คุณคงได้เห็นข่าวเมื่อวันก่อนแล้ว สำหรับกรณีที่ อูเบอร์ โดนโจมตีทางไซเบอร์จนข้อมูลบัญชีของทั้งลูกค้า และคนขับรถในสังกัดรวมกว่า 57 ล้านรายรั่วไหลออกสู่ภายนอก

เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลของ อูเบอร์ นี้ ถือเป็นตัวอย่างสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้พัฒนาระบบจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักความปลอดภัยอย่างยิ่งยวด และไม่ควรฝังหรือติดตั้งโทเค่นหรือคีย์ที่ใช้ยืนยันตนในการเข้าถึงระบบลงในซอร์สโค้ด หลายครั้งที่เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับองค์กรต่างๆ และองค์กรเหล่านั้นมักเลือกที่จะปกปิดเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนเอง

ถ้าเราตัดเรื่องดราม่าที่กำลังเกิดขึ้น หรือบทลงโทษจากกฎหมายใหม่อย่าง GDPR ออกไปแล้ว เหตุการณ์นี้นับเป็นความบกพร่องของทีมนักพัฒนาระบบที่ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางด้านความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ด้วยการปล่อยให้มีการแบ่งปันรหัสผ่านออกสู่ภายนอก เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้มักพบได้บ่อยอยู่เสมอ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมของการพัฒนาระบบที่เน้นความคล่องตัวสูง

นอกจากนี้ เรายังมีมุมมองจากที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ Sophos อย่าง James Lyne “Uber ไม่ได้เป็นบริษัทเดียว และไม่ใช่บริษัทสุดท้ายที่มีการปิดบังหรือซ่อนเร้นเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหล หรือการโดนโจมตีทางไซเบอร์ของตนเอง

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การจงใจไม่แจ้งเตือนให้ลูกค้าทราบนั้นทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าเดิมจากการโดนหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง เหตุนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้หลายประเทศพยายามผลักดันกฎหมายที่บังคับให้เปิดเผยข้อมูลกรณีข้อมูลรั่วไหลขององค์กรออกมาใช้โดยเร็ว”

สำหรับลูกค้าและผู้ขับรถของ Uber นั้น Sophos แนะนำให้คอยติดตามคะแนนเครดิตของตนเอง และเฝ้าสังเกตรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้อมูลรั่วไหลครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

คุณสามารถดูเคล็ดลับ และข้อมูลอัพเดตเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีข้อมูลรั่วไหลของ Uber นี้ได้จากบทความของ Sophos Naked Security เรื่อง “Uber เสียหายอย่างหนักจากข้อมูลรั่วไหลครั้งใหญ่ แต่กลับจ่ายเงินปิดปากแฮ็กเกอร์ให้เก็บเป็นความลับ”ที่ nakedsecurity

หากมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม หรือต้องการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของเราแล้ว สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางเราได้ตลอดเวลา

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Theeleader