Eleader May 2015

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หนึ่งในองค์กรที่ร่วมผลักดันดิจิทัลอีโคโนมี ชี้อินเทอร์เน็ตเมืองจะถูกจัดระบบใหม่ รัฐแห่ใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง การจัดซื้อไอทีภาครัฐจะเปลี่ยนแปลง พร้อมเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อให้โปร่งใส และนำไปใช้งานสร้างแอพพลิเคชันต่อเนื่อง

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า จากการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และเน้นให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล หรือ Digital Government อย่างเป็นระบบจะส่งให้เกิดแนวโน้ม 10 ด้านที่สำคัญขึ้นในประเทศไทย โดยคาดว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งจะกระทบวงกว้างทั้งในฝั่งประชาชน ฝั่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และฝั่งหน่วยงานรัฐ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวทั้งระบบ ซึ่ง 10 แนวโน้มที่สำคัญคือ

1.เครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย จะถูกจัดสรรใหม่ เช่นเดียวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ในธุรกิจโทรคมนาคม ภาครัฐจะสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกแห่ง และมีการเชื่อมต่อข้อมูลปลายทางจากหน่วยงานกว่าครึ่ง ข้อมูลพื้นฐานจากบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และอื่นๆ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ดึงไปใช้ได้ในทันที

2.ภาครัฐจะใช้คลาวด์คอมพิวติ้งเป็นพื้นฐานกว่า 50% ทั้งจากการผลักดันของกฎระเบียบต่างๆ การใช้งานที่พิสูจน์แล้วทั้งภาครัฐและเอกชนที่แสดงให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพ ประหยัดกว่าระบบใหญ่ๆ ของภาครัฐที่แม้จะ Critical แค่ไหนก็จะมีการใช้งานผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง และระบบ G-Cloud ของ EGA ก็จะเข้ามารองรับแนวโน้มนี้อย่างสมบูรณ์

3.การใช้จ่ายหรืองบประมาณภาครัฐทางด้านไอทีจะเปลี่ยนเป็นการพัฒนาเฉพาะแอพพลิเคชันถึง 50% การจัดซื้อฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เครือข่ายจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ และ G-Cloud จะทำให้ระบบการจัดซื้อระบบไอทีของภาครัฐเปลี่ยนไป

4.ภาครัฐจะแบ่งปันข้อมูลแบบมาตรฐานเข้าสู่โครงการ Open Data ประมาณ 200 ชุดข้อมูล ซึ่งถือว่าจะยังไม่มากนัก แต่หลังจากนั้นจะเกิดชุดข้อมูลแบบก้าวกระโดด

5.แอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของภาครัฐจะมีให้บริการประชาชนมากกว่า 500 โปรแกรม และจะกลายเป็นแอพพลิเคชันหลักในตลาด โดยแอพพลิเคชันเหล่านี้จะมาจากภาครัฐโดยตรง และจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์เอกชน

6.การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง Big Data จะเริ่มดำเนินการ อาจจะมีองค์กรใหม่ของภาครัฐเข้ามาจัดการ และจะมี Data Scientist ภาครัฐขึ้น เพื่อทำให้ฝ่ายบริหารของรัฐบาลได้ข้อมูลที่สำคัญไปช่วยในการบริหารงานต่อไป

7.Internet of Thing (IoT) ในภาครัฐจะเริ่มเกิดขึ้น จากการเข้ามาของ IoT หรือสิ่งของทุกสิ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เอง แม้จะเป็นปีแรกๆ ที่แนวคิดและคอนเซ็ปต์จะถูกจับมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จริงบ้างแล้ว แต่นี่คือแนวโน้มใหญ่ของโลก ซึ่งจะเห็นการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัลในเร็วๆ นี้
8.จุดให้บริการของภาครัฐต่อประชาชนจะเริ่มเปลี่ยนจากการใช้คนมาเป็นใช้เครื่อง ไม่ว่าจะเป็นตู้คีคอส เวนดิ้งแมชชีน หรือเครื่องอัตโนมัติต่างๆ ภาคประชาชนจะดำเนินการธุรกรรมต่างๆ ผ่านเครื่องด้วยตัวเอง ซึ่งจะลดขั้นตอนและลดปัญหาต่างๆ ลงไปได้มาก

9.ประชาชนจะเริ่มเก็บข้อมูลธุรกรรมกับภาครัฐต่างๆ ไว้กับตัว และสามารถบริหารข้อมูลเหล่านั้นเพื่อเป็นประโยชน์ได้ โดยการจัดเก็บและการบริหารอาจอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น เก็บในฮาร์ดดิสก์ส่วนตัว หรือเก็บไว้บนคลาวด์ แต่ทั้งหมดต้องสามารถดึงมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ

10.ระบบแอพพลิเคชันใหม่ๆ ของภาครัฐจะเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Payment Gateway และระบบอื่นๆ ที่เป็นของภาคเอกชน ดังนั้นแอพพลิเคชันต่างๆ ของภาครัฐจะมีการให้บริการในหลากมิติ

ทั้งหมดนี้จะเป็น The New Paradigm of Government Services ที่จะเข้ามาถึงประเทศไทยในเร็ววันนี้แล้ว จะเป็นการยกระดับและทำให้บริการของภาครัฐต่อประชาชนเปลี่ยนไป