ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ประธานของชมรม ราชบัณฑิตและผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเสาหลักคนหนึ่งของวงการไอทีเมืองไทย

Thailand 4.0 เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาวของประเ ทศ และแม้ทุกฝ่ายจะพยายามช่วยกันผลักดันนโยบายให้ออกมาเป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายในการขับเคลื่อน

ปัญหาดังกล่าว ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันบ่อยครั้ง ทั้งในวงเสวนาวิชาการ และการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งทุกฝ่ายล้วนแสดงความห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศ และยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา และกำหนดทิศทางที่ถูกต้องให้กับประเทศ

เป็นโอกาสอันดีที่นิตยสาร ELEADER ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ประธานของชมรม ราชบัณฑิตและผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเสาหลักคนหนึ่งของวงการไอทีเมืองไทย

ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์

ไอทีไทย 1.0

ไอทีของประเทศไทยยังเป็นระดับ 1.0 เท่านั้น” ดร.ครรชิต กล่าวเปิดตัวเมื่อพูดถึง Thailand 4.0

วันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ใช้งานไอทีมากกว่าเป็นผู้ผลิต ในด้านการใช้งานเราอยู่ในระดับ 3.0 แต่ภาพรวมการพัฒนาเป็น 1.0 นั่นคือ เราผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่เป็น นั่นคือ เราจะไม่สามารถไปสู่ 4.0 ได้

“ผมชอบเล่าเรื่อง ขงเบ้งทำโคยนต์ ให้น้องๆ ฟัง ในยุคสามก๊ก ขงเบ้งนักปราชญ์ของเล่าปี่ได้ประดิษฐ์โคยนต์ที่เดินได้เองขึ้นมาใช้ขนเสบียง และทำอุบายให้ฝ่ายตรงข้ามได้โคยนต์ไป เมื่อฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้ ขงเบ้งเพียงบิดลิ้นของกลไก โคยนต์ก็เดินหน้าไม่ได้ ขงเบ้งจึงยึดเสบียงของฝ่ายตรข้ามได้ทั้งหมด… ผมหยิบยกอุบายนี้เปรียบเทียบกับซอฟต์แวร์ที่เราซื้อมาใช้ เราไม่รู้ว่าผู้ผลิตซอฟแวร์ใส่อะไรไว้ข้างใน และเมื่อไหร่ผู้ผลิตจะบิดลิ้นกลไก นั่นคือความเสี่ยงของประเทศ”

ปัจจุบันประเทศไทย ยังมีปัญหาในระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรด้านไอทีนั้น เรายังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังตั้งแต่ในระดับรากฐาน การจะพัฒนาสู่ Thailand 4.0 ได้จะต้องพัฒนารากฐาน พัฒนาคนให้มีขีดความสามารถในการผลิตเทคโนโลยี และนวัตกรรม

แต่วันนี้ประเทศไทยขาดการส่งเสริมให้เกิดการผลิตเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ วันนี้รัฐบาลที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่ยังเลือกใช้ซอฟแวร์จากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยขาดโอกาสในการเติบโตอย่างจริงจัง

ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์

การไม่ซื้อซอฟต์แวร์ไทย ทำให้ไม่เกิดกลไกในการพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น และยังเอามาตรฐานของคนที่เก่งแล้วมาเป็นตัววัดคุณภาพซอฟต์แวร์อีก ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของไทยจึงไม่โต ขณะที่วันนี้นโยบาย และกฎระเบียบต่างๆ ก็ไม่เอื้อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ 4.0 ได้ ตั้งแต่ในระดับการเรียน ไอทีเป็นหนึ่งในวิชาของการงานพื้นฐานอาชีพ ทั้งที่วันนี้ไอทีเป็นพื้นฐานของงานเกือบทุกอย่าง

วันนี้ประเทศไทยมีคนอยู่ 5 กลุ่ม ซึ่งการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 นั้น ทุกกลุ่มต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

กลุ่มที่หนึ่ง ผู้ปฎิบัติงาน คือคนทุกกลุ่มที่รับนโยบายไปปฏิบัติ ข้าราชการ คนงาน นักประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ระดับล่างถึงอธิบดี
กลุ่มที่สอง ผู้บริหารประเทศ เช่น นักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มนี้มีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กำหนดนโยบายผลักดัน และจัดหางบประมาณมาใช้ เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกกลุ่ม
กลุ่มที่สาม นักวิชาการ มีหน้าที่ในการคิดค้น กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เหมาะสม

สำหรับคนกลุ่ม 1 และ 2 รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรม กฎหมาย สิทธิบัตร กฎเกณฑ์ มาตรฐาน
กลุ่มที่สี่ นักเรียน นักศึกษา ต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆเกี่ยว ในการเป็นผู้ปฏิบัติงาน นักบริหาร หรือนักวิชาการ
กลุ่มที่ห้า กลุ่มที่ไม่ทำงานแล้ว ผู้สูงอายุ เด็ก คนว่างงาน นักบวช ฯลฯ

วันนี้ประเทศไทยจะไปสู่ Thailand 4.0 ก็ต้องใช้คนทุกกลุ่ม แต่วิธีการใช้งานต่างกัน การจะผลักดันประเทศให้เดินหน้าไปด้วยดี คนกลุ่มที่สาม จะต้องมีบทบาทในการช่วยคิดค้นและกำหนดกฎเกณฑ์ระเบียบให้ดีขึ้น ขณะที่คนกลุ่มที่สองต้องกำหนดนโยบายในการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

วันนี้อุปสรรคที่สำคัญคือ “เราไม่รู้ว่าการทำแบบใดถึงจะดี” เราสนับสนุน Startup มากมาย แต่ไม่ได้บอกทำอย่างไรจึงจะดี ทำอย่างไรจะอยู่รอด ซึ่งส่วนนี้เป็นปัญหาของการสื่อสาร ที่ต้องบอกให้ทุกคนรู้ว่า คิดอะไร ทำอะไร

กำเนิด สธร. เพื่อชูธรรมาภิบาล

บทบาทและความจำเป็นของคนกลุ่มนักวิชาการ ทำให้นักวิชาการและอาจารย์หลายท่านระดมสมอง และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าจะผลักดันประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 จะต้องมีชมรม หรือสมาคมที่เป็นของกลุ่มนักวิชาการที่พยายามพัฒนา คิดค้น มาตรฐานที่ดีมานำเสนอให้บุคคลทั่วไปรับทราบ

สิ่งที่เราคิดว่าดีมีหลายอย่าง วันนี้ประเทศไทยมีกฎหมาย มีจริยธรรม มีศีธรรม แต่ยังขาดหลักธรรมาภิบาลที่ดี และซ้ำซ้อนกับ Responsibility แต่ Accountability โดยส่วนใหญ่จะเป็นความรับผิดชอบที่มากกว่าหน้าที่ ซึ่งสิ่งนี้ต้องปลูกฝังให้กับคนไทย

สมาคมฯ ตั้งขึ้นเพื่อผลักดันประเทศไทยให้บรรลุวัตถุประสงค์ใน 2 ประการ ได้แก่
1.มาตรฐานที่ดีในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับงานไอทีภายใต้ Accountability
2.เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับมาตรฐาน ข้อกำหนด สิทธิบัตร ระเบียบและแนวทางปฏิบัติให้คนทั่วไปทราบ ผ่านช่องทางออนไลน์ และการจัดสัมนาให้ความรู้

3 เป้าหมายใหญ่ของสมาคม

ดร.ครรชิต เล่าว่า วันนี้สมาคมมีเป้าหมายใหญ่ของการทำงานใน 3 ด้านที่สำคัญได้แก่

1.Smart City วันนี้เมืองขนาดใหญ่หรือเมืองขนาดเล็กล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ทั้งการทำลายธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย วันนี้ประเทศที่พัฒนาจึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทาง Smart City จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแนวทางในการแก้ไขปัญหา

วันนี้ทุกคนต่างมีความเข้าใจไม่ตรงกันว่า Smart  City คืออะไร เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเมืองใหญ่และชุมชน แต่โดยหลักการแล้ว Smart City คือ เมืองที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ไร้ฝุ่น การจราจรสะดวกสบาย ผู้คนสะดวกสบาย ทำงานด้วยความสุข อบอุ่น ซึ่งการจะก้าวไปสู่จุดนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและหยิบเทคโนโลยีมาใช้เยอะมาก

มีหลายภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Smart City เช่น คมนาคม พลังงาน ความปลอดภัย ความมั่นคง ความสามารถตรวจจับผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นงานใหญ่ เมื่อเป็นงานใหญ่จะต้องพิจารณากันต่อว่า ทำแล้วมีโอกาสเกิดความฉ้อฉลหรือไม่ รวมถึงการเก็บภาพผู้คนทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ส่วนนี้จึงเกี่ยวข้องกับ Smart City จะพัฒนาเมืองอย่างไรให้เติบโตอย่างมีธรรมาภิบาล มีความระวังในการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว และความเป็นสาธารณะ ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดเจน

2.FinTech ปัจจุบันเงินที่มีการโอนไปมาเป็นการโอนเพียงตัวเลขระหว่างบัญชีเท่านั้น ซึ่งมีช่องว่างและมีความเสี่ยงอยู่ ส่วนนี้จึงเกิดปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะปกป้องให้การทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ไม่มีปัญหา และบริษัทที่ให้บริการ Fintech ควรจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ปกป้องเงินฝากของผู้ลงทุนได้

