กสทช. คว่ำประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในวันที่ 28 ส.ค. 64 ระบุขอนำหลักเกณฑ์ไปทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรมในการประมูล หลังมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว

วันนี้ (18 สิงหาคม 2564) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับการประมูล จึงได้มีมติให้ทบทวนมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2564 วาระที่ 5.2.17 เรื่อง การดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกและวันจัดการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package)

จากนั้นที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติยกเลิกการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่กำหนดจัดประมูลในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอเนื่องจากมีผู้ยื่นขอรับอนุญาตฯ เพียงรายเดียว อาจไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล พร้อมให้คืนค่าหลักประกันการประมูลและค่าพิจารณาคำขอรับอนุญาตแก่ผู้รับเอกสารการคัดเลือกทุกราย

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กสทช. ได้ให้สำนักงาน กสทช. ไปปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ให้มีความเหมาะสม เพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล

ส่วนผู้ที่เข้าประมูลเพียง 1 ราย คือ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จัดตั้งโดยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อประกอบกิจการธุรกิจดาวเทียม, อินเทอร์เน็ต, สื่อ, โทรศัพท์ในต่างประเทศ และอื่นๆ

ย้อนไทม์ไลน์ประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

8 มิถุนายน 2563 : เผยวงโคจรดาวเทียม 4 ชุด ที่เปิดให้ประมูล

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. ประกาศแนวทางการประมูลและคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทย หลังจัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในวันดังกล่าว โดยเชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมมาทำความเข้าใจและรับฟังความเห็น

สำหรับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ กสทช. นำมาจัดสรร เบื้องต้นจัดแบ่งเป็น 4 ชุด (หรือ 4 Package) ดังนี้

  • ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51)
  • ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R)
  • ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน G2K และ 120E)
  • ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5)
ภาพจาก กสทช.

ทั้งนี้ ข่ายงาน หรือ Network Filing ทั้งหมดเป็นข่ายงานที่ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ยกเว้น A2B ซึ่งอยู่ภายใต้ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งหมดอายุก่อนหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 กันยายน 2564 และ IP1 ของ ไทยคม 4 ซึ่งจะมีอายุทางวิศวกรรมถึงปี 2566 ที่ถือว่าเป็นการจัดสรรล่วงหน้าในลักษณะหลายชุดพร้อมกัน เนื่องจากการสร้างดาวเทียมต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 ปี

2 ธันวาคม 2563 : เปิดราคาประมูลขั้นต่ำ

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดราคาขั้นต่ำชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ดังนี้

  • ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 728.199 ล้านบาท
  • ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท
  • ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 748.565 ล้านบาท
  • ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท

โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ต้องชำระค่าธรรมเนียมตามราคาที่เสนอสูงสุด ก็ยังต้องชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมรายปีในอัตรา 0.25 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ในอัตราไม่เกิน 1.5% และ ค่าธรรมเนียม USO ในอัตรา 2.5% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่เกี่ยวกับการประสานงานคลื่นความถี่ และตามที่ ITU เรียกเก็บอีกด้วย

ส่วนวิธีการคัดเลือก แม้ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้วิธีการประมูล แต่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จึงได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

  • ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถในการดำเนินการ โดยมีเกณฑ์ เช่น ประสบการณ์การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม แผนการใช้งานข่ายงานดาวเทียม ข้อเสนอช่องสัญญาณสำหรับบริการสาธารณะ หรือข้อเสนอการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องมีการวางหลักประกัน 10% ของราคาขั้นต่ำในแต่ละชุด โดยผู้เข้าร่วมการคัดเลือกจะต้องได้รับคะแนนในแต่ละเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 50% และได้คะแนนประเมินรวมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 75% จึงจะผ่านเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง
  • ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาข้อเสนอด้านราคา โดยเลือกผู้ชนะจากการยื่นข้อเสนอด้านราคาสูงสุด โดยผู้ชนะในแต่ละชุดจะได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม มีอายุการอนุญาต 20 ปี โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น ต้องมีดาวเทียมใช้งานจริงกับข่ายงานขั้นสมบูรณ์เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และจะได้รับการคุ้มครองสิทธิโดย กสทช.จะไม่อนุญาตให้มีการมาขอส่งเอกสารข่ายงานใหม่สำหรับวงโคจรนั้นอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตามต้องมีแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและประกันการใช้งานต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดให้มีช่องสัญญาณเพื่อบริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐไม่ต่ำกว่า 10% ของความจุของดาวเทียม รวมทั้งต้องรับผิดชอบแทนภาครัฐกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นต้น

