ความจริงที่น่าตกตะลึง!! ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใน เอเชีย-แปซิฟิก มีพฤติกรรมทางไซเบอร์เสี่ยงสูง (Cyber risk) ผลสำรวจพบว่า 40% เต็มใจเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว…

highlight

  • ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก กว่า 40% เต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยแบ่งเป็น 22% สารภาพว่าแชร์ข้อมูลโซเชียลมีเดียเพื่อเล่นควิซต่าง ๆ ขณะที่ 18.9% ยอมรับว่ายอมสละความเป็นส่วนตัวเพื่อรับสินค้า และบริการฟรี เช่น ซอฟต์แวร์หรือของขวัญอื่น ๆ
  • 55.5% ของผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ในช่วงอายุ 16-24 ปี และ 25-34 ปี และมีความคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความเป็นส่วนตัวครบถ้วนสมบูรณ์ในโลกดิจิทัลสมัยใหม่ และเชื่อว่าข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ วันเกิด รูปถ่าย ทำให้พบเจอเพื่อน และครอบครัวได้ง่ายขึ้นในเน็ตเวิร์ก

ผลสำรวจชี้ชัด Cyber risk ใน APAC สูง 

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีเปิดเผยผลสำรวจ Global Privacy Report 2018 ที่ทาง แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) ได้สำรวจผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific หรือ APAC) พบว่า 39.2% เต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้ได้ความปลอดภัยเพิ่มเติม

เช่น การตรวจสอบ หรือสอดส่องความปลอดภัยออนไลน์ แต่ยังมีกว่า 40% ที่ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยกว่า 22% สารภาพว่าแชร์ข้อมูลโซเชียลมีเดียเพื่อเล่นควิซต่างๆ ขณะที่ 18.9% ยอมรับว่ายอมสละความเป็นส่วนตัวเพื่อรับสินค้า และบริการฟรี เช่น ซอฟต์แวร์หรือของขวัญอื่น ๆ 

Cyber risk

นอกจากนี้ในรายงานฉบับดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า 55.5% ของผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ในช่วงอายุ 16-24 ปี และ 25-34 ปี และมีความคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความเป็นส่วนตัวครบถ้วนสมบูรณ์ในโลกดิจิทัลสมัยใหม่ และเชื่อว่าข้อมูลส่วนตัว

เช่น ที่อยู่ วันเกิด รูปถ่าย ทำให้พบเจอเพื่อน และครอบครัวได้ง่ายขึ้นในเน็ตเวิร์ก แม้ว่าจะทราบกันดีว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดียหลายรายก็ถูกรายงานว่าแอบสอดส่องผู้ใช้ และกลายเป็นเป้าโจมตีของอาชญากรไซเบอร์ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 53.6% ระบุว่ามีผู้อื่นเคยเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลความลับ

โดยเจ้าตัวไม่ได้ยินยอม อัตราการรุกล้ำเข้าข้อมูลส่วนตัวออนไลน์เพิ่มสูงสุดที่กลุ่มผู้ใช้อายุ 16-24 ปี ที่ 57.1% โดยข้อมูลรั่วไหลทำให้ตนเองถูกรบกวนด้วยโฆษณา และเมลสแปมต่าง ๆ รวมไปถึงยังทำให้เครียด และอับอายอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามออนไลน์ โดยมีผู้ใช้ถึง 56.7% ที่เลือกป้องกันดีไวซ์ของตนเองด้วยการใช้งานพาสเวิร์ด แต่ก็ยังขาดความระมัดระวังเมื่อแชร์สิ่งต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย และบ่อยครั้งที่ก่อให้เกิดผลร้ายตามมาในระยะยาว

Cyber risk

โย เซียง เทียง ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ ให้ความเห็นว่า รายงานของเราแสดงให้เห็นชัดว่า การตระหนักเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลในภูมิภาคนี้เพิ่มสูงขึ้นจริง แต่ก็ยังมีการใช้ข้อมูลอย่างผิด ๆ อย่างแรกคือการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย

เพื่อแลกกับควิซประเภท “เราเป็นดอกไม้ชนิดไหน” หรือ “คุณเป็นคนแบบไหน” เป็นต้น ซึ่งสำหรับบริษัทขนาดใหญ่แล้วอาจมองว่าไม่มีพิษภัยอะไร แต่ในยุคดิจิทัลที่กระแสการใช้ดีไวซ์ส่วนตัวในการทำงาน หรือ BYOD การขโมยข้อมูลของพนักงานเพียงหนึ่งคน อาจกลายเป็นความล้มเหลวในการปกป้องออนไลน์ขององค์กรทั้งระบบ

Cyber risk

วิธีการปกป้องความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์และใช้งานข้อมูลอย่างถูกต้อง

  • คิดทบทวนก่อนโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พิจารณาผลที่จะตามมาหากข้อมูลนั้นจะเปิดเผยสู่สาธารณะ เช่น ข้อมูลนี้จะทำให้เกิดความเสียหายในปัจจุบันหรืออนาคตหรือไม่
  • เก็บพาสเวิร์ดบัญชีออนไลน์ต่างๆ เฉพาะตัวเองรู้เท่านั้น การใช้งานบัญชีร่วมกับเพื่อนและคนในครอบครัวอาจดูเป็นความคิดที่ดี แต่เป็นไปได้ว่าพาสเวิร์ดนี้อาจตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพได้
  • รักษาความเป็นส่วนตัวออนไลน์อย่างจริงจัง การแชร์หรืออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลแก่ผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดการเปิดเผยข้อมูลที่มิจฉาชีพกำลังรอคอย
  • การใช้ผลิตภัณฑ์หรือโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยจะช่วยลดภัยคุกคามออนไลน์ได้ โซลูชั่น Security Cloud และ Internet Security เมื่อใช้ร่วมกับ Password Manager จะช่วยเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัลอันมีค่าให้ปลอดภัย
ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน : ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบ และข้อมูลบางส่วนจาก : www.pexels.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ eleaderfanpage