รู้ลึก Digital Money  โดย เด่นเดช สวรรคทัต   ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีชั้นสูง ที่ปรึกษาสมาคมอีเลิร์นนิ่งแห่งประเทศไทย

เด่นเดช สวรรคทัต

“เงิน” มีความจำเป็นต่อทุกระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะแบบเก่า แบบใหม่ อะนาล็อก และโดยเฉพาะเศรษฐกิจใหม่อย่างดิจิทัล ในที่นี้จะกล่าวถึงเงินรูปแบบของยุคนี้คือ “เงินดิจิทัล (digital money)” หรือที่นิยมใช้แทนกันก็คือเงินอิเล็กทรอนิกส์ (electronic money – eMoney) โดยจากนี้ไปจะเรียกสั้นๆว่า eMoney

eMoney เป็นคำที่ค่อนข้างกว้างและมีใช้กันอย่างแพร่หลายมานานพอสมควร โดยลักษณะการใช้งานสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ บัตรบันทึกมูลค่า (stored value card) และเงินแบบเครือข่าย (network money)

 

• บัตรบันทึกมูลค่า หรือที่นิยมเรียกกันว่า กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (electronic purse) หรือ ePurse หมายถึงระบบการชำระเงินผ่านบัตรที่ฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กไว้ภายใน ซึ่งทำหน้าที่บันทึกมูลค่าของเงิน (stored value) ซึ่งเมื่อมีการใช้จ่ายต้องนำบัตรไปใช้งานกับระบบเครื่องอ่านเฉพาะ และยอดเงินที่ใช้ไปก็จะถูกหักออกไป แล้วเก็บยอดที่เหลือเป็นยอดใหม่แทน ตัวอย่างของระบบก็เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS ที่เราใช้กันเป็นประจำ ซึ่งข้อดีของระบบแบบนี้คือมีความรวดเร็วในการทำงาน เพราะมีแค่บัตรกับเครื่องอ่านเท่านั้น ส่วนข้อจำกัดคือ หากทำหายหรือชำรุดก็จะสูญเสียเงินหรือมูลค่าที่เก็บไว้ในบัตรก็สูญไปไดยไม่ได้คืน

• เงินแบบเครือข่าย จะมีการเก็บข้อมูลมูลค่าเงินไว้ในระบบฐานข้อมูลส่วนกลาง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ จุดเด่นที่สำคัญของระบบนี้คือมีความปลอดภัยสูงกว่า เช่น หากเกินการสูญหายของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ก็จะไม่มีผลต่อมูลค่าหรือยอดเงินที่เก็บไว้ และยังสามารถรองรับธุรกรรมที่หลากหลายแบบ เช่น การโอนเงิน หรือการชำระเงินแบบเป็นงวดๆ เป็นต้น ส่วนข้อจำกัดก็คือต้องมีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในการทำธุรกรรม และอาจจะใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าแบบบันทึกมูลค่าในการดำเนินการ ตัวอย่างของเงินแบบนี้ก็ได้แก่ บัตร ATM, เครดิตการ์ด, เดบิตการ์ด ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไปนั่นเอง

หากพิจารณาเงินทั้งสองแบบนั้นเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันมานานแล้ว ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่หากพิจารณาให้ลึกลง โดยเน้นไปที่เงินแบบเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วจนแทบตามไม่ทัน ก็จะเริ่มเห็นความน่าสนใจ เพราะจากเดิมที่ข้อมูลการเงินมีลักษณะแบบรวมศูนย์ (centralized) ปัจจุบันเกิดระบบใหม่ที่ปราศจากศูนย์ (decentralized) คือมีลักษณะกระจายออกไป (distributed) เก็บที่ผู้ที่มีสิทธิทำธุรกรรมแต่คน (individual/peer) จนนำไปสู่นวัตรกรรมใหม่นั้นคือระบบเงินตราดิจิทัล (digital currency) หรือที่นิยมเรียกอีกชื่อหนี่งว่า ระบบเงินตราเสมือน (virtual currency)

การที่เศรษฐกิจดิจิทัลคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว ปัจจัยที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือวิวัฒนาการและนวัตรกรรมด้านการเงินใหม่ เริ่มจากระบบเงินรวมศูนย์ (centralized system) ที่จากเดิมอยู่ภายใต้การดำเนินการของสถาบันการเงินหลัก เช่น ธนาคาร ซึ่งผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมต้องมีการเปิดบัญชี หรือมีหลักฐานแสดงถึงความมั่นคงทางการเงิน หากต้องการสินเชื่อ หรือขอบัตรเครดิด ทำให้ผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ไม่แน่นอน หรืออายุน้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดช่องทางให้เกิดบริการด้านการเงินแบบออนไลน์ (ePayment service) ต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อให้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะเพียงแค่ผู้ใช้มีอินเทอร์เน็ตและจดหมาย
อิเล็กทรอนิกส์ (email) ก็สามารถรับและจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินใดๆ และใช้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมแบบเดิม โดยตัวอย่างของเงินแบบเครือข่ายที่น่าสนใจได้แก่

1. paypal เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ให้บริการด้านการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต (internet payment) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1998 ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้ทั้งแบบบุคคล (individual) หรือแบบองค์ธุรกิจ (business) โดยให้บริการ รับเงิน ชำระเงิน โอนเงินกับสถาบันการเงิน และ ecommerce shopping card สำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิต

2. paysbuy เป็นบริษัทในประเทศฯ ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2004 โดยให้บริการ ePayment เช่นเดียวกับ paypal แต่เจาะกลุ่มผู้ใช้ในประเทศเป็นหลัก

3. truemoney เป็นบริษัทลูกของผู้ให้บริการมือถือ truemove ซึ่งบริการ truemoney นี้ช่วยให้ลูกค้าทรูมูฟสามารถเติมเงิน จ่ายเงินค่าสินค้า โอนเงินให้ผู้อื่น และถอนเงินสดออกมาได้อย่างสะดวก

4. AIS mPay เป็นบริการด้านการเงินจากผู้ให้บริการมือถือค่าย AIS โดยมีบริการคล้ายกับ truemoney แต่อาจแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย

ในปัจจุบัน ระบบ ePay กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ขอให้มีเพียงอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เราควรจะต้องเรียนรู้และทำความรู้จักเกี่ยวกับการใช้งานอย่างจริง เพราะอาจสร้างโอกาสและรายได้เสริมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สำหรับ decentralized money หรือที่เรียกกันว่า virtual currency นั้น ตามนิยามของ European Central bank หมายถึงระบบเงินดิจิทัล (digital money) ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย (unregulated) ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ผู้ที่ควบคุมและจัดการเงินตรามักเป็นผู้คิดค้นพัฒนาระบบสกุลเงินเหล่านั้น โดยเป็นที่ยอมรับระหว่างสมาชิกในกลุ่มสังคม (virtual community) บางกลุ่ม เพื่อใช้แทนเงินตราปกติได้

ตัวอย่างของระบบเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (decentralized system หรือ digital currency) เช่น
1. Bitcoin ถือว่าเป็นเงินตราเสมือนชนิดแรกที่ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งข้อมูลด้านธุรกรรม (transaction) จะมีการเข้ารหัส (encryption) และกระจาย (distributed) เก็บไว้ที่ผู้ใช้ทุกคน

2. Litecoin เป็นระบบเงินตราเสมือนที่พัฒนาต่อยอดจาก Bitcoin protocol โดยผู้พัฒนาได้เล็งเห็นถึงจุดอ่อนและข้อด้อยต่างๆ ในสกุลเงิน Bitcoin ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้งาน จึงได้พยายามพัฒนาสกุลเงินนี้ขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว

3. Dogecoin เป็นระบบเงินตราเสมือนที่ผู้พัฒนาต้องการให้เข้าถึงผู้ใช้ทั่วทุกมุมโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น และข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง dogecoin กับเงินตราเสมือนอื่นๆ เช่น Bitcoin คือไม่มีการจำกัดจำนวนเงินสูงสุดที่มีใช้หมุนเวียน (circulation) ในระบบทำให้มีคุณลักษณะของเงินเฟ้อ (inflationary currency) เหมือนกับสกุลเงินปกติ ในขณะที่เงินตราเสมือนอย่าง bitcoin หรือ litecoin มีการจำกัดจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบ ทำให้ยิ่งนานวัน เงินตราเสมือนเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นเงินฝืด (deflationary currency)

จริงๆ แล้วรายละเอียดที่น่ารู้เกี่ยวกับระบบเงินตราทั้งแบบเครือข่ายรวมศูนย์ (centralized network money) และแบบเครือข่ายกระจาย (distributed network money) ยังมีอยู่อีกมาก แต่ผู้เขียนจะทยอยนำเสนอต่อผู้อ่านในเล่มต่อไป

แหล่งอ้างอิง
1. www.wikipedia.org
2. www.bitcoin.org
3. www.litecoin.org
4. www.paypal.com
5. www.truemoney.co.th
6. www.ais.co.th/mpay
7. www.paysbuy.com