22 มีนาคม 2564 : ปรับราคาประมูลขั้นต่ำ

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. เผย (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยได้ปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลลงบางชุด เพื่อให้ให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจจริง โดยราคาที่ปรับใหม่เป็นดังนี้

  • ชุดที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ปรับราคาขั้นต่ำจาก 728.20 ล้านบาท เป็น 676.92 ล้านบาท
  • ชุดที่ 3 ที่ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) จาก ปรับราคาขั้นต่ำจาก 745.57 ล้านบาท เป็น 392.95 ล้านบาท
  • สำหรับชุดที่ 2 และชุดที่ 4 ไม่มีการปรับราคาขั้นต่ำ โดยชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 366.49 ล้านบาท และชุดที่ 4 ที่ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 364.69 ล้านบาท

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำหรับวิธีการคัดเลือกนั้น ยังคงกำหนดวิธีการคัดเลือกเป็น 2 ขั้นตอน โดย

  • ขั้นตอนที่ 1. พิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถในการดำเนินการ
  • ขั้นตอนที่ 2. การพิจารณาข้อเสนอด้านราคา โดยมีการปรับจากเดิมที่กำหนดให้เป็นรูปแบบของการยื่นข้อเสนอด้านราคาในรูปแบบผลประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงสุดทีละรอบของแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียม (Sealed Bid) เป็นการยื่นข้อเสนอการประมูลในชุดข่ายงานดาวเทียมพร้อมกันทั้ง 4 ชุด (Simultaneous Auction) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันได้ในทุกชุด และป้องกันการการสมยอมในการเสนอราคา (ฮั้วประมูล)

นอกจากนั้น ยังมีการปรับระยะเวลาและเงื่อนไขในการอนุญาตให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในชุดที่ 2 ข่ายงาน A2B ที่เป็นของดาวเทียมไทยคม 5 เดิม โดยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องไม่ส่งผลกระทบหรือรอนสิทธิข่ายงานที่ดาวเทียมไทยคม 6 และ 8 ใช้อยู่เนื่องจากอยู่ในวงโคจร (Slot) 78.5E เดียวกัน และเงื่อนไขระยะเวลาที่จะได้รับสิทธิในชุดที่ 3 ข่ายงาน IP1 จะได้รับหลังจากอายุวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 (IP Star) สิ้นสุด เพื่อไม่ให้ผู้ชนะในการประมูลครั้งนี้โดนรอนสิทธิหรือมีปัญหาสัญญาทางปกครองเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังที่ให้สามารถมีผู้ได้รับการอนุญาตทั้ง 4 ชุด เพื่อที่จะได้รักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรของประเทศไทย

12 พฤษภาคม 2564 : กำหนดไทม์ไลน์การประมูล

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. เผยว่าในดังกล่าว ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยกำหนดวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เป็นวันประมูลฯ ครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะใช้วิธีการประมูลทีละชุดแบบ Sequential Ascending Clock Auction (SACA) 

รายละเอียดของกรอบเวลาในการดำเนินการประมูลฯ เป็นดังนี้

  1. เปิดให้รับคำขอ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564
  2. การให้ข้อมูลสำหรับการเตรียมเอกสารที่ใช้ในวันขอรับอนุญาต วันที่ 22 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2564
  3. เปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต วันที่ 21 มิถุนายน 2564
  4. ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก วันที่ 5 กรกฎาคม 2564
  5. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564
  6. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมประมูล และ Mock Auction วันที่ 19 – 21 กรกฎาคม 2564
  7. วันประมูล 24 กรกฎาคม 2564
  8. ประชุม กสทช. รับรองผลการประมูล ภายใน 7 วัน

ส่วนราคาขั้นต่ำของการประมูลข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ในครั้งนี้ ได้แก่ 

  • ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท
  • ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท
  • ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 392.950 ล้านบาท
  • ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท

21 พฤษภาคม 2564 : เปิดรับเอกสารการคัดเลือกวันแรก “มิว สเปซ” มาเป็นรายแรก

กสทช. เปิดให้ผู้สนใจขอรับเอกสารการคัดเลือกการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เป็นวันแรก ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช. ซึ่งผู้รับเอกสารต้องลงนามในหนังสือตกลงการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-Disclosure Agreement: NDA) และชำระค่าพิจารณาคำขอรับอนุญาต 535,000 บาท (รวม VAT 7 %)

โดยมี บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นรายแรกที่มาขอรับเอกสารการคัดเลือก ซึ่งมีข้อมูลการประสานงานคลื่นความถี่ในกิจการดาวเทียมของข่ายงานดาวเทียมที่จัดชุด

30 มิถุนายน 2564 : “ชัยวุฒิ” เบรก “กสทช.รักษาการ” ประมูลดาวเทียม 24 กรกฎาคม 2564

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปถึง กสทช.ชุดรักษาการ เพื่อขอให้ชะลอการเปิดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ออกไป และพร้อมแนะให้รอ กสทช. ชุดใหม่ที่อยู่ในกระบวนการสรรหา เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ

โดย ดีอีเอส ระบุว่า ดีอีเอส กำลังเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณาให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หลังสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของไทยคม สิ้นสุดลง

นายชัยวุฒิ มองว่า หาก กสทช. ดำเนินการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญา โดยเฉพาะสิทธิการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 ที่ยังมีภาระผูกพันที่จะหมดอายุสัญญา ในวันที่ 10 กันยายน 2564 เพราะหากไทยคม 4 เกิดข้อขัดข้อง เสียหาย ก่อนสิ้นอายุสัญญา บริษัทคู่สัญญาต้องรับผิดชอบจัดหาดาวเทียมทดแทนในระยะเวลาตามสัญญา

“การประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย มีผลผูกพันระยะยาว โดยเฉพาะในแง่ความมั่นคงแห่งรัฐ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเห็นว่าเพื่อให้การประมูลเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม ควรรอให้การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ในขณะนี้เสร็จสิ้น และให้ กสทช.ชุดใหม่ เข้ามารับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ จะมีความเหมาะสมมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาใด ๆ ตามมาในภายหลัง” นายชัยวุฒิ กล่าว

8 กรกฎาคม 2564 : เผยมีบริษัทย่อยของ “ไทยคม” ยื่นเอกสารประมูลเพียงเจ้าเดียว

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. และผู้บริหารสำนักงาน กสทช. ร่วมแถลงผลการประชุม กสทช. เปิดเผยว่า มีมติรับทราบผลการดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกและวันจัดการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่สำนักงาน กสทช. เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ข้อมูลสำคัญที่มีการเปิดเผยออกมา นั่นคือ มีแค่บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด เข้ามายื่นเอกสารเพียงรายเดียว โดยบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จัดตั้งโดยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อประกอบกิจการธุรกิจดาวเทียม, อินเทอร์เน็ต, สื่อ, โทรศัพท์ในต่างประเทศ และอื่นๆ

ในขณะที่ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้เข้ามารับเอกสารในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นรายแรก กลับไม่ได้มายื่นเอกสารเพื่อร่วมในการคัดเลือก

ทำให้ ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้กำหนดการใหม่สำหรับการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 และเพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูลสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูล ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นอยู่ ได้ขยายไทม์ไลน์ใหม่ ดังนี้

  • 21 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน 2564, 8 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2564 : เปิดให้รับเอกสารคัดเลือกเพิ่มเวลา 08.30 – 16.30 น. ณ สำนักงาน กสทช.
  • 10 มิถุนายน, 18 มิถุนายน, 9 สิงหาคม 2564 : จัดประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงกระบวนการและกรอบแบบคำขอรับอนุญาต ทั้งนี้จะต้องดำเนินการขอรับเอกสารการคัดเลือกและชำระค่าพิจารณาคำขอแล้ว (เฉพาะผู้ขอรับใบอนุญาตที่รับเอกสารการคัดเลือกเพิ่มเติม)
  • 5 กรกฎาคม, 11 สิงหาคม 2564 : ผู้ประสงค์ขอรับอนุญาตยื่นคำขอรับอนุญาตและวางหลักประกันการขอรับอนุญาต
  • 18 สิงหาคม 2564 : ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก
  • 24 สิงหาคม 2564 : ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถด้านการเงิน
  • 25 สิงหาคม 2564 : การประชุมเพื่อชี้แจงขั้นตอนการประมูล (Auction) และการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction)
  • 28 สิงหาคม 2564 : วันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะชุด (Package)

30 กรกฎาคม 2564 : ดีอีเอส มอบสิทธิ NT บริหาร “ไทยคม” หลังหมดสัมปทาน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ลงนามมอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของ ไทยคม 4 และ ไทยคม 6 กลับสู่รัฐ ให้แก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งมีนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT เป็นผู้เซ็นรับมอบ

โดยมีนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ และนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน NT ร่วมเป็นสักขีพยาน

การเซ็นมอบในครั้งนี้ เป็นการเซ็นก่อนวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กับทางภาครัฐในวันที่ 10 กันยายน 2564

โดย ดีอีเอส มอบสิทธิ NT เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตั้งวันที่ 11 กันยายน 2564 ไปจนถึงวันสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม

9 สิงหาคม 2564 : ศาลปกครอง ทุเลา มติ กสทช. ชั่วคราว เปิดทาง “ไทยคม” ใช้ดาวเทียม ไทยคม 7-8 ต่อ

นายสลิล จารุจินดา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและการกำกับดูแล บมจ.ไทยคม เผยไทม์ไลน์ย้อนหลังบางส่วน แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้รับทราบ ดังนี้

  • 2 มิถุนายน 2564 : “ไทยคม” ได้รับหนังสือจาก กสทช. โดยเป็นมติการประชุม ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 อนุญาตให้ใช้ไทยคม 7 และไทยคม 8 ถึงแค่วันที่ 10 กันยายน 2564 หรือวันสิ้นสุดสัมปทานเท่านั้น
  • ไทยคม ยื่นหนังสือถึง กสทช. โดยขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง
  • 12 กรกฎาคม 2564 : กสทช. ส่งหนังสือถึง ไทยคม โดยยืนยันตามมติเดิม พร้อมระบุว่าหากไทยคมไม่เห็นด้วย สามารถยื่นคำฟ้องขอเพิกถอนมติดังกล่าวที่ศาลปกครองกลางได้
  • ไทยคม จึงยื่นคำฟ้องขอเพิกถอนมติดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง และยื่นคำร้องให้ทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าวด้วย
  • 9 สิงหาคม 2564 : ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กสทช. ดังกล่าว เปิดทางให้ไทยคมใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม อย่าง ดาวเทียมไทยคม 7, ไทยคม 8 และข่ายงานที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

18 สิงหาคม 2564 : คว่ำประมูล

เมื่อถึงวันประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ซึ่งคือวันนี้ (18 สิงหาคม 2564) กสทช. ตัดสินใจประกาศคว่ำประมูลฯ หลังมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 1 ราย

โดยให้เหตุผลในการคว่ำครั้งนี้ว่า การมีผู้ประมูลรายเดียวอาจทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม พร้อมกันนี้ได้มีการมอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. ทบทวนหลักเกณฑ์ไให้สอดคล้องกับสถานการณ์อีกด้วย