5 แนวโน้มภาคการเงินปี 2019 อาจจับมือกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนฯ และให้ความสำคัญกับ SMEs และธุรกิจที่เจาะตรงถึงผู้บริโภค เพื่อให้รองรับการเติบโตของตลาด…

highlight

  • ในปี 2019 นี้เราคงได้เห็นธุรกิจการเงินหันมาใช้เทคโนโลยี บิ๊กดาต้า (Big Data) และ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง  (IoT) เข้ามาช่วยในการออกผลิตภัณฑ์ และตั้งราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้ให้บริการได้อย่าง สะดวก และรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง

5 แนวโน้มเทคโนโลยีภาคการเงินปี 2019 เพื่อ SMEs

ปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการทางการเงินได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นกรอบกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นจากการมีสตาร์ตอัพด้านฟินเทค รวมทั้งการที่ผู้เล่นเดิมในตลาดต่างทุ่มทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

ซึ่งการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นยากอยู่แล้ว ยิ่งอนาคตของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น บริการทางการเงิน ก็ยิ่งประเมินได้ยากมากขึ้น แต่เมื่อมองปี 2019 โดยรวม ก็พอจะเห็นสัญญาณจากบรรดาธนาคาร บริษัทประกัน และบริษัทจัดการสินทรัพย์สำคัญ ๆ

ในไทย และในเอเชียแปซิฟิก ที่พากันยกเครื่องเทคโนโลยีขององค์กรใหม่ เพื่อให้รองรับความร่วมมือหรือประสานระบบกับยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีให้ได้ ซึ่งในปีนี้เราคงได้เห็นธุรกิจการเงินหันมาใช้เทคโนโลยี บิ๊กดาต้า (Big Data) เข้ามาช่วยในการออกผลิตภัณฑ์แบบใหม่

และปรับราคาให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาโซลูชั่นดิจิทัลที่รองรับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยแนวโน้มในภาคบริการทางการเงินต่อไปนี้ เป็นเพียงสรุปโดยรวม แต่ก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพว่าในปี 2019 จะมีอะไรแปลกใหม่ในอุตสาหกรรม เทรนด์หลัก ๆ ที่น่าติดตามในปีนี้ ได้แก่

ยกระดับเทคโนโลยี เพื่อประสานระบบ และร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ในวงการดิจิทัล

SMEs

สิ่งสำคัญสำหรับธนาคารและบริษัทประกันภัยที่ก่อตั้งมานานคือ การอัปเดต และยกระดับเทคโนโลยีเอนเทอร์ไพรซ์ และความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ให้ทัดเทียมหรือก้าวทันยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ไลน์ (Line) ในประเทศไทยและญี่ปุ่น อาลีบาบา (Alibaba) ในจีน หรือ ฟลิปคาร์ต (Flipkart) ในอินเดีย

เพราะจะช่วยให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ก้าวล้ำ และครบวงจรมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ บริษัทประกันภัยชั้นนำในอินเดีย สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ต่างขายผลิตภัณฑ์เพื่อการปกป้องคุ้มครองต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ แอปฯ บริการเรียกรถ หรือผ่านบริการจัดการท่องเที่ยวออนไลน์

ซึ่งธนาคารในไทยก็ได้จับมือกับยักษ์ใหญ่ในวงการดิจิทัล เพื่อให้ธนาคารเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค สิ่งที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสารสนเทศ (CIO) ของทุกธนาคาร และบริษัทประกันควรตั้งคำถาม ณ ตอนนี้ก็คือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าบริษัทมีเทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เหมาะสม

และจะดำเนินการได้รวดเร็วพอต่อการนำผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ไปประสานเข้ากับผู้เล่นรายใหญ่ ๆ ในวงการเทคโนโลยี และดิจิทัล

กำหนดราคาให้เหมาะสมขึ้นด้วยดิจิทัล และใช้บิ๊กดาต้าให้ครอบคลุม

SMEs

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องเปลี่ยนจากการใช้สร้างประสบการณ์ลูกค้าโดยรวม ไปเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม และใช้เป็นหลักในการพัฒนาโมเดลการตั้งราคาที่ซับซ้อน ธุรกิจบริการด้านการเงินจึงควรใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า (Big Data) มาช่วยเรื่องการตั้งราคา

โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดที่ยังไม่ค่อยมีข้อมูลเป็นระบบ และการตั้งราคาทำได้จำกัด การเตรียมความพร้อมด้านนี้จึงช่วยให้ธนาคาร และบริษัทประกันสามารถพัฒนา และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาเสริมพ่วงกันได้ ลองนึกถึงกรณีที่คุณสามารถทำประกันรถยนต์ และบ้าน รวมทั้งเปิดบัญชีออมทรัพย์ได้ในเวลาเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย บริษัทประกันภัยที่นำเครื่องมืออย่างเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้รวบรวมข้อมูลให้ได้มากขึ้น เพื่อนำมาช่วยตั้งราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย นับเป็นเทรนด์หนึ่งที่น่าจะเป็นที่นิยมมากขึ้น ถ้ามีการนำเทคโนโลยี และความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบิ๊กดาต้าอนาลิติกส์มาใช้กันอย่างแพร่หลาย

คิดให้เล็กเพื่อทำการใหญ่

SMEs

ธุรกิจขนาดกลาง (SMB) และขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) จะเป็นจุดสนใจพิเศษทั้งในไทย และในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งอื่น ๆ ด้วยในช่วงปีนับจากนี้ โดยประเมินจากภาพรวมระดับมหภาคที่มีนโยบายการคุ้มครองตลาด และความเป็นชาตินิยมที่กำลังเฟื่องฟูทั่วโลก

ดังนั้น ธุรกิจที่ให้บริการด้านการเงินจึงควรหันมาสนใจและให้ความสำคัญ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการธนาคาร และประกันภัยแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีให้มากขึ้น รวมทั้งให้บริการที่ดีขึ้นได้จากการใช้บิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยพิจารณากรมธรรม์

ตัวอย่างเช่น การใช้ช่องทางดิจิทัลช่วยในการกระจายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เข้าถึงธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังทำไม่ได้ถึงจุดนั้น

เชื่อมตรงถึงผู้บริโภค (D2C) เพื่อลดช่องโหว่ด้านจริยธรรม

SMEs

ในภาวะที่มีความสงสัยเคลือบแคลงต่อการปฏิบัติการของผู้ให้บริการทางการเงิน บริษัทประกันและบริษัทจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง แทนที่จะหวังพึ่งสายสัมพันธ์ผ่านตัวแทนมากเกินไป

ซึ่งขึ้นอยู่กับค่านายหน้า จึงอาจเสี่ยงทำให้มีธรรมาภิบาลน้อยลงหรือระบบไม่เข้มพอ เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นหนทางที่รวดเร็วและทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในการช่วยให้มีระบบกำกับ เพราะคนนับล้านในภูมิภาคใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลาย

จึงเป็นไปได้ที่บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มขายผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ผ่านแอปฯ ให้แก่ลูกค้าโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลาง ทำให้ธุรกิจคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทคโนโลยีผู้ช่วยทางการเงิน Roboadvice

SMEs

บริการด้านการจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งโดยอัตโนมัติแบบครบวงจร และเครื่องมือเทคโนโลยีผู้ช่วยทางการเงิน Roboadvice ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเราจะเห็นว่ามีการปรับให้การบริหารความมั่งคั่งทำได้ง่าย และคล่องตัวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เห็นได้ชัดจากการให้ความสำคัญกับระบบผู้ให้คำแนะนำทางการเงิน

ซึ่งมีการพัฒนาก้าวหน้ากว่าเดิมมาก โมเดลแบบไฮบริดหรือผสมผสานนี้ จะใช้ข้อมูลคำสั่งซื้อที่บริษัทการเงินสั่งสมมาตลอดหลายปี นำมาประมวลกับเครื่องมือวิเคราะห์ใหม่ ๆ ที่เจ้าหน้าที่สามารถนำมาใช้

เพื่อให้โซลูชั่นคำแนะนำที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ขณะนั้น ๆ และลูกค้าแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม โดยลูกค้ายังคงมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานได้ด้วย

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการและผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
**** ที่มาของข้อมูล : accenture thailand

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่