สมรภูมิความขัดแย้งบน สื่อสังคมออนไลน์ กับการปฏิบัติการข่าวสารยุค 4.0 และการสร้างวาทกรรมเพื่อสร้างความแตกแยก ถึงเวลาแล้วหรือยังในการสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลแก่คนในสังคม

Social Security

ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเรื่องราวมากมายที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของพื้นที่สื่อเพื่อสื่อสารกับคนในสังคม แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสิ่งที่ต้องการสื่อกับสังคมไม่ตรงไปตรงมา บิดเบือน ตัดต่อ ให้เกิดความผิดเพี้ยนไม่ตรงความจริง

เดือนที่ผ่านมาเราเห็นถึงปัญหาการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในการบิดเบือนข่าว บิดเบือนข้อมูล สร้างข้อมูลเท็จ สร้างวาทกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบุคคลในสังคม เพื่อโยงสู่การสร้างความแตกแยกของสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเด็นทางการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน

ประเด็นคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่ถูกโยงไปทำลายความน่าเชื่อถือของนักสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ตนเองไม่ได้โพสข้อความดังกล่าว!!! คำถามคืออะไรกำลังเกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยสมรภูมิข่าวสาร ในขณะที่เราในฐานะผู้เสพสื่อก็ไม่ดูหรือฟังความรอบด้านที่สื่อวิ่งเข้ามาเกือบทุกช่องทางการสื่อสาร เราจึงตกเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยอาจมีส่วนร่วมในการโจมตีทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล องค์กร สังคมไปโดยที่เราไม่รู้ตัว

พื้นที่สื่อสังคมจึงกลายเป็นสมรภูมิข่าวสาร ที่คู่ขัดแย้งสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวทำการปฏิบัติการข่าวสารไปยังผู้บริโภคโดยตรงซึ่งบางครั้งก็ขัดกับหลักจรรยาบรรณ และที่สำคัญในตอนนี้ภูมิคุ้มกันคือสติ ถ้าเรามีวิจารณญาณในการเสพสื่อจะรู้ว่าควรจะจัดการกับสื่อไร้ค่าได้อย่างไร ดีกว่ากระโดดลงไปร่วมรบในสมรภูมินั้นด้วยการ ด่า วิจารณ์ แล้วให้คนที่มีจริตความเห็นตรงกันมาคอมเมนต์สนับสนุน

การข่าวต้องตอบโต้ด้วยการข่าว ข่าวเท็จต้องแก้ด้วยข่าวจริง การทำให้ผู้คนกระจ่างด้วยข่าวจริงน่าจะดีกว่าการตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงผสมด้วยอารมณ์ เพราะการดิสเครดิตคนด้วยการต่อความออกไปความรุนแรงความขัดแย้งจะไม่มีวันจบ แต่ถ้าความจริงปรากฏสังคมที่มีสติจะเป็นผู้ตัดสินคุณค่าของสื่อและผู้ส่งสื่อเอง และรู้ว่าควรฟังใครระหว่างผู้รู้ ผู้อวดรู้ หรือผู้มีปัญญา ผู้มีสติ

สมรภูมิข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์แนวรบที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่จะทวีความรุนแรง

ผู้เขียนได้เคยเทียบเคียงการปฏิบัติการข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์กับเรื่องของ Crowdsourcing ในเรื่องของการโยนประเด็นทางสังคมที่เป็นความขัดแย้งแล้วให้กลุ่มสนับสนุนดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยวิธีการทางไซเบอร์เพื่อเป็นการตอบโต้ ทำให้เกิดความสูญเสียงบประมาณ เวลา กำลังคนในการแก้ไขปัญหาหรือบางทีอาจเสียฐานข้อมูลสำคัญที่เป็นของประชาชน ในกรณีมีการโจมตีฐานข้อมูลหนักขึ้นก็อาจย้อนรอยรูปแบบเดิมคือการระดมผู้คนออกมาชุมนุม ซึ่งความขัดแย้งอาจกลายเป็นความรุนแรงได้ถ้าเกิดการยั่วยุกระทบกระทั่งกันขึ้นมา

ประเด็นที่เป็นปัญหาทางสังคม หรือประเด็นความขัดแย้งและมีผู้ชี้นำคอยสร้างกระแสหรือปลุกระดมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กระแสเหล่านั้นก็จะถูกส่งต่อวิพากษ์วิจารณ์ต่อเติมเนื้อหาและสร้างการมีส่วนร่วมทางอารมณ์ โดยเฉพาะการแบ่งแยก แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมในที่สุด

ตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ที่โยงในมิติความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขจากภาครัฐ สืบเนื่องจากกระแสของ Disruptive Technology ที่กำลังเป็นกระแสว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือถ้าใช้คำรุนแรงก็คือจะฆ่าหรือทำลายวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจใช้ได้กับบางสังคมที่มีความพร้อมในการปรับตัวและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง โดยต้องมีความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่ต้องการเปลี่ยนและผู้ที่จะถูกเปลี่ยนแปลง

ซึ่งกรณีดังกล่าว ได้แก่ ปัญหาระหว่างการนำเทคโนโลยีทางด้านโปรแกรมจัดหาผู้ให้บริการรถรับส่งที่ไม่ใช่ขนส่งสาธารณะหรือรถแท็กซี่สาธารณะ บริการเช่นนี้ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางด้วยรถแท็กซี่สาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานไม่ว่าในเรื่องของการที่แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ความไม่ปลอดภัยของผู้โดยสาร การไม่ตรวจสอบประวัติคนขับหรือวินัยการจราจร

อีกทั้งค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมจนกลายเป็นประเด็นบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดความขัดแย้งของสังคมขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝั่งรถแท็กซี่เอง ที่มองว่ารถที่ใช้บริการของแอพพลิเคชันเจ้าหนึ่งจะแย่งลูกค้าของตน เหตุการณ์ลุกลามในหลายพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวสูงไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา จะเห็นข่าวความขัดแย้งกับรถโดยสารสาธารณะในลักษณะความรุนแรง

และเมื่อข่าวดังกล่าวถูกนำมาเสนอในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ คำถามคือแล้วผู้เกี่ยวข้องจะแก้ไขปัญหาอย่างไรในเรื่องนี้ จะใช้วิธีสั่งห้ามกระแสเทคโนโลยีที่กำลังมาช่วยเพิ่มศักยภาพการคมนาคม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคมที่ปลอดภัยและตรวจสอบได้หรือ ถ้าภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องรวมถึงคู่กรณีไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งก็จะยังไม่จบและอาจเปลี่ยนเป็นความรุนแรงได้ทุกเวลา นี่คือปัญหาระยะสั้นที่เราเห็นได้เสมอในพื้นที่สื่อออนไลน์

แต่ปัญหาระยะยาวคือเมื่อพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาเป็นพื้นที่รบทางความคิดของคนเห็นต่าง นั่นคือโครงสร้างที่ดีของสังคมเพราะถ้าไม่รีบแก้ไขก็จะกลายเป็นว่าทั้งเทคโนโลยี และปัญหาที่เกิดกำลังจะฆ่าสังคมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม

เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นนอกจากการปรับตัวทางด้านเทคโนโลยีการปรับตัวทางด้านสังคมที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมให้มีภูมิคุ้มกัน ในการที่จะอยู่กับเทคโนโลยีได้อย่างมีความสุขและใช้เทคโนโลยีให้เป็น อย่าให้เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลเหนือความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างคนในสังคม

“รู้เท่าทัน” วิธีที่ดีที่สุดในการกระชับพื้นที่ความขัดแย้งบนสื่อสังคมออนไลน์

วิธีการที่ดีที่สุดในการใช้ชีวิตท่ามกลางสมรภูมิการปฏิบัติการข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์ ณ เวลานี้คงได้แก่คำว่า รู้เท่าทัน มีสติในการใช้ ต้องให้ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอย่างถูกต้อง ทันยุค ทันสมัย ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน

ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกระแสพลเมืองชาวสื่อสังคมออนไลน์โจมตี เกิดเป็นความขัดแย้งรอบใหม่อีกระหว่างรัฐและสังคม ซึ่งแน่นอนว่าไม่เกิดผลดีกับทุกฝ่าย เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายไม่หวังดีอยากทำลายความมั่นคงของประเทศได้

ภาษาความมั่นคงเรียกว่าจะเกิดแนวร่วมมุมกลับ คือการเสนอวิธีคุมโซเชียลมีเดีย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในด้านสื่อมวลชนที่วันนี้เสนอรายงานว่าด้วยการปฏิรูปสื่อโซเชียลมีเดีย โดยการเล่นเฟซบุ๊กต้องใช้สแกนลายนิ้วมือ ใบหน้า เลขบัตรประชาชน (ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยในกรณีการลงทะเบียนผู้ใช้ด้วยการลงเลขบัตรประจำตัวประชาชน)

โดย สปท. ได้มีแนวคิดว่าจะให้ทางกระทรวงวัฒนธรรมจัดอบรม พระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ให้เป็น ‘ต้นแบบ’ ในการช่วยเผยแพร่วิธีการใช้สื่อออนไลน์ในทางที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ในรูปแบบ ‘การรู้เท่าทันสื่อ’ ซึ่งต้องถามกลับไปว่าแนวคิดดังกล่าวได้นิมนต์สอบถามพระท่านหรือยัง และที่สำคัญจะหาต้นแบบมาสอนหรือตัวอย่างในการอบรมในรูปแบบใด

เพราะในการออกแบบการสอน (Instructional Design) นั้นระบุว่าต้องทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย (Target Audience Analysis) ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้สอนสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำถามคือทำไมมาลงที่พระท่านได้ หรือยังติดกับกระบวนทัศน์เดิมคือ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งในส่วนของบ้านกับโรงเรียนผู้เขียนเห็นด้วย 100% แต่กับพระภิกษุดูจะไม่เหมาะสมเท่าใดนัก

ส่วนมาตรการที่ สปท. แนะนำคือต้องจัดระเบียบการลงทะเบียนมือถือใหม่ โดยสนับสนุนให้ กสทช. ใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน ซึ่งทาง สปท. เห็นว่าควรนำมาใช้กับผู้ใช้มือถือและโซเชียลมีเดียทั้งประเทศ ประเด็นนี้ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าในอนาคตระบบฐานข้อมูลบุคคลของเราเชื่อมโยงกันทั้งหมด

แค่ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์ผูกกับเลขประจำตัวก็ต่อเข้าระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ซึ่งมีครบทั้งรูปถ่ายและลายนิ้วมือ ดีไม่ดีเดี๋ยวมีการจัดซื้ออุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือ ถ่ายภาพเฉพาะกิจด้วยวิธีพิเศษ แต่อาจจะเป็นประเด็นทางสังคมเรื่องความโปร่งใสและจะยิ่งวุ่นวายอีก

สื่อสังคมออนไลน์

ส่วนที่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือการเพิ่มประสิทธิภาพ ‘ศูนย์กลางเฝ้าระวัง’ ของภาครัฐที่มีอยู่แล้วควรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่กรณีการจะจัดอบรม พระภิกษุให้เป็น ‘ต้นแบบ’ ในการช่วยเผยแพร่วิธีการใช้สื่อออนไลน์ในทางที่เหมาะสมและสร้างสรรค์

ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าวงการสงฆ์คงพร้อม แต่ปัญหาภายในก็มากเหลือเกินน่าจะเคลียร์ปัญหาวิกฤตศรัทธาในวงการสงฆ์เองก่อนน่าจะดี ประเด็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญเร่งด่วนในขณะนี้คือสมรภูมิ Cyber Bullying ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องเร่งกระทำคือกระทรวงดิจิทัลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘ควรให้ความรู้และเตือนสติกับผู้ตกเป็นเหยื่อ’ ไม่ให้คนเหล่านั้นแสดงความโกรธแค้น หรือแสดงตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง อันอาจทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายขึ้นได้

“เมื่อยุทธศาสตร์ชาติชูนโยบาย THAILAND 4.0 และใช้เครื่องมือด้าน Digital Economy ขับเคลื่อนประเทศ Digital Literacy จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเตรียมความพร้อมประชาชน”

เราได้สร้างองค์ความรู้ที่เป็นภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตและภัยคุกคามจากโลกไซเบอร์และสื่อสังคมออนไลน์ให้แก่ประชาชนในยุค Digital Native เพื่อให้มีความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามที่มาจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ดังนั้นประชาชนจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ การคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร และการจัดการสารสนเทศสำหรับยุคดิจิทัล รวมถึงกฎหมายที่กี่ยวข้อง ดังนั้นการเรียนการสอนให้ความรู้ความเข้าใจด้าน Digital Literacy จึงมีความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

โดยมีขอบเขตที่มากมายหลายมิติไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ความรับผิดชอบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มารยาทในสังคมดิจิทัล สุขภาพและโรคที่เกิดจากไซเบอร์หรือโซเชียลมีเดีย การระวังภัยคุกคามจากการทำธุรกรรมออนไลน์ ภัยล่อลวงออนไลน์ การกระทำความผิดอันเกิดจากการละเมิด การดูหมิ่น การยุยงปลุกปั่น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันและหลักการปฏิบัติตนในการเป็นประชาชนบนโลกสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีความสุข และร่วมสร้างสรรค์โลกดิจิทัลให้มีแต่สิ่งที่ดีเกิดขึ้นต่อไป