เยาวชนไทยสร้างชื่อด้วยการสังเกตุ ประยุกต์เอาความรู้ในท้องถิ่น ผนวกกับการคิดวิเคราะห์ และทดลองทางวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จกับการคว้า 9 รางวัลจากการส่ง 5 โครงงานเข้าประกวดใน อินเทล ไอเซฟ

การประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นที่รัฐพิตต์สเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

Intel ISEF 2015 (3)

ผลงานจากนักเรียนไทยที่มีชื่อว่า “การศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหม” พัฒนาโดย นายนัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร นายธนานนท์ หิรัณย์วาณิชชากร และนางสาวสุทธิลักษณ์ รักดี จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสัตวศาสตร์

โดยได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับโอกาสให้เดินทางไปยังประเทศอิตาลีเพื่อร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์เยาวชน (Contest for Young Scientists) มูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมด้วยรางวัล First Physical Science Award มูลค่า 2,000 เหรียญสหรัฐ จาก The Scientific Research Society พร้อมด้วยเงินรางวัลชนะเลิศประจำสาขาการแข่งขันอีก 3,000 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้โครงงานที่มีชื่อว่า “ผลของสารสกัดหยาบจากหญ้าคาที่มีต่ออัตราการรอดชีวิตและอัตราการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและผลกระทบต่อแมลงตัวห้ำไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล” พัฒนาโดย     นายวสุ ชวนะสุพิชญ์, นางสาววณิชา โคตรวงศ์ษา และนางสาวณัชมุกดา ไพบูลย์จากโรงเรียนสาธิต ม.ขอนแก่น (มอดินแดง) ยังคว้ารางวัลอันดับ 3 ในสาขาพฤกษศาสตร์ เป็นทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับรางวัลพิเศษซึ่งสนับสนุนโดยบริษัทมอนซานโต

ส่วนโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ก็ทำผลงานได้โดดเด่นเช่นกันโดยมีนักเรียนถึงสองทีม ที่คว้ารางวัลอันดับ 3 ในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐมาได้สำเร็จ จากผลงานดังต่อไปนี้
ผลงาน “บรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากเซลลูโลสในดอกบัว” พัฒนาโดยนายธีรพัฒน์ มาน้อย, นายยุทธศาสตร์ สอนประสม และนายฤทธิกุล ธรฤทธิ์

ผลงาน “การดัดแปลงโครงสร้าง NANO MEMBRANE COMPACT จากคาร์บอนโพรงเซลลูโลสที่ติดด้วยเม็ดสีคอมโพสิตกับ TiO2” พัฒนาโดยนายปัณณวัฒน์ เพียรจัด และนางสาวอรวรรณ ทัศนเบญจกุล

นอกจากนั้นโครงงาน “การพัฒนาสารยึดติดกล้ากล้วยไม้จากยางผลกาฝาก” ผลงานของนายวัฒนะ ทำของดี จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ได้รับรางวัลอันดับ 4 เป็นทุนการศึกษามูลค่า 500 เหรียญสหรัฐ ในสาขาพฤกษศาสตร์ อีกด้วย

Intel ISEF 2015 (2)

ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในงานครั้งนี้คือ เรย์มอนด์ หวัง อายุ 17 ปีจากแคนาดา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากผลงานระบบระบายอากาศรูปแบบใหม่สำหรับห้องโดยสารเครื่องบิน เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ระบบระบายอากาศที่คิดค้นโดยเรย์มอนด์ หวัง สามารถช่วยให้ห้องโดยสารของเครื่องบินมีปริมาณอากาศที่สดชื่นมากขึ้นถึงร้อยละ 190 ทั้งยังการสูดหายใจเอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้สูงสุดถึง 55 เท่าตัว

เมื่อเทียบกับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังสามารถนำไปติดตั้งในอากาศยานต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย และมีราคาถูกอีกด้วย โดยในฐานะผู้ชนะการแข่งขัน นายหวังได้รับรางวัล กอร์ดอน อี. มัวร์ เป็นทุนการศึกษามูลค่า 75,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ กอร์ดอน อี. มัวร์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล