ในยุค อุตสากรรม 4.0 เทคโนโลยี IoT จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก อุตสาหกรรมจำเป็นต้องพึ่งการวิเคราะห์การผลิตที่แม่นยำ และรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ในด้านต่าง ๆ 

อุตสาหกรรม 4.0

อีกไม่นานโลกของอุตสาหกรรมกำลังก้าวสู่การปฏิวัติครั้งใหม่ที่เรียกว่า อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่จะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งคำว่า Industry 4.0 มาจากชื่อนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของเยอรมนีที่ประกาศเมื่อปี ค.ศ. 2013

แนวคิดก็คือ โลกของเราจะเข้าสู่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ภายใน 20 ปีข้างหน้า ทำให้หลายประเทศต่างก็ตื่นตัวกับผลกระทบที่จะติดตามมาด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันทุกประเทศบนโลกมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือทางการค้า ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

ซึ่งแน่นอนว่าในอีกมุมหนึ่งย่อมเกิดการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลประการหลังนี้เอง หลายประเทศจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตามกันไป เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองในการแข่งขันนั่นเอง

แนวโน้มหนึ่งที่เรามองเห็นในขณะนี้ก็คือผู้คนกำลังหันมาใช้คำศัพท์ อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ ไอโอที (Internet of Things : IoT) หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ สำหรับอุตสาหกรรม หรือ ไอไอโอที (Industrial Internet of Things : IIoT) มากยิ่งขึ้น

ซึ่ง อุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบอัจฉริยะที่รวมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งรวมถึงกระบวนการผลิต และครอบคลุมมากกว่าการเน้นแค่ไอโอที เนื่องจากเป็นการผสานรวมระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย การส่งเสริมการผลิต และการพิจารณาทุกสิ่งบนพื้นฐานของความเป็นจริง เป็นต้น

Industrial revolution stages from steam power to cyber physical systems, automation and internet of things

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรรมยุค 4.0

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเป็นการบูรณาการโลกของการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกติดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยน ข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างอิสระ เพื่อการจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมด

จุดเด่นของอุตสาหกรรม 4.0 คือการที่เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติสามารถเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเครือข่ายผ่านอินเทอร์เน็ต จึงสามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสารถึงกันหมด รวมทั้งสามารถใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกันได้

เครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 จะมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านการทำงานด้วยตนเอง ความยืดหยุ่น และการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขการผลิต รวมทั้งมีความสามารถในการตรวจสอบและคาดการณ์ล่วงหน้าได้

นอกจากนี้เครื่องจักรในอนาคตจะมีโปรแกรมสำหรับตรวจสอบและดูแลสภาพของเครื่องจักรเพื่อยืดอายุการทำงาน อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการผลิตและประเมินประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร กล่าวคือ เครื่องจักรจะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นนั่นเอง

นอกจากตัวเครื่องจักรที่เป็นอัจฉริยะแล้ว โรงงานในยุค 4.0 ก็จะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นด้วย โดยที่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory จะสามารถกำหนดระบุกิจกรรมเงื่อนไข รวมทั้งสภาพแวดล้อมของการผลิต สามารถสื่อสารกับหน่วยอื่น ๆ ได้อย่างอิสระแบบไร้สาย สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น เวลา ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง การรักษาความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ เป็นระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด และลดต้นทุนด้านแรงงานที่เกินความจำเป็นอีกด้วย