เปิดตัว สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ “สกมช.” อย่างเป็นทางการ เร่งเครื่องภารกิจปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามไซเบอร์ พร้อมเร่งทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สร้างความตระหนักรู้ด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 พลโท ดร. ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ แถลงเปิดตัวสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ National Cyber Security Agency : NCSA อย่างเป็นทางการ

โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการเปิดงาน Virtual NCSA Grand Opening พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชน เข้าร่วมเป็นเกียรติกว่า 500 คน ในรูปแบบ Online Event

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ให้จัดตั้งสกมช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ”

“ดังนั้น สกมช. จะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติการ ประสานงาน สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือตามคำสั่งของคณะกรรมการ เพื่อทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” นายชัยวุฒิ กล่าว

ด้านพลโท ดร. ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “สกมช. จะมุ่งเน้นเข้าไปจัดการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เช่น ด้านการเงิน ด้านสื่อสารโทรคมนาคม ด้านความมั่นคง ด้านพลังงาน ด้านสาธารณสุข ฯลฯ โดยแบ่งระดับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับไม่ร้ายแรง ระดับร้ายแรง และระดับวิกฤติ”

“หน่วยงานของเราจะมุ่งมั่นเสนอแนะนโยบาย แผน ยุทธศาสตร์ และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง กำหนดแนวทาง มาตรฐาน มาตรการ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และจะสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต่อไปในอนาคต” พลโท ดร. ปรัชญา กล่าว

สำหรับวิสัยทัศน์ของ สกมช. คือ “เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศที่มีประสิทธิภาพพร้อมตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ทุกมิติ” ทั้งนี้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ พร้อมเร่งดำเนินการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อให้มีการดำเนินการเชิงปฏิบัติการที่มีลักษณะบูรณาการและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง