จากการติดตามเทคโนโลยี BlockChain มาสักระยะหนึ่ง ผู้เขียนเริ่มมีความเห็นว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบเดิมที่มีอยู่ แต่กำลังก่อตัวสร้างระบบคู่ขนานกับระบบเดิมที่มีอยู่ ทำให้เกิดทางเลือกใหม่สำหรับประชาชน ผู้บริโภค และนักธุรกิจ 

เราอาจจะสามารถคาดเดาได้ว่า ถ้าระบบการเงินใหม่ ทั้ง BlockChain และ Crypto Currency ที่เป็นคู่ขนานนี้จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังนั้นระบบเดิมจะค่อย ๆ เสื่อมไป และผู้เล่นในระบบเก่าย่อมเป็นส่วนเกินไม่สามารถปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหม่ได้

โดยตัวอย่างแรกน่าจะเป็นกรณี Crypto Currency ที่อยู่บนแนวทาง BlockChain กำลังสร้างบริบทใหม่ต่อสภาพการเงินการธนาคาร การเปลี่ยน “ความเชื่อมั่น” ในระบบเงินตราที่ปัจจุบันมีรัฐเป็นศูนย์กลาง (Centralization) ไปสู่ความเชื่อในระบบเงินตราที่ใช้กลไกการไม่มีศูนย์กลาง (Decentralization) การกำกับดูแลที่แต่เดิมถูกดำเนินการโดยองค์กรภาครัฐ

แต่ในระบบใหม่การกำกับดูแลจะกลายเป็นอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์แทน โดยอัลกอริทึมพวกนี้จะถูกประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ของประชาชนคนธรรมดาทั่วไปที่กระจายอยู่ทั่วโลก แต่เชื่อมโยงกันช่วยสร้างระบบเงินตราใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพากลไกของภาครัฐอีกต่อไป

ในแนวทางปัจจุบันการสร้างสื่อกลางที่เป็นเงินตราเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน ที่แต่เดิมเป็นระบบศูนย์กลางที่กำหนดให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ที่ผลิตออกมาได้เท่านั้น เช่นเงินตราสกุล “บาท” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่ผูกขาดการกำหนดให้มีการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในแต่ละวันออกมาเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อให้ประชาชนของประเทศไทยใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ

พูดให้ง่ายก็คือ รัฐจะเป็นตัวกลางของการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยการผูกขาดเป็นผู้ผลิตเงินตราออกมาให้ประชาชนที่อยู่ในฐานะผู้ใช้เท่านั้นและมีหน้าที่ที่จะต้อง “เชื่อมั่น” ว่าเงินตราที่ผลิตออกมาโดยรัฐมีมูลค่าจริง ๆ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความ “เชื่อมั่น” ในเงินตราที่รัฐเองผลิตออกมา ก็จะต้องมีการให้ข้อมูลที่ชวนให้เชื่อมั่นต่าง ๆ ออกมา เช่นการผลิตเงินตราออกมาได้นั้นจะต้องมีทองคำหรือแร่ธาตุที่มีมูลค่าหายากหนุนหลัง หรือบางประเทศก็อาศัยอิงเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ (ทั้งที่ประเทศมหาอำนาจนี้พิมพ์แบงค์ออกมาโดยไม่มีอะไรหนุนหลังอยู่เลย)

อย่างไรก็ตาม ถ้าข้อมูลที่ชวนเชื่อนี้เป็นจริง ก็จะทำให้ชวนตั้งข้อสงสัยได้ว่า ทองคำหรือแร่ธาตุที่มีค่าเหล่านี้เมื่อเวลาผ่ามมาหลายสิบปีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดและขาดแคลน ดังนั้นเงินตราที่มีสิ่งเหล่านี้หนุนหลังก็ควรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านมาหลายสิบปีด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมก็ควรจะซื้อของได้จำนวนมากขึ้น แต่เมื่อสิบปีที่แล้วผมกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท ตอนนี้ทำไมผมต้องจ่ายถึง 40 บาทเพื่อกินก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามด้วย ?

เพื่ออธิบายข้อสงสัยนี้ ก็จะมีชุดข้อมูลที่ชวนให้เชื่ออีกชุดหนึ่งออกมาอธิบาย เรียกว่าระบบเงินเฟ้อ (Inflationary system) ที่ทุกรัฐจะใช้ในการลดค่าเงินที่ประชาชนถืออยู่ โดยมีทฤษฎีที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าเงินที่ประชาชนถืออยู่จะลดลง เช่นประชาชนต้องทำงานเพื่อที่จะได้แบงค์พันบาทมาครอบครอง แต่ถ้าเวลาผ่านไปหนึ่งปีมีอัตราเงินเฟ้อ 3% เงินที่ประชาชนถืออยู่หนึ่งพันบาทจะมีมูลค่าเหลือเพียง 970 บาท และจะค่อย ๆ ลดลงทุก ๆ ปีที่ผ่านไป

ถึงตอนนี้ คำถามว่าใครเป็นคนที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ?

คำตอบคงหนีไม่พ้นก็รัฐเองนั่นแหละ เพราะหน้าที่หลักของเงินตราคือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และเมื่อรัฐในฐานะผู้ผลิตเงินตราก็จะเพิ่มเติมจำนวนเงินตราเข้ามาในระบบมากขึ้นด้วยข้ออ้างว่างมีการค้าขายเพิ่มขึ้น แต่การเติมเงินเข้ามาในระบบรัฐมักจะเติมให้มากกว่าการเพิ่มขึ้นของการค้าขาย ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อขึ้น

รัฐจะผลิตเงินตราไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ (Non-inflationary system) ได้หรือเปล่า ?

การหาคำตอบนี้อาจเป็นการเสียเวลา เพราะจะเป็นการถกเถียงวนอยู่แต่ว่า “รัฐทำไม่ได้” กับ “รัฐไม่คิดจะทำ” แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเงินตราที่ถูกผลิตด้วยประชาชนคนธรรมดาในตระกูลคอยน์ (Coin) ทั้งหลายถูกออกแบบมาให้ปราศจากเงินเฟ้อ (Non-inflationary system)

เช่น บิทคอยน์จะมีกำหนดจำนวนสูงสุดไว้แค่ 21ล้านบิทคอยน์เท่านั้น และการผลิตบิทคอยน์ใหม่จะผลิตตามการเติบโตของการใช้บิทคอยน์ในการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ไม่ผลิตออกมาเกินความจำเป็น

โดยการผลิตบิทคอยน์ใหม่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการทำงานของ Bitcoin Miner ที่ทำงานมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ในกรณีของ Ethereum Coin แม้ว่าไม่มีการกำหนดเพดานจำนวนเงินสูงสุดเช่นเดียวกับบิทคอยน์ แต่ด้วยอัลกอริทึมที่ออกแบบไว้จะผลิตเหรียญใหม่ได้จะต้องสอดคล้องกับความต้องการที่จะใช้เป็นสื่อกลาง และจะต้องไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เงินตราตระกูลคอยน์เหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าประชาชนเลิกเชื่อถือเงินเหล่านี้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก ๆ เลิกใช้เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยน ทำให้เงินคอยน์ที่ผลิตไว้แล้วมีมากเกินไป โดยอัลกอริทึมจะไม่สร้างคอยน์ใหม่เข้ามาในระบบ

เปรียบเทียบกับระบบเงินตราที่ผลิตโดยรัฐ เมื่อคนเริ่มไม่เชื่อมั่น รัฐก็จะพยายามเพิ่มค่าเงินเข้ามาในตลาดมากขึ้น เช่น การเกิดขึ้นในประเทศเวเนซูเอลา ที่รัฐเร่งเติมปริมาณเงินเข้ามาในตลาดทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงถึง 1,600% ต่อปี

และสุดท้ายรัฐก็จะประกาศยกเลิกเงินตรานั้นแล้วสร้างเงินตราสกุลใหม่ และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่จะต้องใช้เงินในสกุลเก่าจำนวนมากแลกกับสกุลใหม่จำนวนเพียงเล็กน้อย เช่น กรณีเงินจ๊าดในเมียนมา

การท้าทายระบบเงินตราที่อยู่ใต้กำกับของรัฐนับเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของมหัศจรรย์แห่งคอยน์ ในฐานะระบบเงินตราภาคประชาชน “คอยน์” จะไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างทางเลือกให้กับระบบเงินตราเพียงเท่านั้น แต่ “คอยน์”เหล่านี้ได้มีการนำไปสร้างทางเลือกในการระดมทุน

นอกเหนือจากการระดมทุนที่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยสิ่งนี้คือ ICO (Initial Coin Offering) การระดมทุนโดยไม่ต้องง้อตลาดหลักทรัพย์

ช่วงนี้เห็นการเติบโตของการสร้างบริษัทใหม่ ๆ โดยการระดมทุนนี้จะผ่านคอยน์ที่สร้างขึ้นมา นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างที่สองของคอยน์ที่ตอนแรกเอามาใช้แทนเงินตราที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตอนนี้เอาคอยน์(Coin)  มาใช้แทนหุ้นเพื่อสร้างการระดมทุนพันธ์ใหม่ให้เกิดขึ้น ด้วยการใช้วิธี ICO เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และน่าจะเป็น Digital Disruptor ต่อตลาดหลักทรัพย์ เพราะ

1. ICO จะมีต้นทุนในการระดมทุนน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการทำ IPO และการเข้าไปในตลาดทรัพย์ รวมทั้งจะเข้าไปซื้อขายหุ้นในตลาด ไม่ต้องจ้างคนโน้นคนนี้มาทำ มาตรวจสอบ เพื่อทำหนังสือชี้ชวนการลงทุน Due Diligence
2. ICO จะเข้าระดมทุนได้รวดเร็วกว่าไปยืนรอเข้าแถวเพื่อทำ IPO
3. ICO จะสามารถสร้างการระดมทุนทีเดียวได้ทั่วโลก ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ประเทศใดประเทศหนึ่ง
4. สำคัญสุด ไม่ต้องไปถูกกำกับดูแลโดยใคร ICO จะทำการระดมทุนโดยไม่ต้องผ่านการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์รายใด แอบคิดว่าถ้ากฎหมายประเทศใดไม่เอื้ออำนวย ก็ไปจดทะเบียนประเทศที่เปิดโอกาส แล้วทำ ICO โดยใช้ฐานที่ตั้งประเทศนั้นได้เลย

Matchpool คือตัวอย่างธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่สร้าง Platform จาก Blockchain (ที่มีคุณสมบัติ ความเป็นนิรนาม Anonymous และโปร่งใส Transparency) เพื่อใช้สร้างสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า Pool โดยอาจนำมาใช้ในเรื่องหาคู่ หากลุ่มคนรักแมว โดยเจ้าของ Pool จะได้ประโยชน์จากการที่สมาชิกเข้ามาใน Pool ของตนเอง

โดยจะเป็นเจ้าของ Pool ได้จะต้องมีการลงทุนผ่านระบบ ICO(Initial Coin offering) ที่ใช้สร้างสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง เรียกว่า GUP โดยมีเป้าหมายที่จะระดมทุนให้ได้ 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าเมื่อระดมทุนเสร็จจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า ใช้เวลาเพียงสองวันเท่านั้นในการระดมทุนให้ถึงเป้าหมายปิดรับการลงทุนไปแล้ว

นอกจากนี้ Atom Coin ระดมทุนได้ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลา 30 นาที ตามมาด้วย BCAP Coin ระดมทุนได้เกือบ 10 ล้านดอลลาร์ภายในเวลา 6 ชั่วโมง ตัวอย่างเหล่านี้กำลังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดการเงิน ตลาดทุนในไม่ช้านี้ ในโอกาสต่อไปผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในเรื่องรูปแบบธุรกิจที่อาศัยคอยน์เหล่านี้ทำงานอย่างไรต่อไป