จะมีถึง 33% และจะช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยได้มากถึง 34,000 ล้านบาท (1.1 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี 2568 

ขณะที่ การเชื่อมต่อไร้สายแบบประจำที่ (FWA) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ใช้มากถึง 3 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียน เช่น ในอินโดนีเซีย แต่การดึงดูดลูกค้าที่เน้นเรื่องความคุ้มค่า จำเป็นต้องอาศัยการเปิดให้บริการเป็นส่วน ๆ และต้องมีการวางแผนที่ดี โดยมุ่งเน้นจุดสำคัญ ๆ ของตลาด

โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ซึ่งหากวางแผนดีก็จะทำให้ผู้ให้บริการมีโอกาสที่จะรวมบริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-top หรือ OTT) เข้ากับการเชื่อมต่อ 5จี และปรับใช้โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอคุณภาพที่แตกต่าง หรือนำเสนอบริการเครือข่ายภายในองค์กร

5G

นาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า นับเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเปิดตัวการให้บริการ 5จี สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพราะปัจจุบันการรับส่งข้อมูลบนระบบเซลลูลาร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ใช้มีการใช้งานบริการ และคอนเทนต์ต่าง ๆ บนอุปกรณ์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้

ขณะเดียวกัน การรวมบริการเชื่อมต่อที่พัฒนามาดีขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการสามารถนำเสนอโซลูชั่น และแอปพลิเคชั่น ด้วยการผสานเข้ากับโซลูชั่น และแอปพลิเคชั่นจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และยกระดับรูปแบบการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าขึ้นได้

และช่วยพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR – Fourth Industrial Revolution) ที่ขับเคลื่อนด้วย AI, IoT, ระบบการพิมพ์ มิติระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งการปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ

5G

วัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสำคัญ ๆ เช่นภาคการผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยี 4IR การเปิดให้บริการ 5จี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี

และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังรอคอยการเปิดตัว 5จี เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้เนื้อหาบนอุปกรณ์ส่วนตัวของพวกเขา แนวโน้มทั้งสองนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ด้าน ดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของซิสโก้ กล่าวเสริมว่า การเปิดให้บริการ 5จี จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง

เพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4จี และสร้างขีดความสามารถด้าน 5จี อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ระบบ 4จี และ 5จี ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น ขณะที่ผู้ให้บริการจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนทุน และ ROI ที่ยั่งยืน  

ความท้าทายในการสร้าง 5จี อาเซียน

ในช่วงเริ่มต้น อาเซียนจะต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากในการปรับใช้งาน 5จี และเพื่อให้การใช้งาน 5จี ได้อย่างเต็มศักยภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการ และองค์กรต่าง ๆ แต่ปัจจุบันการเปิดให้บริการย่านความถี่ที่เหมาะสม ยังงานช้าเกินไปสำหรับบริการ 5จี

ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ระบบ 5จี จะได้รับการติดตั้งใช้งานบนหลายย่านความถี่ โดยมี 3 ย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz), ย่านความถี่กลาง (3.5-4.2 GHz) และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24-28 GHz)

ในภูมิภาคอาเซียน ย่านความถี่เหล่านี้กำลังถูกใช้งานสำหรับบริการอื่น ๆ เช่น ย่านความถี่ต่ำใช้สำหรับฟรีทีวี และย่านความถี่กลางใช้สำหรับบริการดาวเทียม แม้ว่าสเปกตรัม mmWave จะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบ จำเป็นที่จะต้องรวมย่านความถี่ต่ำเข้าไว้ด้วย

เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเขตชานเมือง และชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร แต่ในภูมิภาคอาเซียน อุปสรรคที่ขัดขวางความคืบหน้า คือ การมีเครือข่ายทีวีดาวเทียมในย่านความถี่กลาง (3.5 GHz) และการใช้ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz) เพื่อรองรับฟรีทีวี ซึ่งใช้ช่วงคลื่นนี้อยู่

5G

วันนี้หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้อง ออกมาจัดทำแผนพัฒนาที่ชัดเจนสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Re-Farming) โดยเร็วที่สุด โดยกำหนดราคาใบอนุญาตอย่างสมเหตุสมผล มีความเป็นกลางในเรื่องของเทคโนโลยี และปรับเปลี่ยนการจัดสรรย่านความถี่ทั้งหมด

เพื่อรองรับสภาพคล่องในตลาดคลื่นความถี่ สนับสนุนการขายส่งให้แก่บริษัทที่ไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพื่อรองรับตลาดองค์กร และอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีอื่นที่เป็นทางเลือก อย่างเช่นที่ ปัจจุบัน หลายองค์กรหันไปใช้เทคโนโลยีอื่น

เช่น LTE, Wi-Fi 6 และเครือข่าย IoT ที่หลากหลาย แม้ว่าจะดูเหมือนว่าตัวเสริมการทำงานของ 5จี ให้ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังถือว่าเป็นคู่แข่งกับเทคโนโลยี 5จีด้วยเช่นกัน

“ดังนั้นการขับเคลื่อนการใช้งาน 5จี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานกำกับดูแลในเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน การรองรับ และกำหนดข้อบังคับสำหรับการแบ่งใช้เครือข่ายแบบพาสซีฟ และแอคทีฟ รวมถึงนโยบายที่สนับสนุนบริกาสำหรับองค์กร และการติดตั้งเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ” นาวีน เมนอน กล่าว

5G

อย่างไรก็ดี ด้านผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5จี โดยกำหนดราคาอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง ผู้บริโภคมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับ 5จี และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งแตกต่างเทคโนโลยี 3จี และ 4จี

ดังนั้นผู้ให้บริการจึงไม่ควรเข้าร่วมในสงครามตัดราคาเพียงเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก และหวังว่าจะสามารถคิดค่าบริการเพิ่มในภายหลัง ขณะที่ในส่วนขององค์กรขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นที่จะต้องสร้างความสามารถใหม่ ๆ และรวมบริการเชื่อมต่อเข้ากับโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ

เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และขยายการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะต้องรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวแก่องค์กร

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com, www.nokscoot.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ eleaderfanpage