การสื่อสาร

โลก การสื่อสาร ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเองก็ตาม

การสื่อสาร

โดย ดร. ทิพย์ศริน ภัคธนกุล เจ้าหน้าที่พัฒนาอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้เขียนแนวคิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลแบบเปิดไว้น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยผู้เขียนขอยกเฉพาะใจความที่น่าสนใจไว้ดังนี้

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่การสื่อสารออนไลน์ย่อโลกเข้าไว้ด้วยกันอย่างรวดเร็ว บทบาทในการอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนสามารถติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยปราศจากข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ ความก้าวหน้าดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการเมืองการปกครองและการบริหารงานภาครัฐ

ด้านหนึ่ง เทคโนโลยีที่เจริญขึ้นช่วยให้การสื่อสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างประหยัด สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารที่เหมาะสม

เช่น ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network-GIN) ระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) และระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ (MailGoThai) เป็นต้น

อีกด้านหนึ่ง การสื่อสารผ่าน “สื่อสังคม” เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ได้กลายเป็นเครื่องมือสาคัญเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น การโค่นล้มผู้นำประเทศในโลกอาหรับทั้งในตะวันออกกลาง

และ แอฟริกาเหนือ ในกรณีของประเทศอียิปต์ 1 สัปดาห์ก่อนที่ ประธานาธิบดีฮุสนี มุบาร็อก (Hosni Mubarak) จะลาออกจากตำแหน่ง จำนวนโพสต์บนทวิตเตอร์ทั้งในประเทศอียิปต์และทั่วโลกที่เกี่ยวกับการประท้วงในอียิปต์เพิ่มขึ้นจาก 2,300 โพสต์เป็น 230,000 โพสต์ต่อวัน

โดย ฟาวาซ ราเชด (Fawaz Rashed) หนึ่งในผู้ประท้วงชาวอียิปต์ได้อธิบายบทบาทของสื่อสังคมต่าง ๆ ไว้ว่า “พวกเราใช้เฟซบุ๊กเพื่อกำหนดตารางการประท้วง ใช้ทวิตเตอร์เพื่อติดต่อประสานงานระหว่างกัน และใช้ยูทูป เพื่อแจ้งข่าวสารต่อชาวโลก”

การสื่อสาร

แนวคิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อสร้าง การสื่อสาร แบบเปิด

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการสร้างรัฐบาลแบบเปิด เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการใช้อำนาจของรัฐบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกระดับ องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งอีกหลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดนี้และพยายามผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

องค์การสหประชาชาติ ได้นิยามข้อมูลเปิดภาครัฐว่า “ข้อมูลของรัฐบาลที่ถูกเปิดเผยผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง นำไปใช้ต่อ หรือแจกจ่ายได้โดยปราศจากข้อจำกัดใด ๆ”

ขณะที่ World Wide Web Foundation ได้กำหนดคุณลักษณะของข้อมูลเปิดไว้ 5 ประการ คือ 1. สามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางออนไลน์ (Available Online) เพื่อเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมากและหลากหลาย 2. ทุกคนได้รับอนุญาตให้นำข้อมูลนั้นไปใช้ (Open-Licenced) 3. ประมวลผลด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้ (Machine-Readable)

เพื่อสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายให้อยู่ในชุดข้อมูล (Dataset) เดียวกัน และสามารถนำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย (Available in Bulk) 5. ไม่เสียค่าใช้จ่าย (Free of Charge) เพื่อให้ประชาชนไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรสามารถเข้าถึงได้โดยเสมอภาคกัน

ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ขององค์การสหประชาชาติ การรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเป็นมาตรการที่ 10 ของเป้าหมายที่ 16 คือ การสร้างสังคมที่สงบสุข ไม่แบ่งแยก การเข้าถึง ความยุติธรรมของประชาชนและการสร้างสถาบันทุกระดับที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้ และเป็นธรรมสาหรับประชาชนทุกคน

อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติยังได้ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐยังถือเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐช่วยขจัดความยากจน ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐจะช่วยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยากจนเข้าถึงบริการของภาครัฐได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมสร้างนวัตกรรมการช่วยเหลือคนยากจนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยให้องค์กร สถาบันต่าง ๆ สามารถวางแผนจัดสรรทรัพยากรเพื่อขจัดปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำ

