Eleader May 2015

V_ CDG

นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ซีดีจี เผยมุมมองต่อนโยบาย Digital Economy ดังนี้ Digital Economy มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน โดยมี e-Government เป็นปัจจัยรากฐานที่สำคัญช่วยยกระดับประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ-ภาคธุรกิจ, ด้านสังคม และด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประเทศ, ด้านสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน

นอกจากนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร และใช้ฐานข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และกลายเป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นพื้นฐานไปสู่การต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาประเทศ ช่วยยกระดับประเทศให้มีศักยภาพทัดเทียมต่างชาติ สามารถแข่งขันได้ในระดับอาเซียน

ด้านประชาชนทุกคนจะมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้การผลิต การขาย และการบริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ในส่วนของ e-Government ที่เป็นพื้นฐานของ Digital Economy นั้น จะเพิ่มประโยชน์ให้ภาคประชาชนในด้านต่างๆ เช่น
ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ-ภาคธุรกิจ การบูรณาการฐานข้อมูลหลายๆ หน่วยงานเข้าด้วยกัน และเทคโนโลยีที่ช่วยด้านการส่งต่อข้อมูล ช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยาก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างความโปร่งใส ซึ่งช่วยจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

ด้านสังคมและด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประเทศ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ ไฟฟ้า พื้นที่อยู่อาศัย หรือทรัพยากรป่าไม้ ยิ่งเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC ก็จะมีประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามามากขึ้น ซึ่งย่อมมีความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น จึงต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีและฐานข้อมูลที่แม่นยำ

ด้านสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน การไหลบ่าเข้ามาของแรงงานต่างชาติจะเพิ่มความท้าทายให้แก่ภาครัฐในการดูแลสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยแก่ประชาชน การควบคุมอาชญากรรมและอัตราการแพร่กระจายในกรณีที่เกิดโรคระบาดจะเป็นไปได้ยากขึ้น

หากมองในภาคอุตสาหกรรมไอซีทีกับแนวนโยบาย Digital Economy นั้นยากจะแยกออกจากกัน เพราะโดยส่วนใหญ่รัฐบาลจะเป็นผู้ออกนโยบาย แต่ภาคธุรกิจจะเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ และผลักดันให้เกิดขึ้น อุตสาหกรรมไอซีทีเป็นหน่วยงานหลักที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความสามารถในการประยุกต์ ความรู้ทางไอที มาเป็นคำตอบในการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย เช่น สารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS โดยภาครัฐใช้ GIS ประเมิน วิเคราะห์และตัดสินใจ วางรากฐานทางด้านระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศระดับประเทศ ที่ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารด้านภูมิสารสนเทศ เพื่อใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ได้จึงเป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ ที่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และตรงกับความต้องการได้ ทำให้ GIS มีความสำคัญเป็น National IT Platform สำหรับ Digital Economy

นอกจากนี้ Cloud Technology ก็มีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบัน ช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงและแบ่งปันทรัพยากรกันได้ด้าน Big Data ที่รวบรวม-จัดเก็บ-วิเคราะห์ข้อมูลจากโลกโซเชียลมีเดีย และนำมาวิเคราะห์ประกอบกับข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีความเข้าใจ สามารถตอบสนองและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันท่วงที

ซีดีจีเราให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อพร้อมให้บริการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจรแก่หน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนนโยบาย Digital Economy ผ่านการให้บริการ 3 ส่วน คือ 1.การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม 2.การยกระดับระบบการทำงาน back office และ core application ของหน่วยงาน และ 3.การยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐแก่ประชาชน