EA
EASmart City เป็นนโยบายขับเคลื่อนประเทศที่มีความสำคัญ ขณะที่องค์กรส่วนใหญ่ ตระหนักถึงทิศทางดังกล่าว และกำลังตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานภาครัฐ

กลุ่ม CIO16

EA Smart City

และสมาคมสถาปนิกเทคโนโลยี สารสนเทศประเทศไทย (TITAA) ร่วมกันจัดงาน Dinner Talk ในหัวข้อ “Thailand 4.0 & EA” เพื่อเป็นการฉายภาพของการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กรให้สอดรับกับแนวนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐและ ความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล

EA หรือ Enterprise Architecture เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนางานด้านไอทีทั้งหมดขององค์กร การกำหนดโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น เปรียบเสมือนกับการสร้างบ้านที่มีการกำหนดคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างละเอียดบนพิมพ์เขียว ซึ่งทำให้การลงทุนและการพัฒนาต่อยอดงานด้านไอทีในส่วนต่าง ๆ นั้นทำได้ง่ายขึ้น

ซึ่งในโอกาสที่ภาครัฐได้กำหนดนโยบาย Thailand 4.0เพื่อให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ นำนวัตกรรมมาใช้ในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนาเมืองต้นแบบหรือSmart City นั้น สมาคมทั้งสองแห่งที่ประกอบด้วยซีไอโอและกลุ่มผู้บริหารงานด้านไอทีจึงจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมของสถาปัตยกรรมไอที เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปสู่การทำงานในระดับ Smart City และผสานกับแนวนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ

EA ต้องสอดคล้องกับ Smart City

ดร. กำพล ศรธนะรัตน์ นายกสมาคมซีไอโอ 16 และนายกสมาคมสถาปนิกเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า EA หรือ Enterprise Architecture เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับองค์กรของไทย และเป็นสิ่งที่องค์กรทุกแห่งต้องกำหนดนิยาม และแนวทางปฏิบัติให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐ

ทั้ง Smart City และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของประเทศ เมื่อได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแล้วประการต่อมาคือการทำความเข้าใจกับบุคลากรด้านไอทีขององค์กร เพื่อให้การพัฒนา EA เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

ความท้าทายของ EA ในการก้าวสู่ Smart City

ภายใต้มุมมองในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของแต่ละองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล กลายเป็นความท้าทายขององค์กรชั้นนำที่ต้องกำหนดมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้สอดคล้องความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานไอทีขององค์กร และยังต้องเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของประเทศ

เพราะในที่สุดแล้วโครงสร้างของ Smart City ไม่ใช่เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีทั้งหมดของเมือง ซึ่งรวมทั้งส่วนของภาครัฐและส่วนของภาคเอกชนด้วย ยกตัวอย่างเช่น การใช้งาน IP Cameraในโซลูชัน Safe City นั้น นอกเหนือจากการใช้งานในส่วนของภาครัฐแล้วยังต้องมีการเชื่อมโยงระบบกับภาคเอกชนเพื่อให้มองเห็นทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองได้อย่างแท้จริง

ดร. กฤชชลัช ฐิติกมล

ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่าย IT Strategy and Architecture ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่าองค์กรที่จะประสบความสำเร็จในการทำ EA นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเข้าใจเป้าหมายในการพัฒนาไอทีขององค์กรให้ชัดเจนเดินหน้าตามแผนงานและตรวจสอบการทำงานอยู่เสมอ รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรรองรับอีกด้วย

สาวิตร สุทธิพันธุ์

รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความคิดเห็นว่า ความท้าทายในการพัฒนา EA ของแต่ละองค์กรอยู่ที่การเข้าใจตัวเอง การรู้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ และวางแผนการปฏิบัติที่ถูกต้อง และการทำ EA Smart City ที่ดีจะต้องคำนึงมาตรฐานด้านไอทีของเมือง และของประเทศด้วย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง EA ระหว่างหน่วยงานได้อย่างแท้จริง

องค์กรชั้นนำของไทยต้องวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กร และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ สอดคล้องกับเป้าหมาย Smart City และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านไอทีของภาครัฐ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงผ่าน API Protocol และสนับสนุนการทำงานได้อย่างแท้จริง

สุดท้ายแล้วข้อมูลบิ๊กดาต้าที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ IoT ทั้งหลายจะไหลเวียนผ่านเครือข่าย EA Smart City ไปยัง Control Center และก่อให้เกิดการบูรณาการด้านข้อมูลและก้าวสู่ Smart City อย่างแท้จริง

พีรบูลย์ ไพบูลย์ธรรม

กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพรม์เทคโนโลยี บริษัทที่ปรึกษาในการทำ EA ให้องค์กรชั้นนำ ให้มุมมองว่า แม้ EA จะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความรับผิดชอบของแต่ละองค์กรที่ต้องออกแบบระบบให้อยู่ภายใต้มาตรฐานกลาง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน

แต่ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริหารระดับสูงกลับให้ความสำคัญในส่วนนี้น้อยมาก เมื่อจะเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเข้าด้วยกันจึงเกิดปัญหาในการเชื่อมโยง ดังนั้นผู้บริหารองค์กรชั้นนำต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ให้สอดคล้องกับมาตรฐานกลาง และมาตรฐานของภาครัฐ

ด้านผู้บริหารของหัวเว่ย เทคโนโลยี Edwin Diender Vice President Government & Public Utility Sector, Huawei Enterprise Business Group กล่าวว่า ปัจจุบัน เมืองชั้นนำของโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการบริหาร จัดการเมืองใหญ่ การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการจราจร และปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เมืองชั้นนำของโลกกำหนดเป้าหมายการก้าวสู่ Smart City

เช่น การรับมือกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของเมืองนิวยอร์ก การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% ในปี 2025 ของเมืองอัมสเตอร์ดัม การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของสิงคโปร์ และการเป็นมหานครแห่งความสุขของเมืองดูไบ

ภายใต้การพัฒนา Smart City ของเมืองชั้นนำ Huawei ได้นำเสนอโซลูชันที่การบริหารจัดการ Smart City ที่เรียกว่า The Nerve Center ที่มี Intelligent Operation Center ที่เป็นศูนย์ควบคุมกลาง ที่รับข้อมูลจาก Internet of Things และ Peripheral Nervous System

ภายใต้โซลูชัน Smart City ของ Huawei ได้เชื่อมโยง Application ทั้งหมดในเมืองเข้าด้วยกัน ทั้ง Smart Government, Safe City, Smart Transportation, Operation Center, Command Center, Decision Center, smart Campus, Smart Community etc. โดยแอพพลิเคชันทั้งหมดจะเชื่อมโยงบน Platform IOC Operation Management Platform, Big Data Service Platform และ ICT ApplicationEnabling Platform โดยมีระบบเครือข่ายของเมืองและระบบคลาวด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำงานของโซลูชัน Smart City

ปัจจุบัน Huawei พัฒนา Smart City ให้กับเมืองต่าง ๆ มากกว่า 100 เมืองใน 40 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมประชากรมากกว่า 400 ล้านคน ซึ่งภายใต้ทิศทางการก้าวสู่ Smart City นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรชั้นนำและภาครัฐจะต้องบูรณาการการเชื่อมโยงโครงสร้าง พื้นฐานด้านไอที และร่วมกันกำหนดมาตรฐานกลางของอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการพัฒนาภายใต้กรอบการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ IoT เช่น กล้อง IP Camera และเซนเซอร์ ตรวจวัดต่าง ๆ เช่น การตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และเซนเซอร์การแจ้งเตือนต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การบูรณาการ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีไปสู่ Smart City ได้อย่างแท้จริง