พูดคุยกับผู้พัฒนาแป้นพิมพ์ “มนูญชัย” ที่สร้างทางเลือกใหม่ในการพิมพ์บน Windows และ Mac ด้วย AI และ Dataset จำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้การพิมพ์ “ง่าย” ขึ้น และช่วยให้ “ไม่ปวดมือ”

ปัจจุบัน เมื่อทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ดเป็นอุปกรณ์หลักในการพิมพ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจสงสัยและไม่กล้าตั้งคำถามคือ แป้นพิมพ์ที่เราใช้อยู่นั้นมีโครงสร้างที่้เหมาะกับการพิมพ์จริงๆ หรือยัง เพราะบางครั้งการกดตัวพยัญชนะ สระ และอักขระบางตัว ก็ช่างกดยาก แถมยังหายากเสียเหลือเกิน

แรกเริ่มเดิมทีแป้นพิมพ์ 2 อันที่ถูกคิดค้นขึ้นมา ประกอบด้วย แป้นพิมพ์ “เกษมณี” คิดค้นโดย คุณสุวรรณประเสริฐ เกษมณี ออกแบบเพื่อให้กับเครื่องพิมพ์ดีดเป็นหลัก แต่ต่อมากลายเป็นแป้นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสำหรับการพิมพ์บนระบบคอมพิวเตอร์

หน้าตาโครงแป้นพิมพ์ “เกษมณี”

ต่อมาจึงมีแป้นพิมพ์ “ปัตตะโชติ” เป็นผังแป้นพิมพ์ภาษาไทยอีกอันที่คิดค้นโดยคุณสฤษดิ์ ปัตตะโชติ แม้ถูกทางการกำหนดให้เป็นแป้นพิมพ์มาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้พอสมควร

หน้าตาโครงแป้นพิมพ์ “ปัตตะโชติ”

วันนี้เราจึงมาพูดคุยกับ คุณมนัสศานติ์ มนูญชัย ผู้พัฒนาแป้นพิมพ์ “มนูญชัย” ที่สร้างทางเลือกใหม่ในการพิมพ์บน Windows และ Mac ซึ่งจะช่วยให้การพิมพ์ “เร็ว” ขึ้น และช่วยให้ “ไม่ปวดมือ” ได้ไม่มากก็น้อย

ต้องการสร้างแป้นพิมพ์ใหม่ที่ “ทันยุคทันสมัย”

คุณมนัสศานติ์ เริ่มบอกกับเราถึงจุดประสงค์ในการสร้างแป้นพิมพ์นี้ขึ้นมาว่า เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมถึงตัวภาษาไทยเองนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงทำให้เขาอยากลองสร้างแป้นพิมพ์ไทยตัวใหม่ที่ “ทันยุคทันสมัย” ขึ้นมา

ประกอบกับเห็นว่า ในวงการแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษก็มีการพัฒนาแป้นพิมพ์ทางเลือกที่นอกเหนือจาก QWERTY ขึ้นมา เช่น Colemak และ Dvorak เป็นต้น ดังนั้นคงไม่เสียหายอะไรหากจะมีการพัฒนาแป้นพิมพ์ไทยแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ชาวไทย

ส่วนคุณสมบัติที่ควรมีในแป้นพิมพ์ใหม่ มีด้วยกัน 5 ข้อ คือ

1. ใช้เลขอารบิก (0–9) แทนเลขไทย (๐-๙) : การใช้เลขอารบิกแทนเลขไทยเป็นหลัก จะทำให้ลดการเปลี่ยนภาษาสลับไปมาในการพิมพ์ ลดการใช้แป้นพิมพ์แบบ Numpad (โซนแป้นพิมพ์ที่มีแต่ตัวเลข) การปรับครั้งนี้ยังทำเพื่อให้รองรับ คีย์บอร์ดยุคใหม่และแลปทอปที่ไม่มี Numpad เป็นหลักแล้ว

2. ไม่มีตัวอักษรไทยบนแถวตัวเลข : ในแป้นพิมพ์เกษมณี จะมีตัว ภ, ถ, สระอุ, สระอู, ค, ต, จ, ข, ช บนแถวตัวเลข ซึ่งทำให้ต้องขยับมือไปไกล มีโอกาสทำให้พิมพ์ผิดได้มากกว่า

3. เอาตัวอักษรที่ไม่ใช้แล้วออก เอาตัวที่ไม่ใช้บ่อยไปไว้ไกลๆ : การนำตัวอักษรลงมาจากแถวตัวเลข ทำให้เราต้องนำตัวที่ไม่ใช้แล้วออกไป เช่น ฃ, ฅ, ฦ, ๏ และนำตัวที่ใช้ไม่บ่อยไปไว้ในตำแหน่งขวามือสุดเหนือปุ่ม Enter เช่น ฑ, ฬ, ฌ, ฯ

4. ใช้ Dataset ที่ทันสมัยจำนวนมาก : ปัจจุบันเรามี Dataset จำนวนมากแล้ว ทำให้เรามีข้อมูลในการพัฒนาแป้นพิมพ์แบบใหม่มากขึ้น เมื่อเราใช้ข้อมูลจำนวนที่มากพอจะทำให้ลดความเอนเอียง (Bias) ในการพัฒนาได้ ส่งผลให้แป้นพิมพ์นี้เหมาะกับการใช้ทั่วไป มากกว่าการพิมพ์แค่บทความหรือนิยายโดยเฉพาะ ในอดีตแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ พัฒนาจากบทความเพียง 50 บทความ ซึ่งแต่ละบทความละ 1,000 ตัวอักษร เท่านั้นเอง

5. ใช้โค้ดในการจัดวางแป้นพิมพ์ : การประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้โค้ดและ Algorithm ในการประมวลผลแป้นพิมพ์ที่ Optimized และมี Bias ต่ำออกมา โดย Algorithm ที่ใช้จะดัดแปลงจากโปรเจกต์ Carpalx เพื่อให้เข้ากับบริบทของแป้นพิมพ์ภาษาไทย

เริ่มกระบวนการสร้างแป้นพิมพ์ใหม่ด้วยการใช้ AI และ Dataset จำนวนมากเข้ามาช่วย

ขั้นตอนในการพัฒนา คุณมนัสศานติ์ เปิดเผยว่า ขั้นตอนแรก คือ การสร้าง Model เพื่อนำชุดคำไปประมวลผล โดยคำนวณความพิมพ์ง่ายของแป้นพิมพ์ โดยมีหลักการสำคัญๆ อย่างเช่น ลดการใช้งานนิ้วที่ไม่แข็งแรง, เน้นการใช้งานแป้นเหย้า, ลดการใช้นิ้วซ้ำกันในการพิมพ์, เฉลี่ยการพิมพ์มือซ้ายขวาให้เท่ากับ และการทำให้แป้นพิมพ์สร้างการสลับมือในการพิมพ์คำ และนำมาประมวลผลร่วมกับตัวชุดคำภาษาไทยในเงื่อนไขต่างๆ

ต่อมาก็ทำการกำหนดคะแนนความยากและง่ายในการพิมพ์แต่ละตัวอักขระบนแป้นพิมพ์เกษมณี โดยกำหนดคะแนนความยากและง่ายได้ดังนี้

  • ถ้าไม่มีการกด Shift เลย : 0 คะแนน (พิมพ์ง่ายที่สุด)
  • กด Shift 1 ใน 3 ตัวอักษร : 1 คะแนน
  • กด Shift ทั้ง 3 ตัวอักษร : 2 คะแนน
  • กด Shift 2 ใน 3 ตัวอักษร แบบ Monotonic (sSS หรือ SSs) : 2 คะแนน
  • กด Shift 2 ใน 3 ตัวอักษร แบบ Non-monotonic (SsS) : 3 คะแนน (พิมพ์ยากที่สุด เพราะต้องปล่อยและกด Shift ใหม่)

เมื่อมีโมเดลแล้ว ขั้นตอนที่ 2 คือ การหาคลังคำและบทความเพื่อมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแป้นพิมพ์ โดยข้อความจากหลายๆ แหล่งมาใช้ ลดความ Bias ของข้อมูล แหล่งของคลังคำมีดังนี้

