Social media

คงไม่ผิดหากกล่าวว่าพลังอำนาจของการสื่อสาร คือประตูสู่ความสำเร็จของ “ผู้นำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังอยู่ในยุคแห่งการเชื่อมโยง (Connected Era) ด้วยโซเชียล มีเดีย (Social media) 

ในโลกของสื่อดิจิทัล (Digital Media) การสื่อสารมีประสิทธิภาพสูง และถือได้ว่าพลังอำนาจของการสื่อสาร (The Power of Communications) เป็นประตูสู่ความสำเร็จของ “ผู้นำ” อำนาจของการสื่อสารเชื่อมโลกเข้าหากัน

ถึงขนาดที่ว่าบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคง เปลี่ยนไปจากดินแดนที่มีอาณาเขตชัดเจน ก็เกิดชุมชนขนาดใหญ่ หรือหมู่บ้านโลก (Global Village) ขึ้น หรืออาจเรียกยุคนี้ว่ายุคแห่งการเชื่อมโยง (Connected Era)

Social media that is a Double-edged sword 

เราจะเห็นได้ว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง แต่สามารถสร้างกระแส หรือเกิดเป็นแรงกระเพื่อมสะเทือนโลก ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบันได้ เช่น กรณีการปฏิวัติอาหรับ (ARAB Spring) เมื่อหลายปีที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งการติดตามไปกับกระแสความร้อนแรงของปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างสหรัฐอเมริกา

ภายใต้การนำของ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีผู้นิยมการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัล กับคิมจองอึน ผู้นำโสมแดง ที่มักจะสร้างความน่าตระหนกให้กับสังคมโลกเสมอ เราติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์เหมือนได้ไปอยู่ในสถานที่จริง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากคำเพียงสามคำทั้งสิ้น

คือ “สังคม” ที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ ที่ติดต่อสื่อสารกันเพียงเพื่อความต้องการของตนเองเป็นปฐมบท “สื่อ” ที่มนุษย์ใช้ในการแสดงออก และนัยทางอารมณ์ที่ต้องการสื่อสารและ “โลกออนไลน์” ที่ย่อระยะทาง กระชับพื้นที่โลกให้แคบ และเชื่อมคนในโลกให้ถึงกันหมด ซึ่งทำให้โลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายแล้ว ยิ่งวุ่นวายเข้าไปอีก

กระแส Digital Marketing ที่กำลังได้รับความนิยม และทุกองค์กรต้องดำเนินการทำการตลาดผ่านช่องทางสื่อสารดิจิทัล เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง อันเนื่องมาจากการที่เทคโนโลยีสารสนเทศกลายเป็นโครงข่ายและโครงสร้างสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ

และเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนเราในปัจจุบัน ดังคำกล่าวว่า IT = Business เราจึงเห็นได้ว่า ช่วงนี้โลกช่างหมุนไปอย่างรวดเร็วเรามีเทคโนโลยีเกิดใหม่แทบทุกวัน เทคโนโลยีประเภท Disruptive ก็เกิดขึ้นมาก เอาแค่ที่ใกล้กับวงการสื่อสารหรือการตลาด

Social media

อย่างเช่น เทคโนโลยีอย่าง Machine Learning ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของโปรแกรม Chatbot ที่จะช่วยให้ข้อแนะนำ คำปรึกษา ระหว่างโปรแกรมกับมนุษย์ หรือเทคโนโลยี Augmented Reality ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2560 เมื่อ Pokemon Go กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก AR 

ซึ่งได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 90 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงการลงทุน ในปี 2558 มีเพียง 700 ล้านดอลลาร์เท่านั้น อนาคตได้มีการนำเสนอแพลตฟอร์ม Mixed Reality ที่แม้กระทั่ง Microsoft เองก็ได้เปิดแพลตฟอร์ม MR สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว

และคาดว่าจะเห็นผลบางอย่างในปีนี้ ที่กล่าวผ่านมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างมากมาย สำหรับในทางรัฐศาสตร์กล่าวได้ว่าพลังอำนาจของชาติใดชาติหนึ่งนั้นต้องอาศัยความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในด้านต่างๆ

ที่จะเป็นพลังอำนาจในการบริหารประเทศทั้งภายในและระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และที่มาแรงและถือว่ามีบทบาทสูงในการเชื่อมพลังอำนาจทั้งหลายเข้าร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร ซึ่งรัฐบาลของเราก็ให้ความสำคัญอย่างมาก

เห็นได้จากการชูนโยบาย Thailand 4.0, ยุทธศาสตร์ Digital Economy และโครงการ Smart ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่นำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนทั้งหมดทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีการเตรียมพร้อมทั้งการปรับเปลี่ยนจัดตั้งหน่วยงานที่จะมาช่วยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

ทั้งการปรับเปลี่ยนจากกระทรวง ICT มาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการตั้งหน่วยงานภายใต้การกำกับภาครัฐเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้กระแสการเรียนรู้เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านการใช้งานในชีวิตประจำวัน การดำเนินธุรกิจ

หรือการทำงานล้วนแล้วแต่นำเอาเทคโนโลยีด้านไอทีมาผสมผสานทั้งสิ้น ล้วนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ Digital Life มากมาย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ช่วยเพิ่มมูลค่าการทำงาน การผลิต ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ มากมาย

รูปแบบการทำงานที่ตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกันได้อย่างทันที อย่างเช่นอุปกรณ์ Internet of Things ที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การแชร์ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่าง ๆ ของโลกข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำมาวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว

ดังเช่นในภาคธุรกิจ หรือด้านสุขภาพ ก็เริ่มนำเรื่องของ Big Data และ Analytic มาใช้ในการวิเคราะห์เป้าหมายทางการค้า การวิเคราะห์ด้านสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ แนวโน้มการรักษา จากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว และให้ผลการแนะนำอย่างทันทีผ่านอุปกรณ์ Devices ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทวอทช์

หลายวันที่ผ่านมาเราคงติดตามข่าวความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีอย่างใจจดจ่อว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ สื่อทั้งหลายต่างแข่งขันกันเพื่อนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งผ่านสื่อ ทั้งสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการนำเสนอข่าวอย่างรวดเร็ว ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น

และก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมในการตอบสนองต่อข่าวสาร ยิ่งเทคโนโลยี Over-the-Top (OTT) หรือบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง ถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากการที่นักวิเคราะห์ข่าวคนดังหลายคนเริ่มใช้ในการนำเสนอรายการสดและวิเคราะห์ข่าวเรียกผู้สนใจให้เข้าชมกันมากมายในการให้บริการ OTT จากสื่อสังคมดัง ๆ อย่างเช่น Facebook เป็นต้น OTT เป็นทั้งวิกฤติและโอกาสสำหรับผู้เล่นรายเดิมและผู้เล่นรายใหม่ในวงการสื่อ

โดย OTT เป็นธุรกิจที่เหมาะสำหรับบริษัท Startup ในการก้าวเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มในวงการสื่อยุคดิจิทัล ส่วนผู้ประกอบการทีวีรายเดิมจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ บริษัทโฆษณาก็ต้องปรับรูปแบบโฆษณาบนสื่อออนไลน์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย

“เมื่อเทคโนโลยีเข้าถึงทุกคนได้ก็ย่อมเป็นช่องทางสำหรับภัยคุกคามด้วย คำถามคือ ทุกวันนี้เรามีภูมิต้านทานที่ดีแล้วหรือยัง?”

Social media

ภัยคุกคามที่เกิดจากเทคโนโลยี และการสื่อสาร

ภัยคุกคามที่เกิดจากเทคโนโลยีและการสื่อสารนั้นมีมากมายหลายแบบ สร้างความเสียหายมากน้อยตามรูปแบบ ตั้งแต่ส่วนตัวที่เกิดจากการถูกคุกคามข้อมูลส่วนตัว การตกเป็นเหยื่อทางอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต ภัยคุกคามทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ถูกแฮกระบบทางการเงิน สร้างความเสียหายแก่บุคคลและองค์กร

ขณะเดียวกัน ภัยคุกคามในระดับประเทศก็มีไม่น้อยที่เกิดจากเรื่องของ Cyber Crime และ Cyber Warfare หรือสงครามไซเบอร์ที่มุ่งเน้นทำลายระบบโครงข่ายสำคัญต่อการบริหารและความมั่นคงของประเทศ และที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันและดูแล้วน่าสะพรึงกลัวมากกว่าคือภัยคุกคามจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสงครามไซเบอร์

แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสื่อสังคมออนไลน์กลับกลายเป็นการทำลายเชิงโครงสร้างของสังคม โดยมีการปฏิบัติการข่าวสารหรือ Information Operations เพื่อโจมตี ปรับเปลี่ยน บ่อนทำลาย ความคิด ศรัทธา วัฒนธรรมอันดีงามที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศให้พังทลายได้

และที่สำคัญนั้นใช้คนเป็นเครื่องมือในการร่วมกันบ่อนทำลาย ซึ่งในภาคความมั่นคงก็ให้ความสำคัญมากในการระวังป้องกัน การทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ระมัดระวัง (Sense of Awareness) และตระหนักถึงความเร่งด่วนที่จะต้องปกป้อง (Sense of Urgency) ในการป้องกันภัยคุกคามจากการใช้

หรือเข้าแทรกแซงระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิตและการประกอบกิจการต่างๆ ของมนุษย์

กรณีศึกษา : กลุ่ม IS Islamic State ภัยก่อการร้ายที่ใช้ดิจิทัลและการสื่อสาร

ขอยกกรณีศึกษาภัยก่อการร้ายที่ใช้เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร ในกรณีการก่อการร้ายที่โด่งดังในทศวรรษนี้ก็คงไม่พ้นกรณีของกลุ่ม IS Islamic State ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ในการก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบทั้งโลกจริงและโลกเสมือน

เพราะสามารถระดมทั้งกองทุน กองกำลังกลุ่มคนที่มีความชื่นชมในลัทธิอุดมการณ์ อีกทั้งเกลียดชังสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรจากทั่วทุกมุมโลกมาก่อการร้ายในสถานที่ต่างๆ จนมีคำเรียกนักรบอิสระเหล่านี้ว่ากลุ่ม Lone Wolf กลุ่มก่อการร้าย IS ใช้การทำสงครามไซเบอร์เพื่อโจมตีระบบหลักสำคัญๆ

ดำเนินการทำสงครามข่าวสารเพื่อก่อสงครามศักดิ์สิทธิ์ ปลุกปั่น โฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนร่วปฏิบัติการในรูปแบบ Crowd Sourcing จึงไม่น่าแปลกใจที่อเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านแผนแพร่ข้อมูลของกลุ่มไอเอสบนสื่อสังคมออนไลน์

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่แย้ง ความคิดสุดโต่งที่กลุ่มรัฐอิสลามใช้ยั่วยุผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลผ่าน Twitter และ YouTube ที่แสดงให้เห็นว่าความคิดของกลุ่มไอเอสบิดเบือนคำสอนทางศาสนาและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง

ให้คนเลี่ยงความคิดสุดโต่งและให้มีขันติกับความแตกต่างทางศาสนา และนอกจากนี้ก็ใช้สงครามไซเบอร์ตัดช่องทางการเข้าถึงสื่อก่อนที่กลุ่มไอเอสจะสามารถหว่านล้อมและติดต่อพาคนเข้าร่วมขบวนการเพิ่ม หยุดยั้งการหลั่งไหลของชาวต่างชาติ ซึ่งรวมถึงชาวตะวันตก เข้าไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอส

Social media

การก่อการร้ายกับการปฏิบัติการข่าวสารบนโลกไซเบอร์

นักปฏิบัติการข่าวสารส่วนใหญ่ยอมรับว่ากลุ่มไอเอสสามารถใช้สื่อออนไลน์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างทันสมัย นักสังคมวิทยาการเมืองที่ American University ในกรุงไคโรยอมรับว่ากลุ่มไอเอสสามารถใช้สื่อออนไลน์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างทันสมัยมากกว่ากลุ่มก่อการร้ายอื่นใดที่เคยเห็นมา

ถ้าใครได้ติดตามเฝ้าดู Social Media ของกลุ่มไอเอส จะพบว่ามีทั้งภาพการสังหาร การทำลายข้อความและภาพฉลองความรุนแรงที่เกิดตามที่ต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต และทางสื่อสังคมที่กลุ่มนี้ใช้ กลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอสมีความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทางอินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่แนวคิดของพวกตน

รวมทั้งยังเจาะเข้าหากลุ่มคนที่ต้องการได้โดยเฉพาะเจาะจงด้วย ซึ่งหากมองถึงยุทธวิธีจิตวิทยาของกลุ่มไอเอส คงมองได้ว่าเป็นการช่วยสร้าง “แบรนด์” ในหมู่กลุ่มก่อการร้ายด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเผยแพร่ภาพการสังหารตัวประกันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่สุดโต่งต่อกลุ่มรัฐอิสลาม ไอเอส

ซึ่งช่วยดึงดูดผู้ก่อการร้ายที่เชื่อในแนวทางป่าเถื่อนแบบนี้ให้มารวมกันได้ในอนาคต หรือพร้อมนำแนวทางไปใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ด้านต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย มองว่ากลุ่มไอเอส ทราบดีว่าการใช้ยุทธวิธีด้านจิตวิทยาได้ผลทั้งในด้านงบประมาณจากบรรดาผู้ที่เชื่อในวิธีสุดโต่ง

ที่มีกำลังทรัพย์ก็จะยินดีให้การสนับสนุนกลุ่มขบวนการรัฐอิสลามต่อไป แม้ช่วงนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอสผ่านสื่อหลักน้อยลง แต่แท้จริงแล้วไอเอสยังคงพยายามแสดงความเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวเองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ส่วนในด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ จำนวนแฮกเกอร์ของกลุ่มไอเอส กำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ โดยการเจาะเข้าเว็บไซต์หรือสื่อประเภทอื่น ๆ ขององค์กรต่าง ๆ บริษัทเจ้าของระบบป้องกันการโจมตีข้อมูลหรือเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ออกมาเปิดเผยว่ากลุ่มสนับสนุนกลุ่มไอเอส

มีกลวิธีที่แยบยลมากขึ้นในการเจาะเข้าถึงข้อมูล อย่างกรณีล่าสุดที่สถานีโทรทัศน์ TV Monde ของฝรั่งเศสโดนกลุ่มนิยมไอเอสแฮก ทำให้ต้องระงับการออกอากาศกะทันหัน รวมถึงเข้าไปแทรกแซงเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของสถานี นับเป็นเหยื่อที่โดนโจมตีรุนแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา

เมื่อเทียบกับองค์กรสื่ออื่นๆ กลุ่มไอเอสพยามจะเจาะข้อมูลเข้าไปในสื่อของสหรัฐฯ และสื่อต่างๆ ทั่วโลก โดยจะอาศัยช่วงที่เว็บไซต์ต่างๆ เพิ่งเปิดและมีช่องโหว่ให้เจาะข้อมูลเข้าไปได้ง่าย

Social media

เมื่อสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ

จากการที่กลุ่มไอเอสได้ใช้สื่อสังคมมาใช้ในการปฏิบัติการข่าวสารต่อสังคมโลกในการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่าไม่ใช่พวกเดียวกับตนโดยทุกประการ เป็นการแสดงถึงความรังเกียจเดียดฉันท์ผู้ที่ไม่เหมือนตน หรือ hate groups การใช้สื่อสังคมจึงเป็นเครื่องมือหาพวกอย่างได้ผลมากขึ้น

และจากปฏิบัติการข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญการต่อต้านก่อการร้ายเพิ่มการสอดส่องกลุ่มหัวรุนแรงที่ใช้สื่อออนไลน์ชักจูงเด็กรุ่นใหม่ให้ร่วมอุดมการณ์ เพิ่มการสอดส่องกลุ่มหัวรุนแรงที่ใช้สื่อออนไลน์ชักจูงเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมกลุ่มไอเอสโดยผ่านสื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Twitter หรือแม้กระทั่งเกม

นอกจากนั้นเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ด้าน IOT ก็เพิ่มศักยภาพในการก่อการร้ายได้ตามจินตนาการของพวกเขา เช่นกรณีการใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ มาร่วมกับการเขียนโปรแกรมคำสั่งจุดระเบิด ซึ่งสามารถเขียนคำสั่งร่วมกับอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ได้ตามจินตนาการของผู้เขียนโปรแกรม

ซึ่งนับว่าน่ากังวลมาก และที่สำคัญได้แพร่แนวคิดและการปฏิบัติมาถึงกลุ่มก่อความวุ่นวายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เราแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการเฝ้าระวังติดตามป้องกันจากหน่วยความมั่นคงของประเทศตลอด

สอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อต่อสู้กับสงครามสื่อ

จากความสามารถในการปฏิบัติการข่าวสารของกลุ่มไอเอส ที่ใช้ช่องทางของสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างความน่าสะพรึงกลัวให้เกิดในความรู้สึกคน การสร้างให้เกิดแนวร่วมมุมกลับให้เกิดมีกับคนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยจากความคุ้มครองของฝ่ายตรงข้ามไอเอส ให้โจมตี เรียกร้อง ให้ป้องกันการหาแนวร่วมทั้งภายใน

และภายนอก รวมทั้งการนำเสนอแนวคิดแบบสุดโต่ง พร้อมที่จะนำหลักการไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ นอกจากนั้น การทำสงครามไซเบอร์เพื่อโจมตีเว็บไซต์สำคัญ ทำให้หลายหน่วยงานด้านไซเบอร์ทั้งสหรัฐอเมริกาและแนวร่วมต้องการจับตาการสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย

ที่อาจจะเป็นช่องทางของกลุ่มอิสลามสุดโต่งเพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประสงค์ร้าย เนื่องจากกังวลว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอาจจะสามารถปลุกปั่นให้คนในประเทศเหล่านั้นมีความคิดสุดโต่ง แม้กระทั่งรัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย ก็ยังเป็นกังวลกับเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

มาตรการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐและผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงบริษัทเทคโนโลยี เช่น Google, LINE, Youtube และ Facebook ในการแกะรอยต้นตอของโพสต์และวิดีโอที่จูงใจให้คนเข้ากลุ่ม และในปัจจุบันก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

เช่นดังกรณีของ Facebook ที่ได้มีการป้องกันการพิมพ์คำที่ส่อจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐได้ หรือการตั้งมาตรการการป้องกันการนำ OTT มาใช้ สื่อสาร และแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้

ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและการสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้กับสังคมและผู้เข้าถึงสื่อพวกนี้ด้วย นับวันเมื่อโลกไซเบอร์ก้าวไปอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิตของเราทุกคนแทบจะขาดเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เสียแล้ว เรายืนอยู่บนโลกทั้งสองใบ ทั้งโลกจริงและโลกเสมือน ประชากรบนโลกเสมือนนับวันก็จะมากขึ้น

โลกเสมือนที่ประชาชนมีความรู้สึกอิสระทางความคิดได้แสดงออกโดยปราศจากการกรอง เมื่อนานไปจนติดโลกเสมือน พฤติกรรมบางอย่างก็จะถูกหล่อหลอมจนแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมบนโลกแห่งความจริงในที่สุด ผู้ที่อ่อนเยาว์ทางความคิดและขาดผู้ชี้นำที่ดี หรือโครงสร้างทางสังคมอ่อนแออันเกิดจากปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดปัญหามากมายในอนาคตได้

การควบคุมสื่อที่ทางรัฐบาลเน้นย้ำเสมอว่าเพื่อป้องกันการกระทำอันก่อให้เกิดภัยคุกคามประเทศได้นั้น กำลังถูกวิพากย์อย่างหนัก กำลังถูกโจมตีจากผู้เห็นต่างเพียงความสะดวกสบายและเห็นแก่ประโยชน์เพียงน้อยนิด สร้างกระแสในพลเมืองไซเบอร์

“มีกี่คนที่ทำไปโดยไม่รู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น มีกี่คนที่จะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มีความคิดสุดโต่ง และมีอีกกี่คนที่จะฉวยโอกาสนี้หาผลประโยชน์ในการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อแย่งชิงมวลชน”

สิ่งเหล่านี้คงเป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคสังคม ว่า “คิดน้อยทำมาก คิดมากทำน้อย” ถ้าคิดน้อย คุณจะต้องลงมือทำมาก เพราะคุณจะพบกับอุปสรรคระหว่างทางที่เกิดจากการคิดไม่รอบด้าน ถ้าคุณคิดมาก รอบด้าน คุณจะใช้เวลาทำน้อย เพราะทุกอย่างเตรียมการมาอย่างดี

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ELEADER ฉบับที่ 339 ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 by อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ 
    ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านสื่อดิจิทัล อาจารย์พิเศษ ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่