hands-1167612

การขยับเข้ามาของฟินเทค (FinTech) จำเป็นต้องได้มาตรการรองรับที่เหมาะสมจากภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการเงินที่สำคัญจึงหนีไม่พ้น ธนาคารแห่งประเทศซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและชี้เป็นชี้ตายธุรกิจการเงินในประเทศไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ และการทำแผนนโยบายเพื่อให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน จึงนับเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
การกำหนดแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แบ่งออกเป็นดังนี้ 1. แข่งได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของธนาคารให้สามารถแข่งขันได้ด้วยราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม 2. เข้าถึง ประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกและตรงกับความต้องการ 3. เชื่อมโยง ส่งเสริมให้สถาบันการเงินของไทยเชื่อมโยงบริการระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างแดน 4. ยั่งยืน การสร้างเสริมความมั่นคงของธนาคารไทย ให้สามารถรองรับความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้น เพื่อต่อยอดไปสู่การอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ขณะที่แนวทางในการพัฒนาที่สอดคล้องกับการเกิดฟินเทคนั้น หากมองในภาพรวมแล้ว แผนการพัฒนาดังกล่าวล้วนแต่เอื้อให้เกิดการให้บริการฟินเทคทั้งสิ้น หากแต่ส่วนสำคัญของการพัฒนาที่เอื้อโดยตรงกับการเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นก็น่าจะมีหลายส่วน โดยแบ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมทางการเงินได้จากทุกที่ทุกเวลา การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสตาร์ทอัพและนวัตกรรมใหม่ ๆ ขณะที่หมวดหมู่ที่สำคัญของการผลักดันให้เกิดการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นหมวดหมู่ที่ตรงความต้องการของบริการฟินเทคมากที่สุด คือการเพิ่มบทบาททางด้านการเงินให้กลุ่มฟินเทคมากขึ้น ภายใต้แผนการส่งเสริม Digitization ของระบบการเงินไทย

ทั้งนี้ความตั้งใจของธนาคารแห่งประเทศไทยตามแผนคือความพยายามในการลดต้นทุนของระบบการเงินไทยลง เพราะเมื่อมีการใช้บริการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่มากขึ้น ทั้งต้นทุนของการขนส่ง ตลอดจนการจัดการในตัวเงินจริงก็จะลดลง ดังนั้นเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญมาก หากแต่ทั้งเทคโนโลยีหน้าบ้านและเทคโนโลยีหลังบ้านของผู้ให้บริการทางการเงินกลับมีต้นทุนที่สูงมาก อีกทั้งการบริการและจัดการระบบหลังบ้านที่ต้องพร้อมรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาและให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความจำเป็นของการพัฒนาโครงสร้างรวมเพื่อลดต้นทุนจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของแผนพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ดิจิทัลอีโคโนมีได้อย่างจริงจัง

โอกาสของฟินเทคกับการเงินไทย
“ฟินเทคที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มต้นก็คือในเรื่องของระบบการชำระเงิน ซึ่งนับว่าเป็นธุรกรรมที่ฟินเทคทั่วโลกให้ความสนใจ” โดย ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นไว้ในงานสัมมนา “Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem” เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ขณะที่การผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย เน้นไปที่การวางแผนเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับโครงการอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์เพื่อเข้าถึงผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการที่เป็นรายย่อย โดยทั้งหมดจะเป็นระบบหลังบ้านหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบาทเนต ระบบเคลียริ่งเช็ค บริการพร้อมเพย์ หรือเรื่องของเดบิตการ์ด และนอกจากระบบการชำระเงินที่ได้ส่งเสริมให้เกิดฟินเทคขึ้นอย่างจริงจังแล้ว ระบบบริการทางด้านสินเชื่อก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ฟินเทคเข้ามาสร้างบทบาททางการเงินมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้โอกาสของการสร้างสินเชื่อจะต้องไม่กระตุ้นให้เกิดหนี้ภาคครัวเรือนโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะต้องระมัดระวังเสถียรภาพของระบบการเงิน เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เรื่องของการลงทุนและการออมก็เป็นจุดสำคัญ ดังนั้นต้นทุนที่ต่ำในการให้บริการก็มีโอกาสที่จะสร้างบริการทางการออมที่คุ้มค่าให้กับผู้ใช้บริการได้มากขึ้น แม้ว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำจะเกิดขึ้นอีกนานก็ตาม
กระนั้นการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนของธนาคารก็เริ่มมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปี 2559 มีตัวเลขของการขออนุญาตปิดสาขาธนาคารพาณิชย์มากกว่าการขออนุญาตเปิดสาขา ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงินที่พยายามจะลดต้นทุนการให้บริการ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้การบริหารความเสี่ยงก็เป็นอีกด้านที่ฟินเทคจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพจากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานขนาดใหญ่ ข้อมูลรายธุรกรรม หรือที่เรียกว่าบิ๊กดาต้า มีบทบาทมากขึ้นจะสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งาน เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างแคมเปญทางการตลาดได้ตรงความต้องการแบบเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ การวิเคราะห์ที่แม่นยำจะช่วยทำให้ต้นทุนทางการตลาดลดลงเนื่องจากการเข้าถึงตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

“ความคาดหวังของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องที่เกี่ยวกับฟินเทค เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้ฟินเทคของไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการมีความน่าเชื่อถือ การได้รับการยอมรับจากประชาชน มีระบบที่ปลอดภัยและมั่นคง เราหวังว่าฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเติมเต็มช่องว่างของการให้บริการทางการเงินในประเทศไทยด้วยบริการที่มีคุณภาพ ด้วยราคาที่ถูกลง และตรงกับความต้องการของมาร์เก็ตเซ็กเมนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐเรียกว่าเป็นนีชเซ็กเมนต์ (Niche Segment) ซึ่งสถาบันการเงินขนาดใหญ่อาจจะมองข้ามไปหรือให้บริการได้ไม่ทั่วถึง” ดร. วิรไท สันติประภพ กล่าวย้ำ

แต่กระนั้น การควบคุมฟินเทคเพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบทั้งในระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศย่อมต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นนอกจากจะต้องส่งเสริมเรื่องของการใช้ฟินเทคให้มีความมั่นคงปลอดภัยแล้ว เรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค การคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานทางการหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการที่ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ และด้านผู้ใช้บริการต้องสามารถเลือกซื้อหรือเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการของตนเอง อีกทั้งเมื่อมีปัญหา ต้องมีกระบวนการดูแลและแก้ไข รับข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการได้ หรือถ้าไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องได้รับค่าชดเชยหรือการดูแลอย่างสมควร และท้ายที่สุดคือต้องรักษาข้อมูลความลับของผู้ใช้บริการ ต้องสอดคล้องกับธรรมาภิบาลของผู้ให้บริการฟินเทคต่าง ๆ อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ มากขึ้น จากเดิมที่มีลักษณะ One Size Fit All ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กับทุกเรื่องภายใต้ข้อกำหนดเดียว ซึ่งไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่จะสามารถผ่อนคลายหรือว่ายกเว้นเงื่อนไขบางอย่างที่จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ได้อย่างเต็มที่ หรือบางอย่างอาจจะเป็นการปิดกั้นการเกิดนวัตกรรมใหม่ก็เป็นได้ การทำงานด้วยระบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Regulatory Sandbox’ จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ โดยจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องของฟินเทค และลดภาระด้านการกำกับดูแลที่เป็นกำแพงขวางกั้นไม่ให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ขึ้นได้