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐยังถือเป็นกุญแจสำคัญ

ในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในระดับนานาชาติ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเพื่อพยายามผลักดันแนวคิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลแบบเปิด คือ กลุ่มความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 มีประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้ง 8 ประเทศ คือ บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 70 ประเทศ ประเทศสมาชิกหรือประเทศที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือนี้จะต้องถูกประเมินผลการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ความโปร่งใสด้านการคลัง (Fiscal Transparency) 2. การเข้าถึงข้อมูล (Access to Information)

3. การเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้ และสินทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (Public Officials Asset Disclosure) และ 4. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (Citizen Engagement) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรระดับนานาชาติที่ได้ดำเนินการประเมินและจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐของประเทศต่าง ๆ เช่น Open Knowledge International ได้จัดทำดัชนีชี้วัดชื่อ Global Open Data Index สำหรับประเมินการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในหลายด้าน เช่น กฎหมาย การพยากรณ์อากาศ การปล่อยมลพิษ ผลการเลือกตั้ง งบประมาณรายจ่ายของรัฐ การจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น

อีกองค์กรหนึ่งที่สำรวจการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐของประเทศต่าง ๆ คือ World Wide Web Foundation ได้จัดทำดัชนีชี้วัดชื่อ Open Data Barometer ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้นำด้านรัฐบาลดิจิทัลของโลกต่างมีนโยบายหรือแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐด้านต่าง ๆ

เพื่อสร้างรัฐบาลแบบเปิด รวมทั้งสร้างเว็บท่า (Portal Site) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเปิดของหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง ในกรณีของสหรัฐอเมริกา หลังจาก ประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) สาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 วัน ท่านได้มอบนโยบายแก่หัวหน้าส่วนราชการของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างรัฐบาลที่โปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับสังคม โดยเว็บท่าของสหรัฐอเมริกาที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ คือ www.data.gov/ ณ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559 มีชุดข้อมูลทั้งสิ้น 186,462

ชุดข้อมูลในสหราชอาณาจักร ซึ่งได้อันดับ 1 ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จากการจัดอันดับขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2559 และรัฐบาลได้ออกสมุดปกขาวว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ชื่อ Open Data White Paper : Unleashing the Potential”

เมื่อปี พ.ศ. 2555 วัตถุประสงค์สำคัญของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐของสหราชอาณาจักร คือ การสร้างสังคมที่โปร่งใสและสร้างความไว้วางใจที่ประชาชนและสังคมมีต่อรัฐบาล ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ส่งเสริมให้สังคมนำข้อมูลที่เปิดเผยไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านธุรกิจและด้านอื่น ๆ

โดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เว็บท่าของสหราชอาณาจักร คือ https://data.gov.uk/ มีชุดข้อมูลที่เปิดเผยจำนวน 36,285 ชุดข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

กรณีประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้อันดับที่ 2 ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศชัดเจนว่า “ข้อมูลเป็นสมบัติของชาติ (Data is a national asset.)” และต้องเปิดเผยข้อมูลทั่วไปให้สาธารณชนได้รับรู้และนำไปใช้ประโยชน์

โดยรัฐบาลออสเตรเลียมุ่งมั่นที่จะเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สามารถนำไปประมวลผลต่อได้อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยต้องไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยและสิทธิส่วนบุคคลของพลเมืองออสเตรเลีย รวมทั้งจะทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ในการสร้าง เก็บ รวบรวม

และใช้ประโยชน์จากข้อมูล เว็บท่าของรัฐบาลออสเตรเลียคือ http://data.gov.au/ มีชุดข้อมูลที่เปิดเผยจำนวน 23,169 ชุดข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

การสื่อสาร

รัฐบาลแบบเปิดเป็นแนวคิดเพื่อสร้างความโปร่งใส

กล่าวโดยสรุป แนวคิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อสร้างรัฐบาลแบบเปิดเป็นแนวคิดที่องค์การระหว่างประเทศและประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นผู้นำด้านรัฐบาลดิจิทัลของโลกต่างยอมรับและพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

สร้างความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของรัฐ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกระดับ สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเปิดโอกาสให้สังคมได้นำข้อมูลที่เปิดเผยเหล่านี้ไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อสร้างรัฐบาลแบบเปิดในประเทศไทย รัฐบาลไทยเริ่มเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

ตั้งแต่รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2401 ทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐ จะกลายเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีแอบอ้างชื่อของขุนนาง หรือพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ไปหลอกลวง และกดขี่ข่มเหงประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน

และเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ จึงทรงริเริ่มการออกหนังสือชื่อ “ราชกิจจานุเบกษา” อย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระบรมราชโองการ กฎหมาย คำสั่งต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ ราชกิจจานุเบกษาจึงเป็นเอกสารสำคัญที่เผยแพร่ข่าวสารของหน่วยงานภาครัฐให้ประชาชนได้รับรู้อย่างกว้างขวาง

นับแต่นั้นเป็นต้นมา กฎหมายทุกฉบับ ทุกลำดับชั้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง จนถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ล้วนต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งสิ้น

ปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาเอกสารที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทางเว็บไซต์ที่บริหารโดยสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี www.mratchakitcha.soc.go.th/

ยุคข้อมูลข่าวสารของราชการ

ในปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้กฎหมายที่สำคัญยิ่งสำหรับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในสังคมไทยร่วมสมัย คือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดหลักการสำคัญ

ซึ่งเป็นรากฐานของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน คือ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้กำหนดประเภทของข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผย เช่น ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

และข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เป็นต้น บทบัญญัติสำคัญของพระราชบัญญัตินี้อยู่ในมาตรา 7 และมาตรา 9 กำหนดประเภทของข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยหรือจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ อาทิ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และสถานที่ติดต่อหน่วยงานของรัฐ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับแผนงานโครงการ

ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน คู่มือการปฏิบัติงาน สัญญาสัมปทาน รายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เรียกว่า “คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ” มีรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่สอดส่องดูแล

ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐ และคณะรัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่บัญญัติไว้ หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้

คือ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการชุดนี้ได้ออกประกาศตามมาตรา 9 (8) กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านอื่นอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในกรณีที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่หน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14

และ มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประชาชนสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ “คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร” หรือ กวฉ. ได้ ปัจจุบันคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมี 5 สาขา คือ 1. สาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ 2. สาขาเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ

3. สาขาการแพทย์และสาธารณสุข 4. สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเกษตร 5. สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมี 5 องค์คณะ ซึ่งถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

ยังสามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเจริญก้าวหน้ามากขึ้น และคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7 และมาตรา 9 บนเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ดังนั้น ในปัจจุบันประชาชนจึงมีทางเลือกมากกว่าเดิม โดยสามารถติดตามหรือค้นหาข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐทางเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้น ๆ

และทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น ผู้สนใจข้อมูลข่าวสารของสำนักงานสถิติแห่งชาติสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงาน คือ www.nso.go.th/ และ www.oic.go.th/infocenter3/387/

ส่วนผู้สนใจข้อมูลข่าวสารของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของหน่วยงาน คือ www.ega.or.th/th/index.php และ www.oic.go.th/infocenter6/620/ เป็นต้น

วันนี้อาจกล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 ได้วางหลักการและสร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐครอบครองได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะยังประสบปัญหาอยู่บ้าง เช่น การตีความบทบัญญัติเกี่ยวกับประเภทและขอบเขตของข้อมูลข่าวสาร

ที่ต้องเปิดเผยตามพระราชบัญญัตินี้ที่ยังคงแตกต่างกันระหว่างหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่ง หรือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยจำแนกตามหน่วยงาน อาจทำให้ประชาชนไม่สามารถค้นหาหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐที่ตนต้องการได้ครบถ้วนภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจำเป็นต้องแสวงหาหนทางปรับปรุงแก้ไขต่อไป

สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐครอบครองตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้รับการรับรองเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540

ส่วนขยาย 
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่ได้มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Columnist : พลาย อะตอม Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters) 
    Articles from : ELEADER Magazine ฉบับที่ 334 DEC 2016 
*** ขอขอบคุณภาพประกอบจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่