ฟิลิปปินส์จับมือสิงคโปร์ทำโครงการ Digital Pilipinas พัฒนาชีวิตดิจิทัลให้ชาวฟิลิปปินส์ เน้นด้านการป้องกันทางไซเบอร์, อีคอมเมิร์ซ, เทคโนโลยีการศึกษา, เทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงในด้านเทคโนโลยีการประกัน 

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 หน่วยงานของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ภาคเอกชนในฟิลิปปินส์ และธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศเปิดตัว “Digital Pilipinas: A Closer Look at the Philippine Sandbox” ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับประเทศและระดับโลก

โดย Digital Pilipinas เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันจากบริษัท GeiserMaclang Marketing Communications และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ผ่านทางธนาคารกลางสิงคโปร์ และจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ผ่านทางกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (DTI) และกระทรวงการคลัง (DOF)

Sopnendu Mohanty ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ กล่าวว่า “ถ้ามีตลาดหนึ่งแห่งในเอเชียที่มีศักยภาพมากที่สุดที่เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงได้ นั่นก็คือฟิลิปปินส์ เราจะส่งเสริมเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนเพื่อความก้าวหน้า ดังนั้น ความเป็นอยู่ของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการแซนด์บ็อกซ์นี้ประสบความสำเร็จ”

ขณะที่ Amor Maclang ประธานโครงการ Digital Pilipinas และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท GeiserMaclang ย้ำว่า เทคโนโลยีสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีมานานมาก ได้ตามที่ระบุไว้ในแผน 12 ข้อในโครงการ Digital Pilipinas

“นวัตกรรมต่าง ๆ กำลังเกิดขึ้นในแซนด์บ็อกซ์เอเชีย แต่เราก็ต้องทำให้มากกว่าแค่ยกระดับคุณสมบัติด้านนวัตกรรมของเราในฐานะประเทศเพื่อคงความได้เปรียบด้านแข่งขันไว้ เราต้องการคุณสมบัติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้นำในอนาคตของเราด้วย” Amor Maclang กล่าว

Ramon Lopez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม เน้นย้ำอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตของประเทศ โดยกล่าวว่า “ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด รัฐบาลได้ใช้การเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผลักดันให้เกิดความง่ายในการทำธุรกิจ การนำอีคอมเมิร์ซมาใช้จึงอำนวยความสะดวกให้กับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลของธุรกิจ รัฐบาลยังคงมีความมุ่งมั่นต่อบทบาทของตนเองในการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในประเทศของเราสามารถรับประกันได้ว่าประชาชนของเราจะได้รับประโยชน์ในอีคอมเมิร์ซ”

ด้าน Carlos Dominguez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ ระบุถึงความสำเร็จครั้งสำคัญในการจัดเก็บภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเขากล่าวว่า “เศรษฐกิจต่าง ๆ ของเราจะต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ้าพวกเขาต้องการที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้แต่ก่อนเกิดโรคระบาด รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็สนับสนุนการขยายตัวอย่างรวดเร็วของฟินเทคในประเทศของเรา และหน่วยงานด้านจัดเก็บรายได้ของเราก็ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มที่แล้ว”

แผน 12 ข้อในโครงการ Digital Pilipinas นำเสนอวิธีแก้ไขเพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ภายในระบบอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดจาก ICT ไปด้วย โดยแผน 12 ข้อได้แก่ เทคโนโลยีการเงิน เทคโนโลยีของภาครัฐและเทคโนโลยีในการกำกับดูแลกฎ เทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ การเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบธนาคารสำหรับชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศ อนาคตในการเคลื่อนย้าย เทคโนโลยีประกัน อีคอมเมิร์ซ ความปลอดภัยในระบบไซเบอร์ การซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเทอร์เน็ต อนาคตแห่งการศึกษา เมืองระบบดิจิทัล และเกมมิง

กิจกรรมที่ดำเนินมาร่วมหลายเดือนของโครงการ Digital Pilipinas จึงนำไปสู่งาน World FinTech Festival ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2564 นี้ ซึ่งงานนี้ผู้นำและผู้บุกเบิกด้านเทคโนโลยีระดับชั้นนำของประเทศ จะมาร่วมแบ่งปันความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้ม และความคล่องตัวในองค์กรในความปกติรูปแบบใหม่

หน่วยงานที่จะมาร่วมนี้ได้แก่ผู้ร่วมจัดทำโครงการ Digital Pilipinas ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายนวัตกรรมทางการเงินอาเซียน (AFIN)/ APIX, Angkas, Dragonpay, หอการค้ายุโรปประจำฟิลิปปินส์, สมาคมฟินเทคฟิลิปปินส์, Global Impact Fintech Forum (GIFT), Insular Life, Kimstore, KPMG of the Philippines (R.G. Manabat & Co), Mynt (GCash), Overseas Filipino Bank (OF Bank), The Final Pitch, Tier One Entertainment, Union Bank of the Philippines, UNObank, Women Future Conference และ Xendit Philippines

“เรายังไม่มีอิสระอย่างแท้จริง จนกว่าเราจะควบคุมอนาคตดิจิทัลของเราในฐานะประเทศ” Amor Maclang ประธานโครงการ Digital Pilipinas กล่าวย้ำปิดท้าย

เข้าร่วมโครงการนี้ได้ที่ www.digitalpilipinas.ph หรืออีเมล์มาที่ info@digitalpilipinas.ph