ในตอนแรกเราพูดถึงวิธีการของการเตรียมพร้อมบุคคลากรรับ Digital Transformation ในตอนที่สองนี้จะเป็นวิธีอีกรูปแบบหนึ่งที่องค์กรต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี

องค์กรต้องสร้างเพื่อนร่วมงานแบบดิจิทัลที่ชาญฉลาดเพื่อทำงานร่วมกันกับพนักงานโดยการสร้างระบบสนับสนุนความฉลาดขององค์กร (Smart Support System) ระบบสนับสนุนความฉลาดขององค์กรจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถรวบรวมทรัพยากรข้อมูลที่มีคุณค่าอยู่กระจัดกระจายอยู่อย่างกว้าง

ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรมาสังเคราะห์เชิงลึกตามบริบทของความรู้ที่ต้องการเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การที่องค์กรมีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ชาญฉลาดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในการตอบสนองการบริหารงานประจำและการตอบสนองการบริการลูกค้าได้ตรงตามความต้องการเพิ่มมากยิ่งขึ้น

องค์กรต้องสร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานร่วมกันของพนักงาน เพราะในช่วงของการเริ่มต้นปฏิรูปองค์กรนั้น ขอบเขตการทำงานขององค์กรจะดูมืดมัว รวมถึงแพลตฟอร์มของรูปแบบการดำเนินงานทางธุรกิจ การขาดความเข้าใจของการสนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัลที่หลากหลาย

และการปฏิรูปกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจใหม่แทนกระบวนการทำงานแบบเดิม เป็นเรื่องที่ไม่สามารถรับผิดชอบเพียงคนหนึ่งคนใดได้ หากแต่ว่าต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของพนักงานทั่วทั้งองค์กร การหาพันธมิตรและความร่วมมือกับทั้งภายในและภายนอกองค์กรจึงถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา พนักงานจะทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับพนักงานจากบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรกัน

บางองค์กรอาจมีความร่วมมือภายในและระหว่างทีมงานของพนักงานที่กระจายอยู่ตามภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ องค์กรจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันโดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

องค์กรจะต้องสร้างเครื่องมือพื้นฐานเพื่อใช้ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบดิจิทัล เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงความอุดมสมบูรณ์ของข้อมูลในการบูรณาการการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และตัดสินใจในการดำเนินงานทางธุรกิจให้กับองค์กร

เพราะถ้าข้อมูลขององค์กรไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงานและระบบสารสนเทศต่าง ๆ ที่มี องค์กรก็จะประสบปัญหาที่จะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่จะสามารถสร้างผลประโยชน์และคุณค่าให้กับองค์กร อีกทั้งพนักงานส่วนใหญ่และเกือบทั้งหมดที่องค์กรจะว่าจ้างใหม่ในยุคดิจิทัลนี้ต่างก็มีอุปกรณ์สมาร์ตโฟนพกติดตัวทุกคน

ในยุคปัจจุบัน สมาร์ตโฟนมักจะเป็นแหล่งข้อมูลแรกที่พนักงานจะใช้ในการค้นหาหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญกับพวกเขา องค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบสารสนเทศทางธุรกิจต่าง ๆ ที่องค์กรคาดว่ากลุ่มคนเป้าหมายหลักจะใช้ให้สามารถใช้งานได้บนสมาร์ตโฟน รวมถึงการออกแบบโปรแกรมประยุกต์ที่ดีให้แพร่กระจายการใช้งานไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีการอบรมใด ๆ ก่อนการใช้งาน

เช่น Facebook และ Instagram เป็นต้น ความคาดหวังของการใช้งานแบบเดียวกันโดยสัญชาตญาณจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีขององค์กร ฉะนั้นทุกองค์กรต้องมีการวางลำดับความสำคัญในการสร้างระบบบูรณาการข้อมูลและแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ การเข้าถึงการใช้งานระบบด้วยสมาร์ตโฟน และการออกแบบระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อเริ่มต้นการเดินทางที่จะสร้างองค์กรแห่งอนาคต

องค์กรต้องวางแผนการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและเปลี่ยนทักษะของพนักงานให้มีความรู้ความสามารถทางด้านดิจิทัลในการดำเนินงาน เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่บทบาทการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยรับผิดชอบโดยแรงงานความรู้ โดยเฉพาะองค์กรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานทางธุรกิจไปสู่ดิจิทัลในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ตามแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0”

โดยใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและองค์กร เช่น เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) เทคโนโลยีอาหาร (FoodTech) เทคโนโลยีสุขภาพ (HealthTech) เทคโนโลยีการแพทย์ (MediTech) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (RoboTech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีการออกแบบ (DesignTech) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (TravelTech) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing) เป็นต้น

ซึ่งองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานทางธุรกิจสู่การเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบนั้น องค์กรจะต้องเตรียมแรงงานที่มีทักษะความรู้ความสามารถทางด้านดิจิทัลที่หลากหลายใหม่ ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientists), นักออกแบบประสบการณ์ดิจิทัล (Digital Experience Designers), นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developers) และนักวิคราะห์ข้อมูล (Data Analysts) เป็นต้น

ด้วยความขาดแคลนของทักษะที่สำคัญและความคล่องตัวมากขึ้นของแรงงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ถ้าองค์กรไม่สามารถเตรียมความพร้อมทางด้านทักษะความรู้ความสามารถทางด้านดิจิทัลให้ได้ตามความต้องการขององค์กร องค์กรอาจจะต้องพิจารณาถึงทางเลือกในการที่จะผสมผสานพนักงานขององค์กรให้ทำงานร่วมกันกับมือปืนรับจ้าง ผู้รับเหมา และแรงงานจากทางบ้านในทักษะที่องค์กรไม่สามารถพัฒนาเองได้

ทั้งนี้ในส่วนของภาคการศึกษาก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมใช้ตามความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีเพิ่มมากขึ้น สถาบันอุดมศึกษาต้องมีความตื่นตัวในการพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะทางด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความสามารถทางดิจิทัล และทักษะเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นกำลังช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ในอนาคต

ปัจจัยมนุษย์จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลขององค์กร กระบวนการและปัจจัยด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาจะช่วยแนะนำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลขององค์กรให้เป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพเพื่อเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมองค์กรดิจิทัล

ถ้าองค์กรยังลังเลหรือไม่ต้องการที่จะรีบเร่งในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลในช่วงเวลานี้ ค่าใช้จ่ายของความล่าช้าในการเปลี่ยนแปลงองค์กรและการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามเวลาที่หมุนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นภายหลังเพื่อไล่ตามคู่แข่งทางธุรกิจที่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลก่อนที่องค์กรของเราจะคิดตอบสนองได้ ก็อาจจะไม่ทันการแล้ว

ติดตามตอนแรกได้ ที่นี่