Eleader June 2015

ตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท คือ ความท้าทายของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ขยายตัวเติบโตไปพร้อมกับการตระหนักถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property (IP) ซึ่งผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยต้องเตรียมพร้อมรับการแข่งขัน เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งต่างชาติ และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บนฐานเศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

_MG_5425

ปริญญา กระจ่างมล รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เปิดเผยว่า ตามแนวทางนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลที่วางไว้ 5 แนวยุทธศาสตร์นั้น SIPA มีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) เป็นหลัก ด้วยการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ กระทั่งสามารถสร้างรายได้และผลทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

“ที่ผ่านมา SIPA ส่งเสริมเพียงในมุมของช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการซอฟแวร์เท่านั้น และเมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่การเป็น Digital Economy บทบาทของ SIPA ต้องมุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบไทยแข็งแกร่งทุกด้าน สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ไปถึงมือผู้บริโภคให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผลักดันให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยตระหนักถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property (IP) เพื่อสร้างการแข่งขันให้กับผู้ประกอบไทย” ปริญญา กล่าว

เนื่องจากนโยบายภาครัฐเรื่อง Digital Economy เป็นคำที่กว้างมากและทั่วโลกมองไม่เหมือนกัน คำที่ใช้กันมากคือ Digital Across Economy คือใช้ไอซีทีในทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยแต่ละประเทศจะใช้ไอซีทีพัฒนาตามความถนัดแต่ละประเทศ อย่างเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี 3 ประเทศนี้ใช้นวัตกรรมด้านไอทีในการพัฒนาประเทศจริง โดยดูจากตัวเลขสิทธิบัตร ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ตัวเลขการจดสิทธิบัตรมากถึงสองแสนกว่ารายการ รองลงมาคือเมริกา และเกาหลีใต้ ส่วนในประเทศอาเซียน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสิทธิบัตรเยอะที่สุดโดยมีประมาณ 5,000-7,000 รายการ สำหรับประเทศไทยมีประมาณ 1,000 รายการเท่านั้น

เน้นวางรากฐานต่อยอดธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย
ดังนั้น นับจากนี้จะเห็นว่าบทบาทใหม่ของ SIPA จึงไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาโซลูชันทางด้านไอทีออกมาให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ SIPA ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากว่าแนวโน้มของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Mobile application, Internet of thing, Big data และ Cloud computing ต่างเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจมากขึ้น ดังนั้น SIPA จะต้องนำไปเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้สร้างนวัตกรรมจากฐานเทคโนโลยีใหม่ ที่มาพร้อมกับการคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นมานาน และส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศทางตะวันตก เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ กระทั่งสามารถขายสร้างรายได้และเศรษฐกิจให้กับประเทศ ประกอบกับทางรัฐบาลส่งเสริมให้มีอิสระในการคิด กล้าเสี่ยงที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ จึงกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ และมีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแรง สำหรับประเทศไทยและในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ยังไม่ได้มีการวางรากฐานด้านอนุสัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพราะว่าอยู่ในฐานะที่ไม่ได้คิดค้นเทคโนโลยีหรือสร้างนวัตกรรมมาก่อน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงยังไม่แข็งแกร่ง จะเป็นเพียงกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธ์เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นมาสำเร็จแล้ว แตกต่างจากอเมริกา ที่การคุ้มครองซอฟต์แวร์จะเป็นแบบสิทธิบัตร ที่คุ้มครองตั้งแต่กระบวนการคิดไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์

“SIPA ให้ความสำคัญกับเรื่อง IP นี้มาก เพราะหากประเทศไทยสามารถดำเนินการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดขึ้นได้จริง จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มีความแข็งแรงพอ จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ลำบากขึ้น ในอีกมุมคือ ถ้าไม่ทำแบบนี้ ก็ต้องทำตามเขาเรื่อยไป ทำให้ไม่เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้น แต่ปัจจุบันได้ค้นพบคนรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ไปก๊อปปี้จากใคร”

เตรียมความพร้อมเปิดตลาดสู่ AEC
จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ๆ เริ่มมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ดังนั้นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา SIPA เองคอยติดตามอย่างใกล้ชิด โดย SIPA จะจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการ และแนวทางการรักษาทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยเริ่มขยายตลาดไปยังตลาดในอาเซียนผ่านฐานลูกค้า

“ที่ผ่านมา SIPA จะมุ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้เปิดช่องทางในการออกไปทำตลาดต่างประเทศ แต่วันนี้ SIPA จะเป็นผู้ดูความพร้อมของแต่ละประเทศเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ และถ้าผู้ประกอบการนำซอฟต์แวร์ไปขายต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ผู้ประกอบการก็ต้องรับรู้ในด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศเวียดนามว่าเป็นอย่างไร ในแต่ละประเทศระดับความพร้อมยังไม่เหมือนกัน และในบางประเทศกฎหมายด้านลิขสิทธิ์ยังไม่มี จึงต้องให้ผู้ประกอบการรับรู้กฎหมายของประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะบอกสิทธิ์คุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศแก่ผู้ประกอบการ และหาทางแก้ปัญหาต่อไป” ปริญญา กล่าวเสริม

