NTT

NTT Communications ประกาศพร้อมสนับสนุนองค์กรในประเทศไทยก้าวสู่ ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี เชื่อองค์กรในไทยส่วนใหญ่อยากเปลี่ยนแปลง เพียงแต่รอเวลา และความมั่นใจ แต่ไม่ควรให้รอจนพร้อม เพราะการแข่งขันขึ้นอยู่กับ “เวลา” ที่วัดผลแพ้ชนะกันที่ความรวดเร็ว

NTT  Raise the standard of ICT in Thailand

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะวงสนทนาไหน ล้วนต้องมีการถกเถียงเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันว่ากำลังเป็นไปในทิศทางใด ต่างคนต่างประสบภาวะที่ไม่เหมือนกัน มีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องต่างกัน ทำให้คำตอบที่ได้ก็มีดีบ้างไม่ดีบ้างปะปนกันไป

สิ่งหนึ่งที่ทุกธุรกิจต้องยอมรับก็คือ สภาพแวดล้อมรอบตัวนั้นไม่ได้เหมือนกับการทำธุรกิจเมื่อ 20-30 ปีก่อนอีกต่อไป ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว หลายอย่างเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ Disruption จู่ ๆ ก็มาแล้วพลิกเปลี่ยนทุกอย่างที่เราเคยรู้จักจนหมดสิ้น

ตัวอย่างง่าย ๆ หากเป็นสมัยก่อนเราต้องการซื้อโทรทัศน์สักเครื่องหรือรถยนต์สักคัน อย่างมากก็ได้แค่คุยกับเพื่อนฝูงคนรู้จัก และพึ่งข้อมูลหลัก ๆ จากตัวแทนจำหน่ายละแวกบ้าน 2-3 แห่ง แต่ปัจจุบันเราใช้ทั้งสื่อโซเชียล ใช้เว็บบอร์ด เช็กราคาจากร้านค้าออนไลน์ เช็กราคาขายสินค้าแบบเดียวกันในต่างประเทศ

อ่านรีวิว สอบถามปัญหา ดูความน่าเชื่อถือของบริษัท ฟังเสียงวิจารณ์จากรอบข้าง ที่สำคัญเราไม่จำเป็นต้องพึ่งร้านค้าใกล้บ้านอีกต่อไป ในงานวิจัยจากอินโนไซต์ระบุว่า บริษัทระดับโลกใน S&P 500 กำลังมีอายุสั้นลง เดิมเคยมีอายุเฉลี่ย 61 ปี (ปี 1958) แต่ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้น่าจะเหลืออายุเฉลี่ยเพียง 18 ปีเท่านั้น

ที่สำคัญ 75% ของยักษ์ใหญ่ระดับโลกเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยบริษัทอื่นภายในปี 2027 ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากฮาร์วาร์ด บิซิเนส รีวิว ที่ระบุว่า 1 ใน 3 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ จะล้มหายตายจากไป (อาจล้มละลาย เลิกกิจการ เข้าซื้อกิจการ ฯลฯ) ในอีก 5 ปีข้างหน้า

NTT

หากมองดี ๆ จะเห็นว่ามีบริษัทจำนวนมากเริ่มแผนการด้าน Business Transformation กันมาพักใหญ่แล้ว จากขายคอมพิวเตอร์ก็เปลี่ยนมาขายแกดเจ็ต จากผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลก็มาลุยตลาดโฆษณา และไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ จากเบอร์หนึ่งด้านโซเชียลมีเดียก็กลายมาเป็นตลาดโฆษณาขนาดใหญ่

เพราะการอยู่เฉย ๆ อาจทำให้เจอบริษัทหน้าใหม่ที่อยู่ดีๆ ก็โผล่มาจากอีกซีกโลกหนึ่ง พร้อมโมเดลประหลาด ๆ ที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงทั้งเรียกรถรับจ้าง เปิดคอนโดตัวเองให้เป็นห้องพัก บริการเทียบราคาประกันแบบ Real-time หรือเรียนภาษากับคุณครูตัวเป็น ๆ ซึ่งนั่งสอนอยู่ที่บ้าน

บทความ “What Do You Really Mean by Business Transformation?” ในฮาร์วาร์ด บิซิเนส รีวิว ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การมุ่งเน้นเพื่อ “ทำวันนี้ให้ดีขึ้น” เทียบได้กับการหยิบโมเดลของเมื่อวานมาใช้อย่างชำนาญ และนี่เป็นเพียงทางเอาตัวรอดระยะสั้น แต่ขาดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

การปฏิวัติธุรกิจและโลกของไอซีที

Business Transformation มีแง่มุมที่หลากหลายทั้งเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการ อดีตร้านเช่าดีวีดีออนไลน์ในสหรัฐฯ รายหนึ่ง ได้กลายมาเป็นผู้ให้บริการ OTT (Over the Top) ยักษ์ใหญ่ของโลก ระดับที่ว่ากิน Bandwidth กว่า 1 ใน 3 ของประเทศ และหากยังยึดโมเดลเดิมป่านนี้คงไม่เหลือชีวิตรอดในยุคโมบายแน่นอน

การปฏิวัติธุรกิจมีความใกล้ชิดกับโลกของไอซีทีเป็นอย่างมาก อย่างที่ทราบว่าไอซีทีถือเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญ และหลายครั้งเป็นเครื่องมือที่ใช้ชี้วัดชะตากรรมความอยู่รอดด้วยซ้ำ ความคิดเดิม ๆ ที่มองว่า ก็เคยทำแบบนี้มา ก็ยังทำแบบนี้ต่อไป และมันก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร.. ใช้ไม่ได้ในยุคนี้!!

สัปดาห์ก่อนทาง บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดบ้านต้อนรับกอง บ.ก. นิตยสาร ELEADER เพื่อแชร์วิสัยทัศน์ด้านไอซีที และการยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานระบบไอซีทีในไทยและเออีซีให้ก้าวเข้าสู่ระดับสากล

“คนไทยเป็นคนฉลาดและเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ญี่ปุ่นก็เคยเป็นแบบเดียวกัน ท้ายที่สุดบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลง”

NTT

มานาบุ คาฮาระ ประธานบริษัท กล่าวว่า เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ เป็นบริษัทชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นระดับโลกในลักษณะโซลูชันไอซีทีแบบครบวงจร ตั้งแต่บริการให้คำปรึกษา ออกแบบสถาปัตยกรรม และโครงสร้างระบบ ดูแลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และให้บริการคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพ

และมีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ทั่วโลก 140 แห่ง เป็นความจริงที่ว่าบริษัทจำนวนมากยังคงมองเรื่องไอซีทีเป็นเรื่องภายใน เพราะเกี่ยวพันกับกระบวนการธุรกิจและข้อมูลความลับต่าง ๆ มากมาย แต่ไอซีทีในยุคนี้เป็นยุคติดจรวดที่เพียงแค่เราหลับตาลงแค่เสี้ยววินาที

ลืมตาขึ้นมาอีกครั้งเราอาจเห็นคู่แข่งยืนนำหน้าเราไปอยู่บนแพลตฟอร์มใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่า ที่ผ่านมามีบริษัทในไทยหลายแห่งที่ไม่เคยอัพเดตเซิร์ฟเวอร์ของตนเองเลยนับตั้งแต่ติดตั้งมาเมื่อหลายปีก่อน และกลายเป็นอาหารอันโอชะสำหรับบรรดาแฮกเกอร์ที่ชอบลองของ

ต้องยอมรับว่าองค์ความรู้ด้านไอทีในระดับองค์กรของเรายังมีไม่ทัดเทียมประเทศอื่น อีกทั้งการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในหลายบริษัทก็ยังมีไม่มาก

ด้าน ศานิต เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการแผนกผลิตภัณฑ์และบริการ ของ บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทบางแห่งอาจไม่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่แท้จริง อาจมองเรื่องต้นทุนเพียงมิติเดียว ดังนั้นโปรเจ็กต์ด้านไอซีทีที่สำคัญจึงถูกคว่ำด้วยงบประมาณและฝ่ายการเงิน

ปัญหาของการมีตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของแต่ละแผนก คือทุกคนมุ่งตอบสนอง KPI ของตน เพราะกระทบกับผลงาน (รวมถึงโบนัส) โดยตรง ดังนั้นตราบใดที่ทิศทางและวิสัยทัศน์ร่วม หรือผู้บริหารสูงสุดไม่ได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ก็ยากที่จะเกาะกระแสโลกและอาศัยเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อนำพาธุรกิจให้รอดไปจนถึงทศวรรษหน้า

“ประเทศไทยกำลังพบปัญหาเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุและยุคขาดแคลนประชากร ดังนั้น เรื่องประสิทธิภาพของธุรกิจงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การปฏิวัติองค์กรและธุรกิจของตนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ งานบางอย่างที่เคยดำเนินการกันเองภายในควรเปลี่ยนให้ผู้ชำนาญระดับโลกเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ก็เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะแม้แต่บริษัทระดับโลกเองก็ใช้โมเดลแบบนี้เช่นเดียวกัน” มานาบุ กล่าว

 

NTT

ความซับซ้อนที่มาตรฐานระดับโลกช่วยคุณได้

หนังสือธุรกิจ การตลาด ปรัชญา การเมือง หรือคู่มือทำอาหาร แม้จะผ่านไปหลายปี แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ก็ยังคงนำมาปรับใช้ในปัจจุบันได้ ทุกวันนี้เรายังยึดทฤษฎีบริหารธุรกิจหลายชิ้นที่นักคิดได้รังสรรค์ไว้ตั้งแต่ร้อยปีก่อน แต่หนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และไอที ที่วางอยู่บนแผงเพียงแค่ 1 ปี

อาจมีค่าเพียงแค่เศษกระดาษที่ไม่คุ้มกับการสละเวลามานั่งอ่านอีกต่อไป เพราะโลกไอซีทีเดินหน้าเร็วจนเราตามไม่ทัน เช่นเดียวกัน มิติโครงสร้างและสถาปัตยกรรมระบบไอซีทีสำหรับองค์กรก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเรื่องไอซีทีไม่ใช่แกนหลักในการดำเนินธุรกิจ

การทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากด้วยการลงทุนเองทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก ผู้ผลิตเครื่องกีฬาชั้นนำระดับโลกเลือกที่จะยุบสายการผลิตของตัวเองหันไปจ้างผู้ผลิตเอาต์ซอร์ส แล้วผันตัวเองมาเป็นผู้ออกแบบและทำการตลาดแบบเต็มตัว จนสร้างผลกำไรมหาศาลและมีกิจการที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

ดูเผิน ๆ อาจเป็นการตัดสินใจที่ไม่เข้าท่า แต่สภาพการแข่งขันทุกวันนี้ไม่ได้เชื่องช้าเหมือนแต่ก่อน ดังนั้น การสลัดภาระทั้งหมดและโฟกัสไปที่แกนหลักที่สำคัญที่สุดขององค์กร นอกจากจะช่วยลดต้นทุนได้อย่างมากแล้ว ยังเพิ่มความคล่องตัวและสามารถรับมือกับสถานการณ์รอบด้านได้อย่างรวดเร็วด้วย

สำหรับบริษัทส่วนใหญ่แล้ว การลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยตัวเองแทบจะไม่ใช่แนวทางที่คุ้มค่าเลย ทั้งเรื่องงบประมาณ องค์ความรู้ การรักษาความปลอดภัย ระบบจัดการ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ นี่เป็นเหตุผลที่ บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในเครือ สามารถครองตลาดได้เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อแจกแจงตัวเลขให้ลูกค้าเห็นได้ชัดเจนว่า แต่ละวิธีมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร และทิศทางใดคุ้มค่ามากที่สุด เอ็นทีที คอม มี Bangkok 2 Data Center ซึ่งถือเป็นที่สุดของความสมบูรณ์แบบแห่งนวัตกรรม “ศูนย์ข้อมูล” ภายใต้ชื่อ Nexcenter ที่ครบครันด้วยบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

บนพื้นที่อาคารขนาด 10,000 ตารางเมตร เทียบเท่าจำนวนตู้แร็คมากถึง 1,500 ตู้ มีระบบไฟฟ้าแบบ Dual-Path พร้อมระบบสำรองไฟฟ้าที่รับประกันการจ่ายไฟ 100% เป็นแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นศูนย์ข้อมูลที่ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัย 8 ระดับ เพื่อการปกป้องข้อมูลแบบรอบด้าน

ที่สำคัญยังเป็นบริษัทแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ได้รับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูลสำหรับการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (PCI DSS : The Payment Card Industry Data Security Standard) เวอร์ชัน 3.2 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุด

เพื่อช่วยควบคุมและลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกง รวมถึงป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ครอบคลุมผู้ให้บริการบัตรเครดิตได้ทั่วโลก ได้แก่ American Express, Discover, JCB, MasterCard และ Visa

สุทธิพัฒน์ ลือประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทคโนโลยี บริษัท ดิจิทอล พอร์ท เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เอ็นทีที คอม กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มตื่นตัวในด้านนี้ โดยเฉพาะในยุคที่มองเห็นภัยบนโลกไซเบอร์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สมัยก่อนเราต้องอธิบายกันว่า ดาต้าเซ็นเตอร์คืออะไร

แต่ทุกวันนี้โจทย์หลักคือ การพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่าการเอาต์ซอร์สให้มืออาชีพอย่างเรา มีข้อดีกว่าการทำเองอย่างไร เราเป็นบริษัทระดับโลก และเรามีลูกค้าที่เป็นบริษัทระดับโลก ดังนั้น มาตรฐานของเราคือมาตรฐานระดับโลก ยิ่งเราได้ PCI DSS เป็นรายแรกของไทย ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเราในเรื่องดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น

“จากเดิมที่ธุรกิจของเรามีความแข็งแกร่งในตลาดอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันเรากำลังก้าวเป็นผู้นำในฐานะผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีสำหรับภาคการเงินและธนาคาร ตลอดจนบรรดาฟินเทคต่างๆ”

NTT

การลงทุนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

มานาบุ กล่าวเสริมว่า “เวลา” ก็คือ ต้นทุนที่สำคัญเช่นกัน และเทคโนโลยีทั้งในด้านดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ หรือโครงสร้างระบบแบบซอฟต์แวร์ดีไฟน์ (Software-defined) ต่างล้วนช่วยผลักดันธุรกิจ

ให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกเครื่องกระบวนการทำงานแบบเดิมและทำให้องค์กรต่าง ๆ มีเวลาในการมุ่งเน้นกับแกนหลักธุรกิจของตนเองได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“สิ่งเหล่านี้คือการลงทุนที่จะช่วยลดต้นทุนในอนาคต เราจะได้ความยืดหยุ่น ได้เวลากลับคืนมา ใช้จำนวนคนดูแลลดลง มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น และสามารถรับมือกับความเสี่ยงหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในอนาคตได้ดีกว่าเดิม” 

ในสภาวะที่เศรษฐกิจและการแข่งขันบีบรัดตัวทำให้หลายองค์กรมองภาพเพียงมิติเดียว มองเพียงเงินที่ใช้ไปและเงินที่จะได้กลับมา ทำให้หลายครั้งไม่สามารถปรับกระบวนธุรกิจใหม่ให้ทันต่อการแข่งขันในยุคนี้ได้ ทั้งที่จริงแล้วหากวิเคราะห์ตัวเลขในทุกจุดจะเห็นว่า

ประโยชน์ของการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนี้ มีประโยชน์แฝงซึ่งแทรกซึมไปทั่วทุกจุดในองค์กร จะมากหรือน้อยอาจแตกต่างไปตามประเภทของธุรกิจ เหมือนกับเรื่องของการซื้อประกันภัย เงินที่จ่ายทิ้งทุกปีดูเหมือนว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ระยะสั้นอันใด

เช่นเดียวกับการลงทุนในระบบไอซีทีที่ทันสมัย หากมองเฉพาะเม็ดเงินที่ต้องใช้ นั่นอาจเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่หลายบริษัทเลือกที่จะตัดทิ้ง (เพราะเห็นว่าไม่มีก็ไม่เห็นเป็นอะไร) แต่ที่จริงนั่นคือการลงทุนในอนาคตที่จะช่วยปรับเปลี่ยนทุกส่วนในองค์กรให้เดินหน้าต่อไป และช่วยยกระดับประสิทธิภาพของธุรกิจให้สูงสุด

“โจทย์สำคัญก็คือการเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพ และพิจารณาประโยชน์ให้รอบด้าน อย่างเรื่องคลาวด์ ไม่ใช่แค่การประหยัดต้นทุนแต่ยังเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจได้อีกมาก”

มาซาโตชิ ซึโบอิ รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์และบริการ และศูนย์ข้อมูล ของเอ็นทีที คอม กล่าวว่า แจ็ค คาร์ ผู้เขียนหนังสือ “Does IT Matter?” ซึ่งสร้างกระแสถกเถียงในแวดวงไอทีมากมายระบุว่า

หากพิจารณาโดยรอบจะเห็นว่าไอทีอาจไม่สามารถสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่มันกำลังกลายเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องมีเพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ และการลงทุนด้านไอทีก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จแต่อย่างใด

หากพิจารณาให้ดีจะทราบว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น นำมาซึ่งความเสี่ยงให้แก่องค์กรและธุรกิจพอสมควร เทคโนโลยีใดคือ Hype และเทคโนโลยีใดที่ Solid หากไม่ได้คลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว อาจเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ

และอาจต้องเสียเงินลงทุนมหาศาลเพื่อแลกเทคโนโลยีที่ใช้ได้เพียงชั่วคราวแล้วก็ผ่านเลยไป ปีที่แล้วทางดีลอยต์ ได้เผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับไอทีเอาต์ซอร์สและบริการ Managed Services ซึ่งบ่งชี้ชัดเจนว่าบริษัทกว่า 59% สามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่าเดิม

และ 1 ใน 3 มองเรื่องการเอาต์ซอร์สในฐานะเครื่องมือที่ช่วยขจัดปัญหาด้านขีดจำกัดของระบบ ด้านการขยายกิจการสู่ระดับโลก และด้านการเข้าถึงแหล่งทรัพย์สินทางปัญญาที่ทันสมัย ขณะเดียวกันก็ระบุด้วยว่าการใช้บริการเอาต์ซอร์สนั้นช่วยประหยัดเวลาในการติดตั้งระบบได้อย่างชัดเจน

คำถามสำคัญสำหรับบริษัทในยุคนี้ก็คือ คุณเลือกที่จะยืนอยู่นิ่งๆ กับที่ หรือจะก้าวเดินไปข้างหน้า และหากเลือกที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า คุณจะก้าวไปกับใคร?

