Eleader May 2015

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวิสเคป คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด ผู้วิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากนโยบาย Digital Economy ที่รัฐบาลต้องการผลักดันการบริหารงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลนั้นมีความแตกต่างกับการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อย่างสิ้นเชิง

การจะเป็นรัฐบาลดิจิทัลนั้นต้องใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนบูรณาการของกลยุทธ์ ทำให้รัฐบาลมีความทันสมัย เกิดคุณค่าสาธารณะ โดยจำเป็นต้องอาศัยระบบนิเวศ 3 ส่วนคือ การสร้างและเข้าถึงข้อมูล (Data) บริการ (Service) และเนื้อหาต่างๆ (Content) ผ่านองค์กรรัฐ เอกชน สมาคมและประชาชน ขณะที่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นเพียงการนำระบบไอซีทีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และระบบให้บริการของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้เท่านั้น

ดังนั้นความท้าทายของประเทศไทยต่อพัฒนาการไปสู่รัฐบาลดิจิทัลนั้น แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการเมือง โดยด้านสังคมนั้นรัฐบาลต้องผลักดันและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ให้สิทธิเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้งความคาดหวัง การคุ้มครองและบริการประชาชนได้โดยประชาชนเองก็สามารถเข้าถึงสมาร์ตดีไวซ์ง่ายมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

สำหรับด้านเทคโนโลยีนั้น ต้องสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ การใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ทุกที่ เชื่อมต่อได้ทุกอย่าง (Internet of Things) ผ่านอุปกรณ์ที่ชาญฉลาดบนระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ขณะที่ด้านเศรษฐกิจต้องมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการสร้างวิสาหกิจรูปแบบใหม่ เช่น กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) มีการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ และมีการใช้ประโยชน์จาก Big Data

ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องไม่มีการแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนโดยเอกชน มีการอนุรักษ์ธรรมชาติและการป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ และต้องมีความรับผิดชอบของภาครัฐ (Public Responsibility) ต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ด้านการเมืองนั้นต้องมีความมั่นคง สร้างความสงบในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน และควรเป็นรัฐบาลแบบเปิด (Open Government) มีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ไม่มีการคอร์รัปชั่น เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะของรัฐบาลดิจิทัล ต้องจัดทำนโยบายขอบเขตงานให้กว้างไปกว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีขอบเขตการบริการภาครัฐ (Public Sector Service) ที่ชัดเจน และต้องมีภาวะผู้นำทางรัฐบาลดิจิทัล มีการดูแลป้องกันข้อมูลส่วนตัว และการเปิดเผยข้อมูล ขณะเดียวกันก็สร้างนวัตกรรมการบริการภาครัฐ (Public Sector Innovation) สร้างความเป็นสากลให้กับรัฐบาลดิจิทัล มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขนาดใหญ่ ไปพร้อมกับการพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นกลไกในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และลดการบริหารความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

“ทั้งนี้ประเด็นเชิงนโยบายสาธารณะสำหรับรัฐบาลดิจิทัลที่มีผลต่อประเทศไทยในทศวรรษที่ 2560 ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) ไปพร้อมๆ กับการสร้างรัฐบาลแห่งการเรียนรู้ (Learning Government) จึงจะก่อให้ความรู้ความเข้าใจ (Knowledge Intensive Workforce) ที่แท้จริง” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว