5G ไทย

5G ไทย เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลไทยในการเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อคงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนไว้

5G ไทย

 

โดยขณะที่วันนี้การประมูล 5G ยังแวดล้อมไปด้วยอุปสรรคนานาประการ และมีแนวโน้มว่าประเทศที่เพิ่มให้ใบอนุญาต 3G เช่น เมียนมา จะมี 5G ใช้ก่อนประเทศไทย

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปิดประมูล 3G ได้เงินจากกาประมูล 41,625 ล้านบาท ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ลงทุน 3G

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การประมูล 3G ของไทยกลายเป็น Role Model ของโลกในการจัดประมูลคลื่นความถี่ที่ได้เงินมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลายประเทศมาศึกษาต้นแบบการประมูลจากประเทศไทย

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ 4G ประเทศไทยก็มีการเปิดประมูล 4G และ AIS เป็นผู้ที่ประมูลได้ไปในวงเงิน 75,654 ล้านบาท ทุบสถิติการประมูลครั้งแรกอย่างราบคาบ และทำให้ประเทศไทยเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกด้วย ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงที่สุดอีกครั้ง

หลายฝ่ายยังเชื่อว่า เมื่อ 5G มาประเทศไทยจะได้เงินก้อนใหญ่จากโอเปอร์เรเตอร์อีกครั้ง แต่ทีมบรรณาธิการ ELEADER กำลังจะมองต่าง และเชื่อว่า 5G อาจจะเกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เมียนมา ที่เปิดประมูล 3G ก่อนที่ไทยจะประมูล 4G ไม่กี่วันนั้น จะมี 5G ก่อนประเทศไทย

5G กับวิธีคิดแบบไทย ๆ

เหตุผลสำคัญที่ 5G ไทย จะเกิดช้ากว่าเมียนมา มีอยู่หลายเหตุผลด้วยกัน

ประการแรก ประเทศไทยกำลังติดกับดักการประมูล 2 ครั้งที่ผ่านมา

ประเทศไทยได้เงินจากการประมูลไปแล้วกว่า 117,279 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อย และเชื่อว่าการให้บริการคลื่นความถี่ 5G ก็จะต้องมีการนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่ออกมาประมูล ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 2600 MHz, 1800MHz, 850 MHz และ 700 MHz แต่ไม่จะเป็นคลื่นความถี่ใด การเปิดประมูลในครั้งนี้ภาครัฐคงคาดหวังรายได้ต่อ MHz ที่ไม่ต่ำกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยจาก เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการรกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ระบุว่า ภาครัฐหวังรายได้จากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 4 ช่วงที่ 400,000 ล้านบาท โดยการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่นั้น กสทช. จะใช้รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ในสองครั้งแรกเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาเริ่มต้น

ประการที่สอง ผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารกำลังถูก Disrupt

ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ไม่ได้มีโมเดลธุรกิจที่หอมหวานเหมือนในอดีต หากดูผลประกอบการของทั้ง 3 บริษัท AIS, DTAC, TRUE ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผลประกอบการที่ทรงตัวในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิ นั่นสะท้อนถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่

ขณะที่ผู้บริโภคคาดหวังโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ความเร็วที่สูงขึ้น แต่มีแนวโน้มว่าจะจ่ายค่าบริการลดลง นั่นจึงเป็นความท้าทายต่อผู้ให้บริการอย่างมาก

ประการที่สาม คลื่นความถี่ทั้ง 4 คลื่น เป็นคลื่นที่มีเจ้าของและต้องขอคืนก่อนจะเปิดประมูล

คลื่น 2600 MHz อยู่ในมือขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ขณะที่คลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ DTAC ได้รับสัมปทานจาก กสท โทรคมนาคม ที่จะหมดสัญญาลงในปี 2561 คลื่น 850 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ TRUE ได้รับสัมปทานและจะหมดในปี 2561 เช่นกัน และความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ใช้ในการออกอากาศสัญญาณโทรทัศน์อยู่ เช่นกัน การรวบรวมคลื่นดังกล่าวเพื่อจัดประมูลจึงต้องใช้เวลาและความสามารถ

เบื้องต้น การเจรจาคลื่นความถี่ 2600 MHz ระหว่าง กสทช. กับ อ.ส.ม.ท. นั้นได้ข้อสรุปว่า อ.ส.ม.ท. จะคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่มีขนาดความกว้าง 190 MHz ให้กับ อ.ส.ม.ท. 80 MHz โดยกำหนดให้ กสทช. จ่ายค่าเยียวยาบางส่วนให้กับ อ.ส.ม.ท. ส่วนที่เหลือจะใช้ในการให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวีเช่นเดิม

ขณะที่คลื่นความถี่ 700 MHz นั้น ปัจจุบันยังใช้เพื่อให้บริการออกอากาศสัญญาณโทรทัศน์หรือบรอดคาสติ้ง แต่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เป็นคลื่นโทรคมนาคม แต่ประเทศไทยยังใช้เพื่อการออกอากาศโทรทัศน์อยู่ ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะหมดลงในปี 2563 จากนั้นจะมีการประกาศให้คลื่นความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นโทรคมนาคมและนำมาเปิดประมูล

จากความท้าทายทั้ง 3 ด้าน เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ กสทช. จะได้คลื่นความถี่มาใช้ในการให้บริการ 5G  หรือถ้านำคลื่นความถี่มาใช้ได้ ก็จะเกิดปัญหาตามมาว่า ผู้ประกอบการรายใดจะยอมประมูลคลื่นความถี่ในราคาที่สูงกว่าเดิม ขณะที่ผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย ยังมีมาร์จิ้นที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง