Eleader January 2015

3 ค่ายมือถือเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ผนึกกำลังกดดันรัฐเร่งผลักดันเปิดประมูลมือถือ 4G บนคลื่นความถี่ 850 900และ 1800 เมกะเฮิร์ตซให้ได้ในปี 2558 คาดเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท สร้างงาน สร้างเศรษฐกิ ดิจิตอลโตได้จริงจากบริการซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชันบนมือถือ

น้อยครั้งที่จะได้เห็นผู้ให้บริการมือถือ 3 ค่ายใหญ่ของประเทศไทย เอไอเอส ดีแทคและทรูมูฟเอช รวมตัวกันเพื่อแสดงเจตนารมย์และความพร้อมในการเข้าร่วมการประมูลคลื่น 4G ในปี 2558 นี้ สืบเนื่องจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวย้ำถึงการเปิดประมูลคลื่น 4G ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ แล้วเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ทั้งนี้ จะเป็นการดำเนินงานคู่ขนานไปกับการดำเนินงานของคณะกรรมการปรับโครงสร้างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ไปสู่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจเและสังคม นั้นเอง

สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าที่หน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เพื่อสนองตอบนโยบายและแนวคิดของรัฐบาลที่ก้าวสู่เศรษฐกิจ ดิจิทัล ประเทศไทยยต้องพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานด้านโทรคมนาคม หรือ Telecom Infrastructure เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบเทคโนโลยีใหม่ (Technology & Trend) โดยเฉพาะบริการด้านซอฟต์แวร์ผ่านคลาวด์ (SaaS)และแอพพลิเคชันบนมือถือ

และทั้ง 3ค่ายมือถือพร้อมที่จะลงทุนประมูล 4G เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม (Infrastructure Telecom)ให้กับประเทศโดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนเอง ดังเช่น โครงการรถไฟที่รัฐต้องลงทุนเองมีมูลค่าสูง แต่สำหรับInfrastructure Telecom หากรัฐมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ให้เอกชนรัฐจะได้เงินจากการประมูลสามารถนำเงินไปใช้ในส่วนอื่นๆ ขณะที่เอกชนพร้อมที่จะลงทุนรวมกัน 3 ค่ายไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท มีการสร้างงานเกิดขึ้นและหนุนให้เศรษฐกิจเติบโต เกิดDigital Economy ที่ดีขึ้น และหากรัฐปล่อยให้ล่าช้าออกไป กลับจะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสและนโยบายไม่ขับเคลื่อน ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ประเทศเศรษฐกิจดิจิตอลได้ต้องมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งวันนี้ต้องตระหนักถึงการนำความถี่มาใช้เพื่อสร้างการเข้าถึงข้อมูล โดย 4G จะทำให้มีใช้งานดาต้าเร็วมากขึ้นเมื่อเทียบกับเทคโนโลยี3G และมือถือสมาร์ตโฟนเองก็ได้ปรับโฉมไปสู่การเป็นคอมพิวเตอร์พกพา ดังนั้นซอฟต์แวร์จะเข้าสู่บทบาทการวิเคราะห์ข้อมูล(Analytics) ที่มีจำนวนมหาศาล ในหลายๆประเทศกำลังเข้าสู่ยุค Analytics กลุ่มเป้าหมายจะมีขนาดเล็กลง มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักธุรกิจหน้าใหม่ หรือ Start Up ทำให้เกิดบริษัทพัฒนาบริการซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชันใหม่ๆสำหรับใช้งานบนมือถือ 4G เกิดขึ้นหากโครงข่าย4Gมีความเร็วขึ้น ก็จะสร้างโอกาสธุรกิจให้นำแอพพลิเคชันไปสู่ตลาดโลกได้

ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานดาต้าบนมือถือในประเทศไทยมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง โดยอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟน (smartphone penetration) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 35% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 61% ในปี พ.ศ. 2560 ดังนั้น การใช้งานโมบายล์ดาต้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าในทุกๆ ปีในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าที่เติบโตสูงอย่างรวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปลดล็อกคลื่นความถี่

“ทางออกที่เราขอเสนอในวันนี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตรงกับความต้องการใช้งานสำหรับลูกค้า รัฐบาลและสังคมโดยรวม ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในปี พ.ศ. 2558 สำหรับการนำคลื่นความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ตลอดจนถึง การนำย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850MHz และ 900MHz มาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคมอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับภาครัฐที่ต้องการนำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการติดต่อสื่อสารสู่สังคมเมืองและชนบททั่วประเทศ” ชิคเว่ กล่าว

ทั้งนี้ ทั้งเอไอส ดีแทคและทรูมูฟ แสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างระบบ เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภารกิจหลักของรัฐบาล คือ การปลดล็อคศักยภาพทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