  • 5,000 คำที่ใช้บ่อย จากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ ภาควิชาภาษาศาสตร์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • Wongnai Corpus จากแอปรีวิวร้านอาหารชื่อดัง
  • Wisesight Sentiment Corpus จากกลุ่ม PyThaiNLP
  • ThaiSum ชุดข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยรัฐ, ไทยพีบีเอส, ประชาไท และ เดอะแสตนดาร์ด
  • ข้อความบนทวิตเตอร์ที่เป็นภาษาไทย ซึ่งมีขนาดรวมแล้วมากกว่า 10 GB

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็เริ่มทำการรันโค้ดเพื่อ Optimize แป้นพิมพ์เพื่อให้เกิดแป้นพิมพ์ใหม่ที่เหมาะสมกันได้เลย และเมื่อการประมวลผลเสร็จสิ้นเราก็จะได้แป้นคีย์บอร์ดแบบใหม่ที่เหมาะสมแก่การพิมพ์ภาษาไทยมาแล้ว

ข้อดีที่ได้ประเมินและเปรียบเทียบกับแป้นพิมพ์เกษมณีและปัตตะโชติ

  • ตัวอักษรไทยบนแป้นพิมพ์เกษมณีมีความไม่สมดุล โดยหนักไปทางมือขวาถึง 70% แต่แป้นพิมพ์มนูญชัยจะมีน้ำหนักโดยสัดส่วน มือซ้าย:มือขวา อยู่ที่ 47%:53% ทำให้ช่วยให้การพิมพ์ไม่เมื่อยจนเกินไป
  • แป้นพิมพ์มนูญชัย พิมพ์ง่ายกว่าแป้นพิมพ์เกษมณีถึง 45% ขณะที่แป้นพิมพ์ปัตตโชติ พิมพ์ง่ายกว่าแป้มพิมพ์เกษมณีเพียง 18.68%

ย้ำเป็น “แป้นพิมม์ทางเลือก” เท่านั้น

คุณมนัสศานติ์ ขอบคุณทุกคนที่ให้สนใจกับแป้นพิมพ์มนูญชัยเป็นอย่างมาก โดนตอนนี้ชุมชนสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแป้นพิมพ์มนูญชัย บน Discord มีสมาชิกประมาณ 200-300 คนแล้ว ถือว่าเกินความคาดหมายไปไกลมาก และทำให้ได้ความเห็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาให้รองรับกับสมาร์ตโฟน หรือพบว่าบางคนใช้ สระอือ เป็นประจำแต่แป้นพิมพ์กลับนำไปไว้ที่นิ้วก้อย ซึ่งเขาไม่สะดวกพิมพ์ จึงเปิดให้เขาลองย้ายปุ่มบางปุ่มด้วยตนเอง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หากพูดถึงอนาคตของ “แป้นพิมพ์มนูญชัย” สัก 5 ปีหลังจากนี้ คุณมนัสศานติ์มองว่าอาจจะยังไม่เปลี่ยนโครงแป้นพิมพ์นี้ไปอีกสักพักใหญ่ ยกเว้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษาอย่างนัยสำคัญ เช่น ตัว ฃ และ ฅ มีการใช้มากขึ้น อาจจะต้องย้ายออกมาอยู่แป้นพิมพ์หลัก ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้หากเป็นแบบนั้นจริงๆ

“หลายคนไปมองว่า ผมต้องการให้ทุกคนเปลี่ยนจากแป้นพิมพ์เกษมณีมาใช้มนูญชัย แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดแบบนั้น และก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ด้วย เพราะว่าทุกคนก็ยังคงใช้ Qwerty (แป้นพิมพ์หลักของภาษาอังกฤษ) อยู่ แต่ QWERTY ก็ยังอยู่มาจนทุกวันนี้ และแป้นพิมพ์มนูญชัยก็คงไปอยู่ในจุดที่เป็นทางเลือกเท่านั้น”