เพราะไม่เพียงแค่นวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นใหม่มากขึ้นจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยน ความต้องการในโลกธุรกิจก็เปลี่ยนตาม สิ่งเหล่านี้จึงสร้างความซับซ้อนในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาค่อนข้างมาก เพราะเนื้อหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตสามารถคัดลอกกันง่ายขึ้น และยากที่จะตามจับว่าใครเป็นต้นเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ SIPA จะต้องให้ความรู้ต่อผู้ประกอบการและผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง และการคุ้มครองทรัพย์ทางปัญญาในอนาคต ควรจะเปลี่ยนเป็นการให้ผู้ประกอบการตระหนักรู้ถึงรูปแบบการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของเขาอย่างไร

ปริญญา กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแค่การวางรากฐานด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น SIPA ยังได้รับนโยบายให้เข้าร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดงาน Bangkok ICT Expo เพื่อส่งเสริมซอฟต์แวร์ภายใต้เนวคิดของSIPA ที่มุ่งเน้นไปที่ “Smart Life Smart Business” คือถ้าผู้คนออกจากบ้านแล้วจะมีอะไรเกี่ยวกับไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องในเชิงธุรกิจ หรือ บริการจากภาครัฐ เช่น Smart school Smart classroom หรือ จะเป็น Smart restaurant ที่สามารถสั่งส้มตำผ่านแอพพลิเคชัน หรือจะเป็น Smart Spa ที่จองคิวและดูการบริการผ่านแอพพลิเคชันได้ เป็นต้น

5 ยุทธศาสตร์นโยบาย Digital Economy
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Hard Infrastructure) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต่อไปจนถึงเป้าหมายการครอบคลุมทุกพื้นที่ การมีขนาดที่พอเพียงกับการใช้งาน มีเสถียรภาพที่มั่นคง ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รัฐจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้โครงข่ายการสื่อสารครอบคลุมทั่วประเทศในระดับหมู่บ้าน มีขนาดเพียงพอต่อการใช้งาน มีเสถียรภาพในราคาที่เหมาะสม ทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร หรือบรอดแบนด์ความเร็วสูงมากที่มีเสถียรภาพและมีราคาถูก (ร่วมกับจุดแข็งอื่นๆ ของประเทศ เช่น ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มีเสถียรภาพระบบตลาดที่ค่อนข้างเสรีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ใจกลางภูมิภาค และแรงงานทักษะสูงของประเทศที่มีคุณภาพ) พร้อมให้บริการสำหรับธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งในธุรกิจ ICT เอง (เช่น การมาตั้ง data center การให้บริการ Cloud Computing การมาร่วมทุนในธุรกิจโทรคมนาคม และซอฟต์แวร์แอพพลิเคชัน ฯลฯ) หรือธุรกิจอื่นๆที่ใช้ประโยชน์จากการสื่อสารที่มีคุณภาพในการเชื่อมต่อกับโลก

2.การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Soft Infrastructure) ทบทวน ปรับปรุง ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทุกฉบับ โดยมีกฎหมาย กฎระเบียบด้านการลงทุนและกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม (และอินเทอร์เน็ต) ที่ทันสมัย เป็นธรรมต่อ ทุกฝ่าย รวมถึงมีกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบดิจิทัล และการคุ้มครองข้อมูลประเภทต่างๆ เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่น และสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

3.โครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการ (Service Infrastructure) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการที่ครอบคลุม และมีมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมบริการผ่านระบบดิจิทัลต่างๆ ของทั้งภาครัฐ และเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงมาก โดยมีต้นทุนต่ำกว่าเดิมมาก สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ การส่งเสริมการให้บริการ รัฐจะเร่งยกระดับการให้บริการ e-Government โดยการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐผ่าน Platform ของรัฐ เน้นบริการพื้นฐานและบริการข้ามหน่วยงาน (รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลกลาง ID แห่งชาติ และการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ) รวมถึงจัดเก็บเปิดเผย และแลกเปลี่ยนข้อมูล ภาครัฐ ตามมาตรฐาน Open Data (และผลักดันให้มีกฎหมายการพัฒนา Open Government Data) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน API และนำมาซึ่งการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เชิงนวัตกรรมจาก ภาครัฐและเอกชน

4.การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างครบวงจร ที่มีผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Entrepreneur) เกิดใหม่จำนวนมาก และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่างๆ(เน้น SME) จากการแข่งขันเชิงราคา (ถูก) ไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service Innovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุด รัฐจะเพิ่มขีดความสามารถของภาคธุรกิจ ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์/บริการด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ การต่อยอดนวัตกรรม เช่น การตั้งศูนย์บริการ Digital Business Analytic ให้ผู้ประกอบการ SMEs, การตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจดิจิทัล SMEs, การสร้าง National APIs’ Platform สำหรับ SMEs, การขยายฐานการพัฒนา Service Platform ที่มีอยู่ให้รองรับบริการรูปแบบใหม่ รวมทั้งสร้าง Agile e-Marketplace บนระบบ Cloud Computing ที่มีความทันสมัยและสะดวกในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) เพื่อส่งเสริมธุรกิจไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนการสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

5.ดิจิทัลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ (Digital Society) คือ การพัฒนาสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาข้อมูลข่าวสาร และบริการของรัฐต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อคนทุกระดับ คำนึงถึงผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่างทั่วถึง เท่าเทียมกันผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้ง ประเทศไทยมีคลังทรัพยากรสารสนเทศเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และองค์ความรู้ของประเทศในรูปแบบดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและสามารถเรียกข้อมูลมาใช้หรือนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อย่างสะดวกง่ายดาย ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก