สำหรับปี 2018 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่ง AI เทคโนโลยียุคใหม่ ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ถกเถียงพอควรว่า มันจะสร้างประโยชน์แก่มนุษย์ หรือคุกคามมนุษย์กันแน่ ในบทความจะพามาคลายปมนี้กัน

หลายปีมานี้ เราได้เห็นเทคโนโลยีเด่น ๆ มามากมายพอควร ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน, โดรน, Big Data, Fintech, IoT, VR กับ AR ทั้งหมดล้วนถูกยกให้เป็น “เทคโนโลยีประจำปี” อย่างไร้ข้อกังขา

สำหรับปี 2018 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่ง AI เทคโนโลยี ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ถกเถียงพอควรว่า มันจะสร้างประโยชน์แก่มนุษย์ หรือคุกคามมนุษย์กันแน่

AI คืออะไร

AI

เอไอ (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อ “เลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์” โดยเฉพาะ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งทางคอมพิวเตอร์ ที่จำลองวิธีคิดแบบเดียวกับมนุษย์ ให้สามารถคิดเองได้ พัฒนาตัวเองได้ และมีปัญญาของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แก่เรา

ในเริ่มแรก เอไอ จะมีสภาพเหมือนกล่องเปล่า (ที่ลึกจนแทบไม่เห็นก้น) ผู้สร้างจะคอยยัด “ข้อมูลความรู้” ลงไปในกล่อง หรือเรียกแบบสวย ๆ ว่า “การสอน” หากต้องการให้ เอไอ ตัวนี้ฉลาดเรื่องภาษา ก็จะยัดภาษาต่าง ๆ ลงไป หากต้องการให้ฉลาดเรื่องแพทย์ ก็จะยัดศาสตร์ทางการแพทย์ลงไป

หากต้องการให้ฉลาดทุกเรื่อง ก็ยัดมันทุกอย่าง เช่น Google หน้าเว็บที่เราเข้าทุกวัน หารู้ไหมว่า นี้แหล่ะ เอไอ แต่อยู่ในรูปแบบ Search engine ที่หลายคนคาดไม่ถึง หลัง เอไอ มีความรู้ในระดับที่ต้องการแล้ว ต่อไปก็เป็นการสอน “วิธีใช้ข้อมูล”

เพื่อให้ เอไอ สามารถนำความรู้ที่มี มาแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองได้ อย่าง Google ก็ถูกสอนให้ “คอยค้นหาและนำเสนอแหล่งข้อมูลให้มนุษย์” ตามคีย์เวิร์ดที่ถูกใส่มา ทาง เอไอ ของ Google ก็จะวิ่งหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดดังกล่าว พร้อมประมวลผลหาข้อมูลที่ใกล้เคียงกับคีย์เวิร์ดมากที่สุด และจัดการนำเสนอในชั่วพริบตา

ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน “กระบวนการคิดของ AI” ที่เกิดจากการเรียนรู้ประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ นั้นเอง ซึ่งก็ดูคล้ายคลึงกับมนุษย์ทีเดียว แต่เหนือกว่า ในส่วนของกระบวนการคิดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้สร้างเลยว่า อยากให้มันมีกระบวนการคิดแบบไหน โดยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 นิยาม คือ

  • กระทำแบบมนุษย์ (Act Humanly) เลียนแบบลักษณะทางกายภาพ เช่น การพูด การเคลื่อนไหว การสัมผัส
  • คิดแบบมนุษย์ (Think Humanly) เลียนแบบกระบวนการคิด เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเรียนรู้
  • กระทำอย่างมีเหตุผล (Act Rationally) เลียนแบบการตัดสินใจพร้อมการกระทำ ที่ถูกประเมินแล้วว่าได้ผลดีที่สุด
  • คิดอย่างมีเหตุผล (Think Rationally) เลียนแบบกระบวนการคิด แต่อิงการวิเคราะห์คำนวนเป็นหลัก
AI
แนวคิด “knowledge box” จาก Ken Isaacs ที่ดูคล้ายกับ AI ในสภาพกล่องเก็บความรู้

มนุษย์ VS ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

ลองเปรียบเทียบศักยภาพระหว่างเรากับหุ่นยนต์หรือ เอไอ มาดูกันว่า เรามีสิ่งไหนเหนือกว่าและอ่อนกว่า

ฝั่งมนุษย์

  • คิดคำนวนได้พอประมาณ ใช้เวลานานเป็นบางครั้ง
  • อัดความรู้ได้จำกัด ต้องหมั่นทบทวนไม่ให้ลืม
  • ถ้าฝึกไม่มากพอ มีพลาดแน่
  • เหนื่อยเป็น เครียดเป็น และท้อเป็น
  • ความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ
  • มีร่างกายของตัวเอง และสมบูรณ์พร้อม
  • มีอารมณ์หลากหลาย
  • เป็นอิสระ

ฝั่ง AI

  • สามารถคิดคำนวนได้ถูกต้อง ในเวลาชั่วพริบตาเสมอ
  • อัดความรู้ได้ไม่สิ้นสุด และไม่มีวันลืม
  • ทำอะไรแม่นยำ ไม่มีพลาด
  • ไม่เหนื่อย ไม่เครียด ไม่มีการท้อถอย
  • ไม่มีความคิดสร้างสรรค์
  • ไร้ความรู้สึก
  • ไม่มีร่างกายของตัวเอง หรือมีก็ไม่สมบูรณ์
  • อยู่ภายใต้คำสั่งจากมนุษย์

แล้ว เอไอ จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ยังไง?

AI

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า AI ในที่นี้ ไม่ใช่หุ่นยนต์มีชีวิตจิตใจแบบในหนัง ยังอีกนานกว่าจะถึง แต่ เอไอ ดังกล่าวคือ ระบบคอมฯ อัตโนมัติ ที่สามารถ “ทำงานแทนคนได้” ซึ่งปัจจุบัน มันกลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด พัฒนาไปไกลเกินคาด และจะกลายเป็นอนาคต บริษัทไอทีหลายแห่งก็เริ่มพัฒนาอย่าง เอไอ จริงจังมากขึ้น

เพราะถูกพิสูจน์แล้วว่า “มันเป็นไปได้สำหรับยุคนี้” ในที่สุดก็เป็น Mega Trend ณ ปัจจุบัน แต่แนวโน้มของ AI ในอนาคต กลับมีผู้เชี่ยวชาญหลายคน ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เอไอ จะมาแทนที่มนุษย์ต่างหาก” ในโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่หลาย ๆ แห่ง

สังเกตได้เลยว่า มีการนำ “เครื่องจักร” (Automation) เข้ามาช่วยงานหลักเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ นาน ๆ (Routine) ตรงนี้แทบไม่มีมนุษย์เข้ามาทำเลย สาเหตุก็ง่าย ๆ เพราะ “เครื่องจักรทำได้ดีกว่า” เพราะมันไม่บ่น ไม่เหนื่อย และไม่เรียกผลประโยชน์ ต่างจากมนุษย์ที่เคยทำตรงนี้อยู่โข สุดท้ายก็ตกงาน

ถึงอย่างนั้น เครื่องจักรยังต้องอาศัยมนุษย์คอยควบคุมอยู่ดี โอเคยังมีบทบาท แต่ !! จะเกิดอะไรขึ้น หากเครื่องจักรมันสั่งงานตัวเองได้เอง หลังมี เอไอ เข้ามาช่วย มนุษย์ที่เคยทำหน้าที่นี้ ก็มีอันตกงานตามกลุ่มก่อนหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย จะเหลือแค่เฉพาะคนที่มีทักษะในด้าน เอไอ เพียงไม่กี่คน มาคุมงานต่อ

ไม่เพียงเครื่องจักรในโรงงานเท่านั้น เอไอ มีโอกาสไปทำอาชีพอื่นด้วย เมื่อปี 2017 เคยมีรายงานว่า พบบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่น ประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งแผนก เพื่อนำ เอไอ มาทำงานวิเคราะห์ข้อมูลแทน รายละเอียดคือ ทางบริษัทได้เอาระบบ เอไอ

