เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เกิดคำถามมากขึ้นทุกวันว่า การเกิดขึ้นของนวัตกรรมนี้จะสร้างประโยชน์ หรือสร้างโทษมากกว่ากัน?

ปัจจุบันวงการดิจิทัลเดินหน้าก้าวไกลจากในอดีตไปมาก หลาย ๆ คนมองว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ จะถูกพัฒนาให้เก่งกาจ ฉลาดหลักแหลมขึ้นเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นเรื่องที่หวั่นเกรงภัยอันตรายที่เกิดจาก เอไอ ที่อาจเกิดในภาพยนตร์ Sci-fi ที่มากขึ้น….

AI Changed the World and Human Life

โดยหลายคนเชื่อว่าในอนาคต เอไอ จะถูกพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าจนเป็นภัยต่อมนุษย์ เพราะจะสามารถพัฒนาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เนื่องจากความสามารถของ เอไอ ในปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงกระบวนการ Deep Learning คือการจำลองเครือข่ายระบบประสาทแบบเดียวกับสมองของคน

เพื่อให้ เอไอ สามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เหมือนกับที่มนุษย์ทำได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดกรณีที่มีการตีความว่ามนุษย์นั้นจะเป็นภัยก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดีก็มีความอีกหลายแนวคิดที่เชื่อว่าการเกิดขึ้นของปัญหาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) นั้นมีประโยชน์มากกว่า

เนื่องจากจะสร้างกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากมนุษย์ได้อย่างมหาศาล วันนี้เราได้เห็นหลาย ๆ อุตสาหกรรมใหญ่ในโลกกำลังพึ่งพาระบบ เอไอ เช่น ระบบจดจำใบหน้า และแท็กรูปอัตโนมัติบนเฟซบุ๊ก หรือจะเป็น Siri ใน iPhone

ซึ่งหากมองในแง่มุมนี้แน่นอนว่า เอไอ นั้นมีประโยชน์มากพอที่จะทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอย่าง Google, Microsoft, Facebook ทุ่มงบวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับบริการ และคุณภาพของสินค้าของตนเอง เมื่อมองในแง่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วจึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะเหตุใด

ยังมีความวิตกกังวลว่า เอไอ นั้นจะเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์อยู่ในหลาย ๆ กลุ่มอุตสาหกรรม นั่นก็เพราะว่ามนุษย์นั้นจะรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อหากกระทำการใด ๆ แล้วไม่สามารถควบคุมได้นั่นเอง แม้ตอนนี้จะมีผลิตภัณฑ์ล้ำยุคใหม่ ๆ ที่มีการนำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ประกอบเข้าไว้ในบริการ หรือผลิตภัณฑ์อยู่ในตลาดโลกเพียง 5%

AI

และหลายชนิดยังเป็นเพียงต้นแบบเท่านั้น แต่ก็มีการคาดการณ์กันเอาไว้ว่าภายใน 20 ปี เอไอ นั้นจะเข้าไปแทนที่มนุษย์ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือโครงการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับที่เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากมายตลอดเวลา 3-4 ปีที่ผ่าน

ซึ่งแน่นอนว่าหากมองในแง่ความปลอดภัยแล้ว เอไอ น่าจะช่วยในการสร้างความปลอดภัยในการขับให้มีมากขึ้น แต่หากว่ามีแฮกเกอร์ที่สามารถแฮกระบบได้และสั่งการให้ทำอย่างที่ผู้ขับไม่ได้ต้องการก็อาจหมายถึงหายนะได้เช่นเดียวกัน

วันนี้เราอาจมองไม่ออกว่า เอไอ นั้นจะคุกคามมนุษย์ได้อย่างไร เพราะยังไม่มีผลกระทบออกมาอย่างชัดเจนในวงกว้าง ซึ่งเราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่าสมองมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและมหัศจรรย์ เพราะสามารถควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายได้ เช่น การสื่อสาร การร้องเพลง หรือแม้กระทั่งแก้สมการยาก ๆ ได้

มันยังเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ความจำต่าง ๆ รวมถึงความรู้สึกตัวของเราอีกด้วย ด้วยการทำงานที่มากมาย และสลับซับซ้อน จึงยังไม่น่าประหลาดใจว่าสมองยังคงเป็นเรื่องที่พิศวง ที่ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถระบุชี้ชัดไปได้ว่า

นวัฒกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกทุกวันนี้เกิดจากการที่มนุษย์ใช้พลังของอำนาจสมองกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์อย่างเช่น ยานสำรวจอวกาศ รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ อีกมากมาย แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นมนุษย์เองก็ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาองค์ความรู้ในแต่บุคคลแตกต่างกันไป

ในขณะที่ เอไอ นั้นหากทำให้สามารถเลียนแบบการทำงานเช่นเดียวกับสมองมนุษย์ได้แล้ว ก็ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว เพราะสามารถคำนวณ ประมวล และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างไม่มีขอบเขต แถมยังแม่นยำกว่าในหลายกรณี

และสามารถพัฒนาเรียนรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดของ เอไอ ก็อาจจะมีวันที่มนุษย์ไม่สามารถพัฒนาได้ทัน เอไอ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดยุคที่ไม่จำเป็นต้องจ้างมนุษย์ทำงานอีกเลย

Human and AI should be combined into One?

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือแล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก เอไอ ในอนาคต หนึ่งในแนวคิดที่ค่อนข้างน่าตกใจที่ถูกพูดถึงการป้องกันไม่ให้ เอไอ นั้นเก่งเกินมนุษย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการผสานความสามารถของ เอไอ เข้ากับสมองมนุษย์

โดยใช้สมองมนุษย์เป็นที่เก็บข้อมูล และให้ เอไอ เชื่อมต่อกับเส้นประสาทของมนุษย์เพื่อตัดสินใจและควบคุมการทำงาน อย่างที่เราเห็นในภาพยนต์อย่าง The Matrix หรือ Transcendence นั่นเอง

ซึ่งแนวคิดนี้มาจาก อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง PayPal เว็บไซต์บริการโอนเงินที่เปิดใช้บริการทั่วโลก รวมถึง Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ที่มีระบบ Autopilot หรือรถยนต์ไร้คนขับ และ SpaceX บริษัทสร้างยานอวกาศเอกชนบริษัทแรกของโลกนั่นเอง

โดย อีลอน มัสก์ ได้ให้ความเห็นที่เป็นแนวทางสำหรับกังวลในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เมื่อวันหนึ่งที่มนุษย์ไม่สามารถพัฒนาตัวเองตาม เอไอ ได้ทัน และไม่อาจรู้ว่าในอนาคต เอไอ จะพัฒนาตัวเองไปได้ถึงไหนและจะถูกนำไปใช้อย่างไร ทางออกที่ดีที่สุดคือการรวมเอาความสามารถของสมองมนุษย์

และความสามารถในการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดของ เอไอ ไว้ด้วยกัน และสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เอไอ ฮิวแมน ซิมไบโอต” (AI-Human Symbiote) ซึ่งแนวคิดนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นความหวังทำให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็ว ควบคู่กับจริยธรรมของมนุษย์ที่ตัดสินใจว่าสิ่งใดควรหรือไม่ และไม่ทำให้เกิดความหวั่นวิตกอย่างที่หลาย ๆ คนกำลังกังวลกันอยู่

AI

ขณะที่ สัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหารของ ไมโครซอฟท์ ก็เคยออกมากล่าวว่า เรื่องของปัญหาประดิษฐ์ หรือ เอไอ นั้นเป็นรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อหลาย ๆ อุตสาหกรรม เพราะสามารถช่วยสร้างการเจริญเติบโต และช่วยลดข้อผิดพลาดลงไปอย่างมหาศาล

แต่อย่างนั้นก็ไม่ควรที่จะนำเอา เอไอ มาแทนที่มนุษย์ในหลาย ๆ กิจกรรมที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการตัดสินใจ วันนี้ผู้พัฒนา เอไอ ควรจะโฟกัสในเรื่องของการนำเอาไปประยุกต์ใช้มากกว่า และไม่ควรชื่นชมกับความสำเร็จของซอฟต์แวร์เพียงแค่ซอฟต์แวร์เดียว แล้วนำไปแทนที่มนุษย์

ซึ่งแอบสงสัยไม่ได้ว่างานนี้จะเป็นเพราะทางไมโครซอฟท์ นั้นเคยได้ประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับเทคโนโลยี เอไอ หลังจากที่เคยทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ด้วยการปล่อย เอไอ ที่มีชื่อว่า “Tay” บน Twitter แล้วกับพบว่า เอไอ กลับกลายเป็น เอไอ ที่เรียนรู้ในเรื่องของ Sex และนิยมแนวคิดแบบนาซีโดยโต้ตอบกับผู้กดติดตามแบบสุดโต้ง

จึงมีความเป็นไปได้ที่ว่า สัตยา นาเดลลา อาจมองว่าแม้ เอไอ จะมีประโยชน์เพียงใด แต่ก็ต้องมีการกำหนดขอบเขตในการเรียนรู้ให้เหมาะสม และมนุษย์ในฐานะของผู้สร้างที่มีกระบวนการในด้านจริยธรรมที่ดีควรจะเป็นผู้กำกับ และดูแล

ซึ่งแนวคิดเรื่องของการผสานมนุษย์เข้ากับ เอไอ ของ อีลอน มัสก์ นี้ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวขึ้นมาลอย ๆ เนื่องจากทางอีลอน มัสก์ ได้เริ่มที่จะทำโครงการวิจัยถึงความเป็นไปได้แล้ว โดยตอนนี้อีลอน มัสก์ ได้เปิดบริษัทใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า “Neuralink” และตั้งชื่อแนวคิดนี้ว่า “Neural Lace” ขึ้นมาแล้ว

ซึ่งเป็นการร่วมกันศึกษากับทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้อ่านอาจสงสัยว่าแล้วแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะมันดูสุดโต่งล้ำยุคและดูโหดร้าย แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นเราก็เห็นกันตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาว่า เพื่อความเจริญก้าวหน้าในบางครั้งมนุษย์ก็พร้อมที่จะเสี่ยงทดลองได้โดยมีเหตุผลง่าย ๆ คือเพื่อความก้าวหน้าของมวลมนุษย์

ทั้งหมดนั่นเอง อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่องของ เอไอ ฮิวแมน ซิมไบโอต ในวันนี้นั้นยังมีขีดจำกัดในการพัฒนาอยู่ เพราะยังไม่มีวิธีในการ Input-Output ข้อมูลเข้าสู่สมองมนุษย์ได้ หากจะทำได้ก็คงต้องไปว่าถึงเรื่องของอินเทอร์เฟซ (Interface) ที่มีความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงมากเลยทีเดียว

Evolution of Artificial Intelligence During the Past

กลับมาดูในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมากันบ้าง โดยเมื่อไม่นานมานี้ทาง Gartner ได้ออกมาเปิดเผยถึงเทรนด์ของเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบวิถีชีวิตมนุษย์ไปอีก 10 ปี ข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่ Gartner ได้กล่าวถึงคือเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์

โดยประเด็นที่น่าสนใจที่ทาง Gartner คาดการณ์เอาไว้ คือในอนาคต เอไอ จะกลายเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจมากที่สุด ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านการประมวลผล และปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด

ผสานกับความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี Deep Neural Networks ทั้งหมดนี้จะทำให้องค์กรสามารถประยุกต์นำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยเจอมาก่อนกันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ Gartner ก็ยังได้ทำนายอีกว่าภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้ เอไอ จะกลายเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความสำคัญสูงสุด 5 โครงการแรกของ CIO จำนวนเกินกว่า 30%

ซึ่งเราเริ่มเห็นแล้วว่ามีหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่มีการประยุกต์ใช้ เอไอ กับธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในหลายกรณีตัวผู้บริโภคเองอาจไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ากำลังใช้งาน เอไอ อยู่และใกล้ตัวมากกว่าที่ทราบ เช่นกรณีของการรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งผ่าน YouTube ที่เมื่อก่อนเราอาจจะต้องเจอกับปัญหาในการรับชมเนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนมาก

AI

ความอินเทอร์เน็ตไม่พอทำให้เกิดปัญหาขณะรับชมวิดีโอออนไลน์เกิดอาการสะดุดอยู่หลายครั้ง ทาง YouTube จึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างอัลกอริทึมที่ชื่อว่า ABR (Adaptive Bitrate) ขึ้นมา ในชื่อ “Pensive” โดยเป็น เอไอ แบบหนึ่งที่ทำงานโดยการเรียนรู้ว่าด้วยความละเอียดวิดีโอที่มีอยู่นั้นควรจะแสดงผลด้วยความละเอียดเท่าไร

เมื่อเปรียบเทียบความเร็วของอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถรับชมได้อย่างลื่นไหล ซึ่งจากการทดสอบทาง YouTube ได้พบว่าช่วยลดการติดขัดในการรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งลงถึง 10-30% อีกทั้งยังทำให้คุณภาพของการรับชมดีขึ้นประมาณ 10-25% เลยทีเดียว

หรือในกรณีการใช้ เอไอ เพื่อยกระดับของการให้บริการของธนาคาร ผ่านแอพพลิเคชันโมบายเพย์เมนต์ต่าง ๆ ซึ่งมีบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Finie ได้พัฒนาขึ้น โดยใช้ประโยชน์จาก เอไอ ด้วยการโปรแกรมให้มีอัลกอริทึมในขยายฐานความรู้ และพัฒนาคำตอบเองได้

จากทุกการสื่อสารกับผู้ใช้แอพพลิเคชันให้สามารถสื่อสารกับบัญชีธนาคารของตัวเองได้ โดยใช้ภาษาพูดของตนเองแทนที่จะจำกัดอยู่แค่คำสั่งแบบเดิม ๆ อย่างเช่น เหลือยอดเงินในบัญชีเท่าไหร่ ซึ่ง เอไอ จะประมวลและตอบคำถามออกมาให้ในหลายคำตอบ คุณยังมีเงินในบัญชีเหลือพอที่จะออกไปกินมื้อค่ำ

หรือเดือนนี้ให้เงินซื้อกาแฟไปเท่าไร ซึ่ง เอไอ จะวิเคราะห์ข้อมูลแล้วอาจตอบมาว่าเดือนนี้คุณใช้เงินในบัญชีซื้อกาแฟไปกี่แก้ว แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่เงื่อนไขที่ว่าการชำระนั้นเป็นการชำระแบบหักเงินจากบัญชีออนไลน์ ไม่ใช่การใช้เงินสดโดยการใช้ เอไอ ประยุกต์กับแอพพลิเคชันของธนาคารนี้

ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นมิตรกับลูกค้าของธนาคารเป็นรายบุคคลได้เลย หรือที่เรียกว่าการตลาดแบบผสมผสานหลากหลายช่องทาง (Omni Channel)  

สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เทคโนโลยี เอไอ นั้นจะมาพร้อมกับการปรับสินค้าและบริการไปสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ อย่างเช่น การเปิดให้บริการรถแท็กซี่ขับด้วยตนเองของบริษัท NuTonomy หรือการเปิดให้บริการ Self Check-In ของโรงแรม และสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก

หรือแอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือที่สามารถจอง เที่ยวบิน รถไฟ หรือที่พักในราคาต่ำสุดที่ค้นหาได้ โดยนักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องซื้อผ่านบริษัทนำเที่ยวหรือตัวแทนจำหน่ายแบบเดิมอีกต่อไป

ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับกรณีนี้ คือเครือโรงแรม Hilton ได้ร่วมกับ IBM Watson เปิดตัว “คอนนี่” หุ่นยนต์คอนเซียร์จที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกที่เข้ามา Check-In ที่โรงแรมนั่นเอง หรือแม้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าเรื่องของขาดแคลนเครื่องมือ และบุคลากรทางแพทย์ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ดังนั้น เอไอ จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำ IBM Watson เทคโนโลยี เอไอ เข้ามาช่วยวิเคราะห์การรักษาโรคมะเร็ง หรือที่โรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน

มีการใช้เทคโนโลยี เอไอ จากบริษัท Infervison เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและเอ็กซเรย์โรคมะเร็งปอด ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถใช้ผลงานวิจัยทางการแพทย์ และกำหนดวิธีการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ขณะที่อุตสาหกรรมการเกษตรก็สามารถสร้างกระบวนการปลูกได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเอา เอไอ เข้ามาประยุกต์ใช้และทำให้เกิดเรื่องที่เราอาจคุ้นหูอย่างเช่น ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ตัวอย่างเช่น

AI

ฟาร์มปลูกแตงกวาในญี่ปุ่น ของ Makoto Koike ได้นำเทคโนโลยี Machine learning และ Deep Learning ภายใต้ระบบ TensorFlow ของ Google พร้อมด้วย Raspberry Pi 3 มาใช้ในการคัดแยกแตงกวา ซึ่งให้ความถูกต้องถึง 95% มากกว่าการใช้คนที่ทำได้เพียง 70% เท่านั้น

หรือในอุตสาหกรรมการผลิตที่วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าเริ่มนำเทคโนโลยี เอไอ เข้ามาช่วยเหลือในงานก่อสร้างบ้างแล้ว โดนนำเอา เอไอ มาวิเคราะห์ข้อมูลและโครงสร้างต่าง ๆ ของงานก่อนสร้าง เพื่อการทำงานของเครื่องจักร

โดยอัตโนมัติ หรือจะเป็นการวิเคราะห์และวางแผนการก่อสร้าง เพื่อให้คนงานก่อสร้างได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและสามารถมทำให้งานก่อสร้างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด และหากมองในมุมของการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์เราก็สามารถที่จะนำเอา เอไอ มาช่วยในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเพื่อสร้างกระบวนการในการดูแลสิทธิประโยชน์

จากกรมธรรม์ประกันต่างได้ ยกตัวอย่างเช่น Fukoku Mutual บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่น นำ IBM Watson ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์ สามารถพิจารณาเงินประกันที่ต้องจ่ายกับผู้ถือกรมธรรม์

ในแต่ล่ะกรณีได้โดยดูจากประวัติทางการแพทย์เป็นหลัก และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 30% หรือแม้ใช้ในการแก้ปัญหาชุมชนเมืองต่าง ๆ ของโลกก็ยังได้ โดยเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการทดสอบโดย ฟูจิตสึ ในประเทศสิงค์โปร ที่สนามกีฬาแห่งหนึ่งและห้างสรรพสินค้าในบริเวณใกล้เคียง

ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 60,000 คน โดยการทดสอบดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นด้วยการเผยแพร่แอพพลิเคชันสมาร์ตโฟนให้ผู้เข้าร่วมงานบางส่วนที่สนามกีฬา โดยให้ เอไอ เรียนรู้ข้อมูลที่ซับซ้อนจำนวนมากเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ เช่น วิธีการเดินทาง ความพึงพอใจส่วนบุคคล และผลกระทบของแรงจูงใจต่อการคาดการณ์

โดยจากผลการศึกษาพบว่า แอพพลิเคชันได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้เลือกวิธีการเดินทางกลับบ้าน และเวลาในการเดินทางไปบ้านที่แตกต่างกัน โดยเลือกวิธีการเดินทางที่เหมาะสมตามคำแนะนำ และมีการชี้แนะให้ผู้ใช้หลาย ๆ รายแวะไปยังห้างสรรพสินค้าเพื่อรอเวลาหากไม่มีธุระเร่งด่วน

AI

จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นรูปธรรมมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาอันใกล้เราอาจจะเห็นปัญญาประดิษฐ์รูปแบบใหม่ ๆ ที่คล้ายมนุษย์มากขึ้นทุกวัน แต่ยังห่างไกลกับความซับซ้อนของระบบความคิดของมนุษย์พอสมควร เพราะสิ่งที่ เอไอ ยังขาดไปคือจินตนาการและแรงบันดาลใจที่เป็นจุดเด่นของมนุษย์

แม้จะมีมากน้อยแตกต่างกันไปตามวัยและประสบการณ์ ซึ่งทำให้มนุษย์รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม และพัฒนาองค์ความรู้จากประสบการณ์ ผ่านความเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ เอไอ ยังไม่สามารถมีได้ทัดเทียมกับมนุษย์ 

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในเรื่องความว่องไวแม่นยำในการคิดการประมวลผลแล้ว แน่นอนว่า มนุษย์เราไม่สามารถทำได้เร็วเท่า เอไอ อย่างแน่นอน แต่หากมนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ตัวเองสร้างอย่างเท่าทัน

ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์และมีความฉลาดที่เกือบจะทัดเทียมกัน และเกื้อหนุนให้มนุษย์พัฒนาการได้อย่างรวดเร็วได้มากขึ้น

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุประสงค์มุ่งเพื่อโจมตีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Digital Content)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่