เช่น บริการพร้อมเพย์ที่เปิดให้บริการนั้น จริงๆ ไม่ได้ทำเพื่อจ่ายเงิน แต่เป็นช่องทางหลักในการรับเงิน แต่เมื่อบอกว่า เพย์ (Pay) คนก็ไม่กล้าเปิดบัญชี แต่ถ้าบอกว่าพร้อมรับเชื่อวาคนส่วนใหญ่จะยินดีเปิดบัญชีนี้ และได้รับความสะดวกจากการโอนเงิน ส่งเงินที่เสียค่าธรรมเนียมน้อยมาก นั่นเป็นปัญหาของการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ซึ่งชมรมจะเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ด้วย

3.Internet of Thing (IoT) เป็นแนวโน้มเทคโนโลยีที่มีบทบาทมากขึ้น ในเร็วๆนี้ หน่วยประมวลผล (Processor) จะถูกจับลงไปในอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อได้อุปกรณ์ทุกอย่างจะสามารถประมวลผลและส่งข้อมูลผ่านออนไลน์ได้ สำหรับการตรวจจับ ตรวจวัด การเก็บ การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการบริการ หรือการพัฒนาบริการให้ดีขึ้นได้

“ในเร็วนี้เราจะได้เห็นอุปกรณ์ทุกอย่างฉลาดขึ้น โถส้วมที่บอกได้ว่า ใช้น้ำวันละกี่ลิตรหรือกดชักโครกได้เอง เราจะได้เห็นการใช้เซ็นเซอร์และกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งในบ้านเพื่อดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ที่สามารถบอกหรือแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด IoT จึงเป็นแนวโน้มที่สำคัญ

แต่การใช้งาน IoT ก็ต้องมีระดับที่เหมาะสม และมีระเบียบที่ชัดเจนประกอบด้วย เช่น ข้อมูลที่ได้จะจัดเก็บอย่างไร จะส่งให้ใครได้บ้าง และอุปกรณ์เหล่านั้นมีระบบการจัดการความปลอดภัยอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกแฮกเกอร์ใช้ไปในทางที่ไม่ดี” ดร.ครรชิต กล่าว

ธรรมาภิบาล จึงมีบทบาทอย่างมากต่อการทำงานในส่วนต่างๆ ติด IoT อย่างไรให้ถูกต้อง เก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เก็บสิ่งที่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น และการส่งข้อมูลส่งอย่างไรถึงจะไปถึงคนที่ต้องการรับ ไม่ใช่ส่งกระจายไปทั่ว

ผลักดันการส่งเสริมธรรมาภิบาลอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ชมรมก่อตั้งขึ้นเป็นรูปร่างแล้ว และเริ่มประชุมกำหนดทิศทางและบทบาทของชมรมให้มีความชัดเจน ซึ่งตอนนี้ชมรมกำลังผลักดันแนวคิดของชมรมให้สอดแทรกไปอยู่ในแผนงาน 20 ปีในการพัฒนาประเทศของภาครัฐ ให้สอดแทรกธรรมาภิบาลในส่วนต่างๆ เข้าไปด้วย

นอกเหนือจากบทบาทดังกล่าวแล้ว ชมรมยังมีบทบาทในการผลักดัน ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำอย่างไรให้คนไทยตระหนักในความจำเป็นในการผลักดันความรู้พื้นฐานด้านไอที เช่น การพัฒนาหลักสูตร eLearning ของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ความระมัดระวังในการใช้งานไอที ที่ต้องมีความรู้ที่แท้จริงในระดับการพัฒนาได้ และสิ่งสุดท้ายคือ ความสามารถในคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล ซึ่งปัจจุบันคนไทยขาดความคิดและวิจารณญาณในด้านี้ค่อนข้างมาก  เราต้องรู้ว่า ข้อมูลไหนเป็นจริง ข้อมูลไหนเป็นเท็จ และต้องรู้จักเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง

บทบาทของชมรมส่งเสริมธรรมาภิบาลและความรับผิดรับชอบต่อเทคโนโลยีดิจิทัลไทย (สธร) จะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญ ในการคิดค้นนวัตกรรม ผลักดันมาตรฐาน ข้อกำหนด กฎระเบียบ รวมถึงการส่งเสริมสื่อสาร และเผยแพร่กรอบความคิดเรื่องธรรมาภิบาล ไปยังผู้บริหารงานด้านไอที และสังคมในวงกว้าง ภายใต้เป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 อย่างแท้จริง