Open Data

ตอบข้อสงสัยว่าการทำไมการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) จากภาครัฐ ถึงจะสามารถใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ซึ่งทางทีมงานได้เจอบทความที่น่าสนใจจากทาง เนคเทค จึงขอหยิบยกมานำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเกิดทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน…

Open Data ภาครัฐ มีประโยชน์อย่างไร

ปัจจุบันเป็นยุคของรัฐบาลแบบเปิด (open government) รัฐบาลแบบเปิดเป็นรัฐบาลที่เน้นการบริหารประเทศอย่างโปร่งใส และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐ

ในการสร้างนวัตกรรม (open innovation) หน่วยงาน Open Knowledge International ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ 3 ประการ ได้แก่

ช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ (Transparency) โดยประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ เช่น หากภาครัฐเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ก็จะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมุล ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการคอรัปชันได้ทางหนึ่ง

ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสังคมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Releasing social and commercial value) โดยหน่วยภาคธุรกิจและเอกชนสามารถนำข้อมูลของภาครัฐไปใช้ในต่อยอดในรูปแบบของแอปพลิเคชัน เช่น หากภาครัฐเปิดเผยข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งของโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ก็จะทำให้เกิดแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลดังกล่าวกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เมื่อแอปพลิเคชันที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐมีจำนวนมากขึ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชนในการบริหารประเทศ (Participation and engagement) เมื่อประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐโดยใช้ข้อมูลได้ ก็จะช่วยให้เกิดการสะท้อนความคิดเห็นกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เช่น หากประชาชนทราบว่ามีสถิติการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่ของตนสูง ก็สามารถร้องเรียนกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

Open Data

ข้อมูลแบบไหนที่ควรเปิดเผย

เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลนั้นเน้นอย่างยิ่งว่า ห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ข้อมูลที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอันขาด ข้อมูลที่เหมาะสมที่จะนำมาเปิดเผย ได้แก่

  • ข้อมูลเชิงสถิติ เช่น สถิติรายได้ของประชากรในแต่ละพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา
  • ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง เช่น ข้อมูลพิกัดของตำบล โรงเรียน โรงพยาบาล
  • ข้อมูลตารางเวลา เช่น ข้อมูลตารางเวลาเดินรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถไฟ รถประจำทาง
  • ข้อมูลจากการตรวจจับด้วยเซนเซอร์ เช่น ข้อมูลระดับน้ำในเขื่อน สภาพอากาศ น้ำฝน ระดับฝุ่นละออง ในแต่ละช่วงเวลา
  • ข้อมูลรหัสมาตรฐาน เช่น ข้อมูลรหัสจังหวัด รหัสถนน รหัสหน่วยงานของรัฐ
v
ที่มา : http://www.rockinst.org/observations/martine/2017-05-10_martin.aspx

โดยข้อมูลเหล่านี้มักถูกใช้งาน และอ้างอิงบ่อย การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้มีแหล่งข้อมูลที่สามารถอ้างอิงและทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้

ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนของแหล่งข้อมูล และ ลดการบิดเบือนข้อมูล การเปิดเผยข้อมูลจึงช่วยให้มีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ สามารถนำข้อมูลมาบูรณาการเชื่อมโยง และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบได้ต่อไป

คุณภาพ และปริมาณของข้อมูล

ปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลยังเน้นในเรื่องการเพิ่มปริมาณข้อมูลเป็นหลัก แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปริมาณของข้อมูล ก็คือคุณภาพของข้อมูล โดยการเปิดเผยข้อมูลเน้นที่ ข้อมูลในแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ (machine-readable data) ในแบบไฟล์ชุดข้อมูลตารางคำนวณ

เช่น ชุดข้อมูลในแบบไฟล์ Excel และ CSV เป็นต้น คุณสมบัติของข้อมูลที่มีคุณภาพดี เช่น มีโครงสร้างของข้อมูลชัดเจน เป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย เป็นข้อมูลที่ใช้รหัสมาตรฐาน เป็นข้อมูลดิบที่ยังไม่มีการสรุป (non-aggregated data)

ใครที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลรัฐที่เปิดเผย

  • นักข่าว หรือสื่อมวลชน ที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการนำเสนอข่าวหรือบทความ
  • นักพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือบริษัท startup ที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานของแอปพลิเคชัน หรือ การทำธุรกิจ
  • นักวิจัยหรือนักวิเคราะห์ข้อมูล ที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐานการวิจัย หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ
  • ประชาชนทั่วไป ที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน

มาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติ

 

Open Data

การเปิดเผยข้อมูลมิได้มีข้อบังคับในเรื่องมาตรฐานของข้อมูลที่นำมาเปิดเผย มีแต่เพียงแนวทางปฏิบัติ (guideline) ที่ผู้เปิดเผยข้อมูลพึงปฏิบัติ เช่น Open Data Handbook (http://opendatahandbook.org/) หรือ แนวทางการเปิดเผยข้อมูล 5 ระดับ (https://5stardata.info/en/)

นอกจากนี้ ผู้เผยแพร่ข้อมูลควรศึกษาถึงการกำกับข้อมูลเมทาดาทา (Metadata) สำหรับไฟล์ชุดข้อมูลเปิด และ ข้อมูลข้อกำหนดและเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้ข้อมูลภาครัฐแบบเปิด หรือ Open Government License (https://data.go.th/TermsAndConditions.aspx)

เพื่อทราบถึงสิทธิ์ที่ผู้ใช้งานได้รับในการใช้ข้อมูลเปิด และข้อจำกัดการรับผิดชอบของผู้เผยแพร่ข้อมูลต่อข้อผิดพลาดในข้อมูลเปิด

จากความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เห็นความสำคัญของการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการข้อมูลเปิด (Open Data Service Platform หรือ Open-D)

ที่เน้นในเรื่อง คุณภาพของข้อมูล (Data quality) และ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่ายของข้อมูล (Data accessibility) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดในรูปแบบต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ที่มาของข้อมูล : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
                  (National Electronics and Computer Technology:Nectec)
**** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่