NTT

ก้าวสู่เออีซี .. ก้าวสู่ตลาดโลก

บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดูแลตลาดทั้งในประเทศไทย พม่า กัมพูชา และลาว นอกจากนี้ยังมีได้รับการยอมรับทั้งในตลาดเอเชียและในระดับโลก ที่สำคัญถือเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกที่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมา ทางเอ็นทีทีได้รับใบอนุญาตในฐานะผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับลูกค้าองค์กร ภายใต้ชื่อ Digi-Path Premier ซึ่งร่นระยะเวลาการส่งมอบบริการวงจรเชื่อมต่อจากปกติประมาณ 6 เดือน

เหลือเพียงราว 1 เดือนเท่านั้น และเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งเปิดตัวศูนย์ข้อมูล Myanmar Yangon Kamayut Data Center ระดับเทียร์ 3 และใช้มาตรการรักษาความปลอดภัย 7 ระดับ พร้อมรับประกันการจ่ายไฟฟ้า 99.995% อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายทั่วโลกของ เอ็นทีที คอม อีกด้วย

ยังไม่นับรวมศูนย์ข้อมูลที่ปลอดภัย 140 แห่งทั่วโลก วงจรเชื่อมต่อความเร็วสูงบนระบบเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก เครือข่ายเคเบิลใต้ทะเล Asia Submarine-Cable Express บริการ Global Management One และบริการ Eye-on Managed Service

ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นระบบนิเวศทางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีอันสมบูรณ์แบบและครบวงจรที่สุด ในขณะที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยมากมาย นี่ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญที่บริษัทของไทยจะขยายกิจการไปยังประเทศใกล้เคียงหรือแม้แต่ตลาดโลก

โดยอาศัยเส้นทางซูเปอร์ไฮเวย์ที่ราบรื่นและได้มาตรฐาน ดังนั้นผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายระดับโลกจึงถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ เพราะไม่ใช่เพียงแค่บริการระดับมืออาชีพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์ความรู้ การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

ตลอดจนการบริหารดูแลระบบอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถมุ่งเน้นไปที่กิจการหลักซึ่งสร้างรายได้และผลกำไรได้อย่างเต็มที่ เหตุผลอีกหนึ่งประการของการมีพาร์ตเนอร์ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกก็คือ ความปลอดภัยและประสบการณ์ที่ต้องปฏิบัติงานภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับ

ทั้งของประเทศต่าง ๆ และกฎเกณฑ์ในระดับสากล เพื่อให้ทุกส่วนของโครงสร้างพื้นฐานระบบไอซีทีมีความเป็นมาตรฐานและสอดคล้องตามข้อกำหนดทั้งหมด

“เราออกแบบโซลูชันตามความต้องการและลักษณะธุรกิจของลูกค้า เราดูแลโซลูชันแบบครบวงจร ไฮบริดคลาวด์ เวอร์ชวลเดสก์ทอป เวอร์ชวลออฟฟิศ นี่เป็นเพียงบางส่วนที่เราพร้อมช่วยเหลือลูกค้าในการยกระดับและปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่” ศานิต กล่าว

มาซาโตชิ ยังเสริมด้วยว่า “เอ็นทีที คอม มีทรัพยากรอันทันสมัยมากมาย เราพร้อมให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในทุกด้าน เราให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหา ช่วยวิเคราะห์ และให้มุมมองตามมาตรฐานระดับโลกอย่างแท้จริง”

ก่อนจากกัน นิตยสาร ELEADER ขอฝากคำถามเกี่ยวกับโอกาสในการยกระดับภาพรวมด้านไอซีทีในประเทศไทย ตลอดจนความหวังในการบรรลุเป้าหมายแห่งยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

“ความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยกำหนดทิศทางในการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่ง บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็พร้อมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไอซีทีในประเทศไทย เพื่อยกระดับให้ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก” มานาบุ คาฮาระ ประธานบริษัท เอ็นทีที คอม กล่าวทิ้งท้าย

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
**** บทสัมภาษณ์ จาก Eleader Magazine 341 July 2017

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่