ที่ชื่อ “Watson” เป็นปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่จาก IBM (คล้ายกับบริการ เอไอ สำเร็จรูปของ Google) มาทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบ Cognitive Computing ที่สามารถตอบโต้กับมนุษย์ คิดวิเคราะห์ และตีความข้อมูลได้คล้ายมนุษย์ทุกอย่าง

ทั้งยังอ่านข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างอย่าง ภาพ เสียง และวีดีโอได้ด้วย จากความสามารถนี้เอง ก็จะถูกนำมาใช้กับหน้าที่ “วิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์” คอยพิจารณาเงินประกันที่ต้องจ่ายกับผู้ถือกรมธรรม์ในแต่ล่ะกรณีได้ โดยดูจากประวัติทางการแพทย์เป็นหลัก โดยบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่นเชื่อว่า เอไอ ตัวนี้

จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 30% และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนของพนักงานได้ถึง 140 ล้านเยนต่อปี หลังลงทุนกับระบบนี้ 200 ล้านเยนในทีเดียว และเสียค่าบำรุงรักษาอีกแค่ 15 ล้านเยนต่อปีเท่านั้น เท่านี้ก็น่าจะเห็นภาพแล้วว่า เอไอ จะมาแย่งงานเรายังไง สอดคล้องกับผลวิจัยของ Nomura ที่กล่าวไว้

โดยทาง Nomura Research Institute สถาบันวิจัยของญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า เกือบครึ่งของงานทั้งหมดในญี่ปุ่น อาจถูกหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนที่หมดภายในปี 2035

เหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในยุค เอไอ

AI

หากในอนาคตมีคนตกงานเพราะ เอไอ สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” เกิดช่องว่างระหว่างคนมีงานกับคนไม่มีงาน ในยุคนั้นงานจะหายากมาก ๆ อาจจะเหลือเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ กับงานที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถืออย่าง หมอ ตำรวจ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ส่วนคนที่ตกงาน ก็มีโอกาสผันตัวไปเป็นโจรสูง ก่ออาชญากรรมเพื่อความอยู่รอด ซึ่งจำนวนไม่ใช่น้อยแน่ ถึงตอนนั้นคงต้องลุ้นให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ มีมาตรการเยียวยาคนที่ไม่มีงาน จะเบี้ยเลี้ยงหรือรายได้พื้นฐาน ไม่ก็จัดสรรงานเฉพาะให้ทำแทนไปก่อน ก็น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อยู่บ้าง

อย่างไรก็ดีต้องบอกก่อนว่า เอไอ ในยุคนี้ ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะมาแย่งงานเราได้แบบปุ๊บปั๊บ มันยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ถึง 20 ปี ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก่อนคือ “วางแผนอนาคต” พร้อมศึกษาเรื่อง เอไอ ไปด้วย จะได้ปรับตัวได้ถูก แต่ถ้าใครยังงงอยู่ ลองมาดูวิธีแบบเท่าที่คิดได้ก่อน ดังนี้

  • บอกลางานประเภททำซ้ำ ๆ ในโรงงานก่อนเลย
  • อย่าคิดเป็นคนขับรถไปตลอดชีวิต
  • สำรวจงานที่ทำอยู่ว่า มันง่ายเกินไปไหม
  • พยายามฝึกฝนทักษะให้มีหลาย ๆ ด้านเข้าไว้
  • ลองมองหางานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ดู
  • เป็นคนพัฒนาระบบ I มันเองซะเลย

ทิ้งท้ายสักนิด แม้ด้านการคิดวิเคราะห์ เอไอ จะเหนือกว่าเรามาก แค่จุดแข็งของมนุษย์เรา ที่ เอไอ ไม่มีวันมีได้คือ “ความคิดสร้างสรรค์” นั่นเอง…

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: รัฐกิตติ์ พิริยะนันทสิน (บรรณาธิการ และนักเขียน)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่