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง
ด้วยข้อจำกัดที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินหลายอย่างของประเทศไทยซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เท่าทันที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ โดยเฉพาะธุรกรรมทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเริ่มต้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบการชำระเงิน โดยเริ่มเสนอกฎหมายใหม่ ซึ่งก็คือ กฎหมายระบบการชำระเงิน หรือ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงินที่มีเสถียรภาพมากกว่าเดิม ทั้งนี้จากเดิมมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลากหลายจำนวนมาก ตั้งแต่ประกาศคณะปฏิวัติปี 2558 มีพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน มีประกาศกระทรวงการคลัง มีพระราชกฤษฎีกาของกระทรวงไอซีที และมีความลักลั่นอยู่ในกรอบกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งมีช่องโหว่ของกฎหมายอีกมาก ทำให้มาตรการเรื่องการกำกับดูแลระบบการชำระเงินอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานสากล

ดังนั้นเรื่องแรกที่สำคัญคือการนำเสนอกรอบกฎหมายระบบการชำระเงินใหม่ ซึ่งผ่านขั้นตอนความเห็นของคณะรัฐมนตรีแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในไม่ช้า โดยวัตถุประสงค์สำคัญของกฎหมายระบบการชำระเงินคือ การมุ่งส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางด้านการเงิน และวางกรอบการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมระบบการชำระเงินเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการทำกระบวนการเก็บข้อมูลที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ KYC หรือ Know Your Customer เพื่อนำมาตรวจสอบผู้ถือครองบัญชีที่แท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการให้บริการทางการเงิน และเป็นมาตรฐานระดับโลก สามารถเป็นกรอบมาตรฐานในการออกไปแข่งขันกับตลาดธุรกรรมทางการเงินในต่างประเทศได้อย่างมีมาตรฐาน

ทั้งนี้ในส่วนของมาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์ KYC นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศแนวทางสนับสนุนสำหรับสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับปรุงวิธีการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูล อย่างเช่นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ ทำให้เกิดการใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ผลักดันให้เกิดมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการชำระเงินขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานกลางที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การใช้คิวอาร์โค้ดที่ใช้ในเรื่องของธุรกิจการเงิน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะมีมาตรฐานคิวอาร์โค้ดที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการทางการเงินเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานกลางทางด้านการเงินที่ทันสมัยและสามารถต่อยอดบริการทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกับสถาบันการเงินด้วยตัวเองหรือกับผู้ให้บริการที่เรียกว่า Non-Bank อาทิ ผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทด้านโทรคมนาคม ทำให้เกิดระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ขึ้น หรือแม้กระทั่งระบบพร้อมเพย์ซึ่งเป็นระบบกลางที่จะทำให้เกิดแอพพลิเคชันใหม่ ๆ ต่อยอดไปได้

ขณะที่การแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร กฎหมายของ NCB ที่ทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่างเช่น P-P Platform สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรได้ ซึ่งผ่านขั้นตอนการนำเสนอคณะกรรมการข้อมูลเครดิตและมีมติอนุมัติแล้ว พร้อมทั้งได้มีการลงนามหนังสือขอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ทางกระทรวงการคลัง โดยกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณา อีกทั้งได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และอนุมัติให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุนของสถาบันการเงินในธุรกิจที่เป็นฟินเทคหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน เรียกว่ามีการผ่อนคลายค่อนข้างมากโดยจะมีผลในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการแก้ไขข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 จะเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทย และช่วยให้มีการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) โดยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนและธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อด้วยช่องทางที่หลากหลายและมีต้นทุนรวมทั้งค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม เป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจ การประกอบอาชีพ การศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกัน การส่งเสริมความรู้ทางการเงินอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีการบริหารจัดการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมกันนี้ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นมาตรฐานสากลจะช่วยดูแลและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการด้วย

จะเห็นได้ว่าความพยายามของภาครัฐในการกำหนดนโยบายทางการเงิน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดสตาร์ทอัปด้านนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ นั้นมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีการวางกรอบการทำงานเพื่อศึกษา ส่งเสริม และแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อเอื้อให้สังคมไทยเกิดประโยชน์จากการใช้งานด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และที่สำคัญ การสร้างมาตรฐานการตรวจสอบที่เป็นสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางการเงินนับเป็นอีกหนึ่งโครงการสร้างและกระตุ้นให้เกิดฟินเทคขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน