ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขจากปี พ.ศ. 2550 ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลและมีประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างรุนแรง จนกระทั่งมีกลุ่มต่อต้านการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข โดยมีเสียงคัดค้านจากประชาชนและเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 300,000 คน…

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข เรื่องจำเป็นที่ต้องเข้าใจ

ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ลงชื่อในการคัดค้านการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว (ตามข้อมูลของ change.org) ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความเป็นส่วนตัวในการใช้คอมพิวเตอร์ และความไม่ชัดเจนในการกลับมาของ Single Gateway และที่สำคัญ มีเว็บไซต์และ Facebook Page ต่าง ๆ

ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข (ซึ่งเป็นการร่างฉบับเก่าที่ยังไม่เป็นฉบับล่าสุดก่อนเข้า สนช) เผยแพร่แก่ประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากเป็นร่างที่ไม่เป็นปัจจุบัน ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะพยายามอธิบายเพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงสำหรับข้อสงสัยต่าง ๆ ดังกล่าว

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

Thailand Single Gateway จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?

เมื่อกล่าวถึง “Single Gateway” หลายท่านมักจะเข้าใจว่า Single Gateway คือ การรวบรวมช่องทางการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตให้เหลือเพียงช่องทางเดียว โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยตรวจสอบความเคลื่อนไหวของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถที่จะยุบรวมช่องทางการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตให้เหลือเพียงช่องทางเดียวได้เลย

เนื่องจากการทำเช่นนั้นจะทำให้การให้บริการอินเทอร์เน็ตของประเทศเกิดสภาพคอขวด เกิดผลกระทบเชิงลบเป็นวงกว้าง เปรียบเหมือนกับถนนที่มีหลายเส้นทางเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์ในการเข้ามาที่จังหวัดกรุงเทพมหานครแล้ววันหนึ่งเหลือเพียงถนนเส้นเดียว การจราจรต้องติดขัดอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยตรวจสอบทุกความเคลื่อนไหวของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เนื่องจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขนี้ ระบุชัดเจนว่า การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกระทำการใด ๆ ต้องมีคำสั่งศาลเท่านั้น (รูปที่ 1)  

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
รูปที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข มาตรา 19 (Source : สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถขอดูข้อมูลการใช้บริการอินเทอร์เน็ตเองได้หรือไม่ ?

สำหรับข้อกังวลหนึ่งเกี่ยวกับการใช้อำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีหลายท่านคิดว่าคณะกรรมการนี้สามารถใช้อำนาจขอดูข้อมูลของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเองได้เลย แท้จริงแล้วคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ อาจจะเป็นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ ที่แต่ละคณะจะมีกรรมการจำนวน 9 คน

ซึ่ง 3 ใน 9 คนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน, ด้านสื่อมวลชน, ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (รูปที่ 2) โดยมีหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจากประชาชน ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าข้อมูลไม่เป็นความจริงหรือสามารถหาข้อยุติที่ดีได้ ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องไปถึงศาล

แต่กรณีที่ข้อมูลหรือหลักฐานเป็นความจริงและไม่สามารถหาข้อยุติที่ดีได้ ก็จำเป็นต้องยื่นเรื่องไปยังศาลตามกระบวนการถัดไป ซึ่งการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะยื่นเรื่องไปยังศาลเพื่อขออำนาจในการสืบสวนได้นั้น ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จากนั้นต้องให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ลงนาม

เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณา เมื่อมีคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถขอดูข้อมูลของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่สืบสวนไม่สามารถขอดูข้อมูลการใช้บริการอินเทอร์เน็ต กำจัดข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หรือถอดรหัสของเป้าหมายเองได้

โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีคำสั่งศาลเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ ในกรณีที่มีรัฐมนตรี คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือเจ้าหน้าที่สืบสวน ใช้อำนาจโดยมิชอบ จะมีความผิด มีโทษจำคุกเช่นกัน

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
รูปที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข มาตรา 20 (Source : สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

การตัดต่อหรือดัดแปลงภาพเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียมีความผิดหรือไม่ ?

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข มีมาตราที่เกี่ยวกับการตัดแต่งภาพผู้อื่น มีความผิดติดคุกไม่เกิน 3 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งทำให้หลายท่านเกิดประเด็นข้อสงสัยว่า ถ้าช่างภาพตกแต่งภาพลูกค้าแล้วอัพโหลดลงในอินเทอร์เน็ต มีความผิดหรือไม่

เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข มาตรา 16 (รูปที่ 3) ระบุว่า การตัดต่อ แต่งเติม หรือดัดแปลง ในลักษณะที่จะทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีความผิด เช่นมีคนตัดต่อภาพเอาใบหน้าของดารามาตัดต่อกับภาพที่ลามกอนาจาร

ทำให้ดาราผู้นั้นเสื่อมเสียชื่อเสียงและมีความอับอาย ผู้นำภาพนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์มีความผิดตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข มาตรา 16 ในทางกลับกัน ช่างภาพที่ถ่ายรูปนักศึกษาในวันรับปริญญาแล้วมีการตกแต่งหรือตัดต่อภาพให้สวยงามขึ้นก็ไม่มีความผิด

เนื่องจากไม่ได้ทำให้นักศึกษาท่านนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ดังนั้น สำหรับเรื่องการตัดต่อภาพให้บิดเบือนไปจากความเป็นจริงจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ตัดต่อ ถ้าเจตนาประสงค์ร้ายให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย คงต้องมีความผิดอย่างแน่นอน

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
รูปที่ 3 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข มาตรา 16 (Source : สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ทำไมยังมีเสียงคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ?

ถึงแม้ว่าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขจะบัญญัติชัดเจนว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องได้รับคำสั่งศาลก่อนจึงจะสามารถขอดูข้อมูลการใช้บริการอินเทอร์เน็ตตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) กำจัดข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หรือถอดรหัสของเป้าหมายได้

แต่ทำไมยังคงมีผู้คัดค้านเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ Single Gateway อยู่อีก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้มีผู้ที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขอยู่อย่างมากมาย ซึ่งก็มีหลายเว็บและหลาย Facebook Page ที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเท่าที่ควรจะเป็น

อาจจะเป็นเพราะข้อมูลที่เอามาใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลจากร่างพ.ร.บ. ฉบับเก่าที่ยังไม่ได้ผ่านการแก้ไขให้เป็นการร่างฉบับล่าสุด ทำให้ผู้เข้ามารับเอกสารเกิดความเข้าใจผิด เช่น พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถกระทำการเองได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถขยายอำนาจปิดเว็บ-ตั้งศูนย์บล็อกเว็บเบ็ดเสร็จ หรือข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตกอยู่ในอันตราย ฯลฯ

แต่เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างไปจากข้อมูลที่เราได้รับผ่านโซเชียลมีเดียอยู่พอสมควร

เช่น พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำการใด ๆ ได้โดยไม่มีคำสั่งศาล ดังนั้นก่อนที่เราจะเชื่ออะไรควรตรวจสอบข้อมูล พินิจและวิเคราะห์จากหลาย ๆ แหล่งที่น่าเชื่อถือให้แน่ชัดก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง

ที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังคัดค้าน เพราะมีเหตุมาจากการไม่เข้าใจร่างพระราชบัญญัติอย่างท่องแท้  ซึ่งมีหลายเว็บไซต์ และหลาย Facebook Page ที่ให้ยังให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเท่าที่ควรจะเป็น

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงจากพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี พ.ศ. 2550 เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยเท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ในอดีตเราไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลหรือภาพที่ “บิดเบือน” ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่นได้ แต่ปัจจุบันนี้มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ที่กระทำการเหล่านี้ได้เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกระทำ ที่สำคัญ ในโลกอินเทอร์เน็ตมีการให้ข้อมูลข่าวสารมากมาย

ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ดังนั้นก่อนที่เราจะเชื่ออะไร เราควรจะศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่าข้อมูลที่เรากำลังอ่านอยู่นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ดังคำกล่าวที่ว่า “Think before you post, Search before you share and believe”

ส่วนขยาย 
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่ได้มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Columnist : ปริญญา หอมเอนก, ปกรณ์ โชติถิรพงศ์ 
   ACIS Professional Center Co., Ltd. and Cybertron Co., Ltd. 
   Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters) 
*** Articles from : ELEADER Magazine ฉบับที่ 336 FEB 2017

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่