การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่กล่าวถึงมากที่สุดสำหรับยุคนี้ แต่เมื่อองค์กรพร้อมที่จะเปลี่ยนแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการ เตรียมพร้อมคนรับ Digital Transformation

people transform

เตรียมพร้อมคนรับ Digital Transformation สู่ Thailand 4.0

การที่ประเทศไทยจะเดินไปถึงเป้าหมาย “ประเทศไทย 4.0” ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายไว้ได้หรือไม่นั้น จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานภายในองค์กรแบบเดิมสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานทางธุรกิจ

 

องค์กรต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปรูปแบบและกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจให้กับองค์กรในการเพิ่มผลผลิต สร้างนวัตกรรม บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ สร้างความคล่องแคล่วในการบริหารงาน และสร้างคุณภาพของงาน เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้องค์กรนั้นสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของเทคโนโลยีดิจิทัล และยังคงสามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างรวดเร็วตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอดขององค์กรในปัจจุบันนี้

ผู้นำองค์กรต่างก็คาดหวังในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับประมาณผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่ำไป เราทุกคนต่างคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จและสร้างคุณค่าให้ต่อองค์กร

องค์กรที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงความสามารถทางเทคโนโลยีขององค์กร แต่ละเลยความต้องการที่ต้องเปลี่ยนแปลงของพนักงาน ก็จะมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นล้มเหลวไม่ถึงฝั่งฝัน องค์กรต้องวางแผนในการวางตำแหน่งของพนักงานเพื่อให้ช่วยดำเนินการและสนับสนุนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จมากกว่าคิดเพียงแค่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจขององค์กรให้เป็นดิจิทัลอย่างไร

กลยุทธ์การบริหารทรัพยากรมนุษย์แบบบูรณาการเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องมุ่งเน้นในด้านการระบุตัวตนความสามารถของพนักงานที่มีอยู่เดิม การรับสมัครพนักงานที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ การรักษาพนักงานเดิมที่มีความสามารถให้คงอยู่ รวมถึงการให้พนักงานเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์กร

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่เราเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเหตุผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อการอยู่รอด ซึ่งส่วนใหญ่องค์กรก็จะเน้นว่าจะเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างไรเพื่อให้เพิ่มจำนวนส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร

หากแต่การก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรเหล่านั้นได้ องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากเดิม ตลอดจนเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานร่วมกันของพนักงาน วิธีการสร้างทีมงาน และวิธีการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้พนักงานช่วยนำพาองค์กรไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในมุมมองของการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้น ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดขององค์กรส่วนใหญ่มักจะตั้งเป้าหมายที่ต่ำเกินไป

องค์กรเป็นจำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจจากบนกระดาษมาเป็นดิจิทัลทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และมักจะมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานจากการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นจะมีผลต่อพนักงานอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะการที่องค์กรละเลยความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของพนักงาน อาจจะเป็นเหตุเริ่มต้นให้เกิดการกีดกันแผนการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลได้ องค์กรจะต้องปฏิรูปโครงสร้างการทำงานที่ปฏิบัติอยู่เดิมใหม่ โดยร่วมกับพนักงานในการกำหนดรายละเอียดภาระงานของแต่ละงานให้มีความเชื่อมโยงทักษะการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาพนักงานให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีคุณภาพ

ปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกองค์กร ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในองค์กรมักจะเป็นปัจจัยที่องค์กรสามารถควบคุมได้ เช่น พนักงานภายในองค์กรขาดความรู้และความสามารถทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

หรือองค์กรขาดวัฒนธรรมในการทำงานที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือกระบวนการอยู่ตลอดเวลาและขาดความตั้งใจจริงในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอกองค์กรนั้นมักจะเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมขององค์กร เช่น การมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรม ความพร้อมทางด้านการศึกษาของประชาชน ความรู้ความสามารถของแรงงานด้านดิจิทัล แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าองค์กรมีความตั้งใจจริงในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล องค์กรควรจะเริ่มปฏิรูปจากปัจจัยภายในก่อน โดยการให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและปฏิรูปองค์กรร่วมกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง และต้องเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการแบบดิจิทัล

องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงการแพร่หลายการใช้ข้อมูลให้กับพนักงานทุกระดับโดยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลให้กับพนักงานเพื่อความจำเป็นในการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจและช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน เมื่อพนักงานเริ่มรู้สึกถึงความไว้ใจที่องค์กรมีต่อพนักงาน และรู้สึกใกล้ชิดกับข้อมูลที่มีความสำคัญขององค์กรก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม การปรับตัว และตื่นตัวในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรเพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา

องค์กรต้องสร้างเพื่อนร่วมงานแบบดิจิทัลที่ชาญฉลาดเพื่อทำงานร่วมกันกับพนักงานโดยการสร้างระบบสนับสนุนความฉลาดขององค์กร (Smart Support System) ระบบสนับสนุนความฉลาดขององค์กรจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถรวบรวมทรัพยากรข้อมูลที่มีคุณค่าอยู่กระจัดกระจายอยู่อย่างกว้างขวางมหาศาลทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรมาสังเคราะห์เชิงลึกตามบริบทของความรู้ที่ต้องการเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

 

 

ซึ่งการที่องค์กรมีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ชาญฉลาดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในการตอบสนองการบริหารงานประจำและการตอบสนองการบริการลูกค้าได้ตรงตามความต้องการเพิ่มมากยิ่งขึ้น

องค์กรต้องสร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานร่วมกันของพนักงานอย่างกว้างขวาง เพราะในช่วงของการเริ่มต้นปฏิรูปองค์กรนั้น ขอบเขตการทำงานขององค์กรจะดูมืดมัว รวมถึงแพลตฟอร์มของรูปแบบการดำเนินงานทางธุรกิจ

การขาดความเข้าใจของการสนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัลที่หลากหลาย และการปฏิรูปกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจใหม่แทนกระบวนการทำงานแบบเดิม เป็นเรื่องที่ไม่สามารถรับผิดชอบเพียงคนหนึ่งคนใดได้

หากแต่ว่าต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของพนักงานทั่วทั้งองค์กร การหาพันธมิตรและความร่วมมือกับทั้งภายในและภายนอกองค์กรจึงถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา พนักงานจะทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับพนักงานจากบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรกัน

บางองค์กรอาจมีความร่วมมือภายในและระหว่างทีมงานของพนักงานที่กระจายอยู่ตามภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ องค์กรจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันโดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

องค์กรจะต้องสร้างเครื่องมือพื้นฐานเพื่อใช้ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบดิจิทัล เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงความอุดมสมบูรณ์ของข้อมูลในการบูรณาการการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และตัดสินใจในการดำเนินงานทางธุรกิจให้กับองค์กร

เพราะถ้าข้อมูลขององค์กรไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงานและระบบสารสนเทศต่าง ๆ ที่มี องค์กรก็จะประสบปัญหาที่จะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่จะสามารถสร้างผลประโยชน์และคุณค่าให้กับองค์กร อีกทั้งพนักงานส่วนใหญ่และเกือบทั้งหมดที่องค์กรจะว่าจ้างใหม่ในยุคดิจิทัลนี้ต่างก็มีอุปกรณ์สมาร์ตโฟนพกติดตัวทุกคน

องค์กรต้องวางแผนการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและเปลี่ยนทักษะของพนักงานให้มีความรู้ความสามารถทางด้านดิจิทัลในการดำเนินงาน เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่บทบาทการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยรับผิดชอบโดยแรงงานความรู้

โดยเฉพาะองค์กรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานทางธุรกิจไปสู่ดิจิทัลในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ตามแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” โดยใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและองค์กร เช่น เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) เทคโนโลยีอาหาร (FoodTech) เทคโนโลยีสุขภาพ (HealthTech) เทคโนโลยีการแพทย์ (MediTech) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (RoboTech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีการออกแบบ (DesignTech) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (TravelTech) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing) เป็นต้น

people transform

ทั้งนี้ในส่วนของภาคการศึกษาก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมใช้ตามความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีเพิ่มมากขึ้น สถาบันอุดมศึกษาต้องมีความตื่นตัวในการพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน

พร้อมทั้งงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะทางด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความสามารถทางดิจิทัล และทักษะเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นกำลังช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ในอนาคต

ปัจจัยมนุษย์จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลขององค์กร กระบวนการและปัจจัยด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาจะช่วยแนะนำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลขององค์กรให้เป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพเพื่อเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมองค์กรดิจิทัล

ถ้าองค์กรยังลังเลหรือไม่ต้องการที่จะรีบเร่งในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลในช่วงเวลานี้ ค่าใช้จ่ายของความล่าช้าในการเปลี่ยนแปลงองค์กรและการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามเวลาที่หมุนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นภายหลังเพื่อไล่ตามคู่แข่งทางธุรกิจที่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลก่อนที่องค์กรของเราจะคิดตอบสนองได้ ก็อาจจะไม่ทันการแล้ว