การผลักดันเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล THAILAND 4.0 เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตระหนักถึงการเข้ามาของยุคดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อพื้นที่การทำธุรกิจแบบไร้ขอบเขต ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

วันนี้เราจึงรวบรวมการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานรัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นในหลากหลายมิติ ทั้งในส่วนของโครงสร้างการสื่อสารพื้นฐาน การสร้างเครื่องมือในการขายเชิงอีคอมเมิร์ซ ขณะที่การเตรียมการด้านกฎหมายเพื่อปลดล็อกการติดขัดในการจัดตั้งธุรกิจหรือการประกอบอำนาจดิจิทัล เพื่อให้มีผลถูกต้องตามกฎหมายครบถ้วนสมบูรณ์

แน่นอนว่าการส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้และระบบนิเวศการแข่งขันในเชิงดิจิทัลก็เป็นอีกส่วนของความพยายามสร้างสังคมดิจิทัลขอหน่วยงานรัฐเช่นกัน

โครงสร้างการสื่อสารพื้นฐาน

“เน็ตประชารัฐ” เป็นโครงการหลักของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นในชุมชนพื้นที่ห่างไกล ด้วยบางพื้นที่หากภาคเอกชนจะลงทุนลากสายไฟเบอร์ หรือสร้างระบบอินเทอร์เน็ตให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นย่อมไม่มีความคุ้มทุนอย่างแน่นอน

การลดช่องว่างตรงนี้จึงเป็นความพยายามของหน่วยกระทรวงดิจิทัลฯ ในการสร้างจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั่นเอง

ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “THAILAND 4.0 ” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

ประกอบกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมทั่วประเทศที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Accessible) มีความพร้อมใช้ (Available) และอยู่ในราคาที่จ่ายได้ (Affordable)

ดังนั้น การพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจึงมีความจำเป็น และถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้ทัดเทียมกับประเทศอื่น แต่ในการขยายโครงข่ายฯ ในพื้นที่ห่างไกลมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ทำให้ผู้ให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยส่วนใหญ่เน้นพัฒนาการให้บริการในเขตชุมชนเมือง เป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ

โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน และจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload)

ซึ่งพื้นที่การดำเนินการได้ถูกกำหนดโดยคณะทำงานพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ต้นแบบของการสร้างเมืองต้นแบบอย่าง “โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart City)” ซึ่งจะกลายเป็นเมืองต้นแบบที่มีการปรับปรุงระเบียบและข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจและดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศต่อไปในอนาคต

โครงการส่งเสริมทักษะดิจิทัล

เมื่อโครงสร้างการสื่อสารเข้าถึงทุกพื้นที่แล้ว การถูกนำไปใช้งานเพื่อเสริมให้เกิดรายได้และอาชีพอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหากจะมองในส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้วนั้น หน่วยงานรัฐก็ยังจะมีสื่อการเรียนรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

ทั้งในด้านของ 1. อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น  2. Google App for Work 3. Open Shops on Social Network 4. การใช้งาน YouTube เบื้องต้น 5. รู้ทันภัยไซเบอร์ (ETDA) ซึ่งจะเป็นการผสานการสร้างองค์ความรู้ของทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันสร้างองค์ความรู้ดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง

อีกทั้งยังมีการประกวดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในเชิงดิจิทัล และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดการทำงานดิจิทัลรูปแบบใหม่หลากหลายโครงการ รวมไปถึงโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นและมีใจรักในเรื่องราวของเทคโนโลยีได้มีโอกาสเข้าถึงโอกาสแหล่งทุน และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศ

อย่างเช่น “โครงการพัฒนากำลังคนทางด้านดิจิทัลเพื่อสร้างธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล (Tech Startup)” ของหน่วยงานใหม่อย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ทางด้านดิจิทัล หรือ Tech Startup ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดเป็นสินค้าและบริการ

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการโดยตรง เช่น “โครงการส่งเสริม Digital Marketing สำหรับ SMEs ไทย” โดยโครงการมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสการแข่งขันจากการนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิตและการให้บริการในการดำเนินธุรกิจ รองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาคอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้ง 1.พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (E-Business) 2. กิจกรรมส่งเสริมการใช้งานระบบของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ 3. กิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการด้วย Technology Digital 4. ทำคู่มือเผยแพร่และคู่มือการใช้งานระบบการจัดเก็บข้อมูลสินค้า 5. จัดอบรม สัมมนา แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ

เป้าหมายของการบริการภาครัฐทั้งหมดจะถูกรวบรวมผ่านแอพพลิเคชัน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่ทั่วถึงมากขึ้น ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่จะครอบคลุมทั่วประเทศในเร็ววัน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการเช่นนี้เป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ EGA ผ่านระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ G-Cloud (Government Cloud Service) เป็นระบบเครือข่าย Fiber Optic ความเร็วสูงที่มีความปลอดภัย ถูกออกแบบให้ทำงานแบบ Multi Data Center เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต

ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมทุกกระทรวง กรม และส่วนราชการระดับภูมิภาค โดยติดตั้งเชื่อมโยงเครือข่ายไปทั่วประเทศ ในปี 2560 มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใช้บริการมากที่สุด 72 หน่วยงาน โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้งานมากที่สุดถึง 494 ระบบ

โดยในเบื้องต้นจะเป็นการบริการหน่วยงานไอทีภาครัฐ G-Cloud สามารถให้บริการโครงการสำคัญ ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย อาทิ ระบบโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, โครงการ National e-Payment โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), ระบบการยื่นแจ้งผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการนำเข้า

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ระบบโครงการดูแลสุขภาพตลอดช่วงชีวิต โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ, ระบบบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และระบบสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นต้น

ขณะที่ด้านความปลอดภัยมีการนำมาตรฐานระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO/IEC 27001:2013 มาเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2559 ที่ผ่านมา EGA ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน CSA STAR ในระดับที่ 2 CSA STAR Certification ซึ่งนับเป็นองค์กรชั้นนำระดับต้น ๆ ที่ผ่านมาตรฐานนี้ นี่คือการวางยุทธศาสตร์เชิงรุกของ EGA ในการผลักดันบริการ G-Cloud ให้มีความปลอดภัยสูงขึ้นตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เท่าทันต่อภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังรวมศูนย์การบริการของหน่วยงานรัฐเข้ามาไว้ใน GovChannel เป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐของหน่วยงานต่าง ๆ ได้จากจุดเดียว เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

โดยประชาชนที่สะดวกเข้าถึงบริการภาครัฐด้วย “คอมพิวเตอร์” จะสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐที่จัดทำเป็นเว็บท่าหรือ Portal site ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวมทุกช่องทางในชื่อของ GovChannel.go.th โดยภายในเว็บไซต์นี้จะพบกับทางเชื่อมไปสู่เว็บไซต์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับประชาชนที่ไม่สะดวกใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงบริการภาครัฐ ก็มีการพัฒนาช่องทางให้บริการผ่าน Government Kiosk หรือตู้บริการอเนกประสงค์ของรัฐ เป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐได้ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว และ Government Smart Box หรือเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นช่องทางเสริมในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และบริการต่าง ๆ ของรัฐในรูปแบบบริการออนไลน์ (e-Services) เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข่าวสารข้อมูลของรัฐไปยังประชาชน

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ อีกมากมายที่หน่วยงานของรัฐต่างร่วมมือกันสร้างสรรค์โครงสร้างทางดิจิทัล ทั้งในส่วนของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ลายเซ็นดิจิทัลมีผลทางกฎหมายมากขึ้น การวางโครงสร้างระบบเอกสารดิจิทัลให้มีผลในทางกฎหมาย

โดยเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลในทุกภาคส่วนขไงประชาชนทั้งในส่วนของภาคการเกษตร การขนส่ง การค้า การทะเบียนพาณิชย์ รวมไปถึงการบริการของหน่วยงานรัฐอีกหลากหลายรูปแบบที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการของรัฐบาลได้ รวมทั้งการสร้างระบบการเงินดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยได้เตรียมความพร้อมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยและประชาชนคนไทย ได้ก้าวข้ามยุคเดิม ๆ เข้าสู่ดิจิทัล THAILAND 4.0 เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ซึ่งเชื่อว่าในราวปลายปี 2561 เราน่าจะมีโอกาสได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเข้าสู่วิถีชีวิตแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น และหากไม่เชื่อก็ลองมองย้อนกลับไปสัก 5 ปี ดูว่าเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เราขาดสมาร์ตโฟนได้หรือไม่ และเมื่อเทียบกับวันนี้สมาร์ตโฟนมีบทบาทต่อชีวิตเราอย่างไร