Eleader May 2015

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งทางด้านการดำเนินชีวิตที่สะดวกสบายและชาญฉลาดยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมศักยภาพของประเทศและประชากรให้ก้าวสู่การแข่งขันทางธุรกิจและฝีมือแรงงานในการเปิดประชาคมอาเซียนในไม่ช้านี้

V_Intel_คุณสนธยา

สนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ด้วยความคิดริเริ่มของเศรษฐกิจดิจิตอลในประเทศไทย รัฐบาลได้มีเป้าหมายในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร พร้อมกับด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการผลักดันให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อให้สัมฤทธิผล เศรษฐกิจดิจิตอลจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆ ของไทยเติบโต และช่วยให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ไกลขึ้น และจะเพิ่มศักยภาพในการทำงานและการพัฒนาทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถของประชากรให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ภาคธุรกิจ การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการประยุกต์เทคโนโลยีเข้ากับการผลิต หรือคิดค้นนวัตกรรมจะทำให้ทุกคนสามารถเห็นได้ชัด ด้วยการประกาศถึงกลยุทธ์อย่างชัดเจนจากรัฐบาลนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเป็นการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ จะเห็นได้จากผลสำรวจโดย Bloomberg พบว่า นวัตกรรมจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศและประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 46 ของประเทศที่มีการใช้นวัตกรรมมากที่สุด 50 อันดับแรกของโลก ในขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีอัตราส่วนคิดเป็น 37.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจนี้กลายเป็นกำลังขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์และการผลิต ที่สามารถส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ภาครัฐฯ การนำนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเทศให้ทั่วถึง รวดเร็ว ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการผ่านระบบอินแทอร์เน็ต และการจัดเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่นำไปพัฒนาต่อได้ เช่น การจัดการระบบการจราจร การพยากรณ์สภาพอากาศ การเตือนภัยพิบัติ และอื่นๆ

อินเทลมองว่า การเริ่มต้นจาก 5 ยุทธศาสตร์ เป็นการเริ่มต้นที่ดี และจะมีการพัฒนาไปพร้อมๆกับการสร้างความรู้ และทักษะให้ประชาชนรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและการบริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และจะเกิดการผลักดันให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและดำเนินตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้อย่างเต็มที่
ในฐานะของประชาชน ซึ่งเทคโนโลยีแทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทักษะและความรู้ด้านดิจิตอลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และสิ่งสำคัญที่ประชาชนโดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องตระหนักคือรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 4 อย่างด้วยกัน (หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า SMAC) ปัจจัยแรกที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีคือ Social Media ปัจจัยที่ 2 คือ Mobility ความคล่องตัวในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการใช้อุปกรณ์โมบายล์ต่างๆ ป้จจัยที่สามและที่สี่คือ Analytics (การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้เป็นประโยชน์) และ Cloud ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะสร้างแรงขับเคลื่อนที่มหาศาล และแตกต่างจากรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือการทำธุรกิจเมื่อ 5-10 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นการที่ประชาชน หรือธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องสามารถนำความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมาต่อยอดเพื่อสรรสร้างผลิตภัณฑ์ หรือการบริการที่เชื่อมโยงกัน และมีความตื่นตัวในการปรับใช้นวัตกรรมเป็นประโยชน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่มากในระดับที่เรียกว่าเป็น Mega markets แต่ต้องไม่ลืมว่า ด้วยเทคโนโลยีที่รวดเร็วการทำธุรกิจต้องมีความซื่อสัตย์และปลอดภัย เพราะข้อมูลต่างๆ จะแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์

โดยอินเทลเองก็มีความพร้อมในการตอบรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมทั้งด้านนวัตกรรม หลักสูตร รวมทั้งบุคลากรที่สามารถให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ว่าจะเป็นการสนับสนุนผ่านโครงการอินเทล® ทีช (Intel® Teach) ซึ่งเป็นโครงการอบรมให้ครูในสถานศึกษา ให้สามารถพัฒนาการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ของตนเอง และโครงการอินเทล® อีซี่ สเต็ปส์ (Intel® Easy Steps) โปรแกรมด้านการเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์ โดยมีความพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้ผู้กำกับนโยบายจากภาครัฐให้สามารถวางแผนและมองเห็นภาพในการขับเคลื่อนนโยบายได้ชัดเจนขึ้น และความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น