NIA

สนช. (NIA) ร่วมกับ ยูเอ็นดีพี (UNDP) พัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม สนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มเยาวชนเพื่อสร้างนวัตกรรมในภาครัฐ และการจัดตั้ง Regional Innovation Centre ในประเทศไทย สร้างศูนย์กลางในด้านเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใน CLMV

NIA and UNDP : Regional Innovation Centre

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP พัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมีความร่วมมือที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนด้านเครือข่ายนวัตกรรมทั้งภาครัฐ

และเอกชนเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ การสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มเยาวชนเพื่อสร้างนวัตกรรมในภาครัฐ และการจัดตั้ง Regional Innovation Centre ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในด้านเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใน CLMV

ในปีที่ผ่านมา สนช. ได้มุ่งผลักดันนวัตกรรมเชิงสังคมใน 9 ด้าน อาทิ การจัดการภัยพิบัติ เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้อนุมัติทุนสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้นกว่า 90 โครงการ มูลค่ากว่า 70 ล้านบาท และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมรวมทั้งสิ้นกว่า 580 ล้านบาท

NIA
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเป็นระบบที่ตอบโจทย์กิจกรรมของหลายภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งในช่วง 1 – 2 ปีทีผ่านมา สนช. เริ่มให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนาแพลตฟอร์มและสาขาธุรกิจเพื่อสังคม (social business sectors) ซึ่งครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคม โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการให้ประโยชน์หรือสาธิตนำร่องผลิตภัณฑ์

หรือกระบวนการที่เพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งนี้ สนช. ได้มุ่งสนับสนุนนวัตกรรมเชิงสังคมใน 9 ด้าน ได้แก่

  1. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  2. ความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน
  3. ภาครัฐและการศึกษา
  4. การเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม
  5. เกษตรกรรมยั่งยืน
  6. ความเป็นเมือง
  7. สุขภาพ
  8. การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
  9. การจัดการภัยพิบัติ

โดยมีกลไกการสนับสนุนที่พัฒนาขึ้นร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ ภายใต้โปรแกรมหลัก 5 โปรแกรม เพื่อให้ครอบคลุมบริบทต่างๆ ของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ได้แก่ โปรแกรมการสนับสนุนทุนโครงการ โปรแกรมการบ่มเพาะโดยหน่วยงานเครือข่าย โปรแกรมการขยายผลโครงการนวัตกรรม

โปรแกรมการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม และโปรแกรมการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมที่เหมาะกับโจทย์ทางสังคมทั้ง 9 ด้าน ซึ่งที่ผ่านมา สนช. ได้พิจารณาอนุมัติสนับสนุนโครงการนวัตกรรมด้านสังคม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 90 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนรวมกว่า 70 ล้านบาท

ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมรวมทั้งสิ้นกว่า 580 ล้านบาท และเพื่อให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้รับการพัฒนาในระดับที่กว้างขึ้น ล่าสุด สนช. จึงได้ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเป็นผู้ชำนาญในระดับนานาชาติด้านความร่วมมือระดับประเทศกับหน่วยงานภาครัฐ

NIA

เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือในการลงนามครั้งนี้ เอ็นไอเอและยูเอ็นดีพีจะร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 

· การสนับสนุนด้านเครือข่ายนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ กิจกรรมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การยกระดับธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม

· การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในภาครัฐ โดยผลักดันให้กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มเยาวชนได้มีส่วนร่วมพัฒนารูปแบบการจัดการองค์กรด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อให้บริการสาธารณะต่างๆ ที่เกิดจากภาครัฐให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

· การร่วมกันสนับสนุน Regional Innovation Centre ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในด้านเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมหรือองค์ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในระดับประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะในแถบ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)

สำหรับกิจกรรมหลังจากที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ ทั้งสองหน่วยงานจะเริ่มโครงการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมในระดับเยาวชน หรือ Youth Co:Lab โดยมีการส่งเสริมในหลากหลายด้าน เช่น การสร้างผลงานต้นแบบ การฝึกอบรม การจัดประกวดมอบรางวัล พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้

โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานเครือข่ายของ UNDP ที่จะให้ความรู้เฉพาะด้านและคำปรึกษาในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรม การร่วมกันประเมินผลกระทบทางสังคม เพื่อพัฒนาไปสู่ขั้นตอนต่อไปให้ประสบความสำเร็จ

ส่วนในอนาคตยังได้เตรียมพัฒนาฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้หลากหลายผลงานเป็นที่รู้จัก และสะดวกต่อการค้นหาโซลูชั่นที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาสังคม

NAI
มาร์ติน ฮาร์ท ฮานเซน รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ด้าน มาร์ติน ฮาร์ท ฮานเซน รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยูเอ็นดีพีมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับเอ็นไอเอภายใต้เอ็มโอยูฉบับนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมทำงานเพื่อพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมให้มีความแข็งแกร่งและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่