อดีต กสทช. “สุภิญญา กลางณรงค์” แนะ DE-กสทช. ควรผลักดัน “Broadband for All” เป็นวาระแห่งชาติ มากกว่าการเซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็น ชี้ประชาชน 72% ได้ใช้แค่เน็ตเติมเงินเท่านั้น

เมื่อวานนี้ (21 กรกฎาคม 2564) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ก่อตั้ง Cofact โพสต์ผ่าน Facebook และ Twitter ส่วนตัว โดยกล่าวว่า “เรียกร้องกระทรวง DE และ กสทช. ช่วยมาดูแลปัญหาเด็กๆ ไม่มีเน็ตในการเรียนออนไลน์ จะทำอะไรมากกว่านี้ได้บ้าง ควรเป็นวาระแห่งชาติมากกว่าการเซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็นในยามนี้

“ช่วงนี้นอกจากซึมเศร้ากับสถานการณ์ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีข่าวสารที่ชวนให้จิตตกตลอดเวลา วันก่อนก็มีน้องๆกลุ่มหนึ่งถามเรามาว่า ในฐานะที่พี่เป็นอดีต กสทช. ในประเด็นปัญหาเรื่องเด็กๆไม่มีเงินเติมเน็ตในการเรียนหนังสือออนไลน์ พี่คิดว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. มั้ยครับ และ กสทช. หรือ ภาครัฐจะทำอะไรได้บ้าง เราก็อึ้งไปพักนึง แล้วก็ตอบว่า มันก็เป็นหน้าที่ กสทช. เต็มๆ นั่นล่ะ รวมทั้งภาครัฐ กระทรวง DE ที่มุ่งทำงานผิดจุดไปในช่วงนี้และกระทรวงศึกษาธิการด้วย ควรมีแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

สุภิญญา กลางณรงค์
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ก่อตั้ง Cofact

“กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และ มีภารกิจ USO หรือ Universal Service Obligation (USO) ในการทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในสถานการณ์ที่ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์และให้เรียนออนไลน์ 100% แบบนี้ ภาครัฐ รวมทั้ง กสทช. ต้องช่วยกันออกมาตรการเยียวยา และ หาทางแก้ปัญหาด้วย เหมือนบทบาทของ OFCOM ในสหราชอาณาจักรและ FCC ในสหรัฐอเมริกา

“แต่ทำไมดูเหมือนบทบาทของ กสทช. กระทรวง DE ของไทย ดูเงียบเชียบจังเลยกับเรื่องนี้ หรือทำงานเงียบๆเราตกข่าว ขอฝากเรื่องไปและช่วยแถลงให้สาธารณะทราบด้วยก็จะดีค่ะ

“ข้อเท็จจริงหนึ่งคือ แม้เมืองไทยจะมีการใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนมากมาก แต่ 72% ของผู้ใช้เป็นบริการแบบเติมเงิน เติมทีละร้อย คุณภาพของเน็ตไม่พอต่อการเรียนออนไลน์เป็นหลายชั่วโมงแน่นอน จะมีใครตอบได้บ้างว่ามีเด็กจำนวนเท่าไหร่ที่ไม่สามารถเรียนได้เพราะเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต”

“กำลังนั่งคิดว่า เราในฐานะอดีต กสทช. ตัวเล็กๆ จะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้อีกบ้าง นอกจากให้ความคิดเห็นเสนอแนะเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ท่านใดมีข้อเสนอช่วยคิดด้วยค่ะ เบื้องต้นอยากขอเรียกร้องให้ กสทช. และ DE ช่วยออกมาตรการเยียวยาในเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มต้นจากการหารือกับภาคเอกชนด้านโทรคมนาคม และ ISP ทำอะไรเพิ่มเติม จากที่พยายามทำอยู่ อาทิ

  1. ไม่ตัดสัญญาณโทรศัพท์ประชาชนที่ไม่ได้เติมเงินในช่วงเวลานี้ เพราะถ้ามีปัญหาสุขภาพฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ แม้ไม่มีเงินเติม เช่นต้องโทรเบอร์ 1330 หาเตียง เป็นต้น (อันนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในยามมีภัยพิบัติเลย)
  2. กสทช. ร่วมกับค่ายมือถือ และ โรงเรียน ให้ลงทะเบียนครอบครัวที่ลำบากในการให้ซิมเรียนฟรี หรือ แพกเกคราคาถูกสุดๆ เพื่อให้เด็กใช้เรียนออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง
  3. กสทช. ร่วมกับ กระทรวง DE และ ตลาดขายของมือสองในการขายอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้กับเด็กที่ไม่มีในราคาถูกแบบผ่อน หรือ ให้ยืมอุปกรณ์หรือหากองทุนช่วยเหลือ หรือร่วมกับค่ายมือถือหาอุปกรณ์และสัญญาณช่วยเด็กในการเรียน เป็นต้น
  4. กสทช. ร่วมกับกระทรวง DE และ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเอกชน จัดทำบริการไวไฟฟรีให้กับชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น เพื่ออำนวยสะดวกให้เด็กเรียนออนไลน์ หรือ วิธีอื่นๆที่จะคิดและทำได้เพื่อช่วยเยียวยาปัญหาในสถานการณ์นี้
  5. กสทช. รัฐสภา และ รัฐบาล ประกาศวาระ Broadband for all ให้เป็นวาระแห่งชาติ และทำให้เป็นจริงสักที ทั้งขยายผลโครงการเน็ตประชารัฐ เน็ตชุมชน หรือ อะไรก็ตามแต่ แต่ทำให้จริงจัง เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในยุคโรคระบาด broadband ไม่ใช่อภิสิทธิ์เฉพาะคนมีรายได้เท่านั้น ต้องทำให้ Who have NOT. เปลี่ยนเป็น Who have NET. โดยทั่วกัน โดยเฉพาะเด็กที่ต้องเรียนหนังสือและเป็นอนาคตของชาติ เราไม่ควรทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

“รู้ว่าคงเรียกร้องกับรัฐบาลปัจจุบันยาก แต่ยังมีความหวังใน กสทช. เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของพี่ๆน้องๆ เจ้าหน้าที่ใน กสทช.ที่ตั้งใจดี ลองช่วยเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ถ้าเรื่องไหนทำอยู่แล้ว มาแจ้งประชาชน เรื่องไหนยังทำไม่เต็มที่ ฝากช่วยด้วยเถอะ ประเทศไทยมีวิกฤตหลายาเรื่องเหลือเกินแล้ว

“ฝาก กสทช. องค์กรที่เรายังรักและหวังดี ช่วยดูแลเรื่องนี้หน่อยค่ะ ส่วนตัวถ้าช่วยอะไรได้บ้างก็ยินดี” กล่าวปิดท้ายในโพสต์บน Facebook

ที่มา [1] [2]